เจ้าของสมาร์ทโฟนระวัง ถูกดูดเงินไม่รู้ตัว

เจ้าของสมาร์ทโฟนระวัง ถูกดูดเงินไม่รู้ตัว


"ลุคเอาท์" บริษัทด้านความปลอดภัยในระบบโทรศัพท์มือถือ ออกมาเตือนบรรดาเจ้าของโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนทั่วไปว่า ระวังจะตกเป็นเหยื่อของคนร้ายที่พุ่งเป้าปล่อยมัลแวร์ ที่จะทำหน้าที่ดูดเงินจากเหยื่อโดยเฉพาะเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ไวรัสมือถือในรูปแบบต่างๆ ที่ทำหน้าที่เดียวกันนั่นคือ ลอบดูดเงินจากผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างพรวดพราด จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ของมัลแวร์ทั้งหมด กลายเป็น 62 เปอร์เซ็นต์แล้วในเวลานี้

เควิน มาฮาฟฟีย์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของ "ลุคเอาท์" เชื่อว่า สาเหตุของการเพิ่มอย่างพรวดพราดดังกล่าวนั้น เป็นเพราะอาชญากรที่อยู่เบื้องหลังไวรัสหรือมัลแวร์ต่างๆ ดังกล่าวเริ่มมั่นใจแล้วว่า ไวรัสและมัลแวร์ต่างๆ เหล่านั้นใช้งานได้ผล หลังผ่านช่วงของการทดลองใช้มาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ มาฮาฟฟีย์ชี้ว่า ในช่วง 2-3 เดือนหลังมานี้บรรดาแก๊งอาชญากรไฮเทคเหล่านี้เริ่มยุติการทดลองกรรมวิธีต่างๆ ที่หลากหลาย แล้วหันมาใช้กรรมวิธีที่ได้ผลกันแบบเป็นอุตสาหกรรม ปูพรมเพื่อล่าเหยื่อกันขนานใหญ่ เพื่อให้ได้เงินมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

วิธีการดูดเงินจากโทรศัพท์มือถือโดยไม่ให้เหยื่อรู้ตัวนั้น มีตั้งแต่การเขียนแอพพลิเคชั่นที่ไม่ใช่แอพพลิเคชั่้นเพื่อใช้งานจริง แต่จะกลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาในทันทีที่ติดตั้งลงในโทรศัพท์ หลังจากนั้น ก็จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เจ้าของแอพพ์ดังกล่าวสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) ที่จะมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการคือเหยื่ออีกต่อหนึ่ง โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงิน ซ้ำๆ เป็นระยะๆ

อีกวิธีการหนึ่งเป็นการบังคับให้โทรศัพท์ที่ตกเป็นเหยื่อ ลิงก์เข้าหาเว็บไซต์บางเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกเก็บเงินเป็นค่าการโฆษณาจากเว็บไซต์ดังกล่าว ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือต้องเสียเงินค่าเชื่อมต่อที่ไม่จำเป็นดังกล่าวนั้นไปฟรีๆ เช่นเดียวกันกับแอพพลิเคชั่นหรือไวรัสที่เขียนขึ้นเพื่อบังคับให้โทรศัพท์ของเราเปิดโฆษณาบางอย่างซ้ำๆ เพื่อหาเงินจากการโฆษณา แต่กลายเป็นการใช้งานที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นของเจ้าของโทรศัพท์มือถือ

มาฮาฟฟีย์ระบุว่า เพราะการระดมปูพรมในบางพื้นที่เป็นพิเศษ ทำให้ในช่วงที่มีการเริ่มต้นใช้มัลแวร์ดูดเงินกันขนานใหญ่นั้น มีการระบาดของไวรัสและมัลแวร์เหล่านี้เป็นพิเศษในบางพื้นที่ อย่างเช่นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลุคเอาท์ตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในรัสเซียมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ติดไวรัสและมัลแวร์เหล่านี้ เช่นเดียวกันกับอินเดีย และจีน ซึ่งมีสัดส่วนการติดไวรัสและมัลแวร์สูงมากเช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์ของลุคเอาท์ เชื่อว่า มีผู้เขียนมัลแวร์ และไวรัสเหล่านี้เพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่จะจัดทำเป็นชุดสำเร็จรูป เรียกกันในวงการว่า "ไครม์แวร์ คิท" ขายออนไลน์ให้กับบรรดาแก๊งอาชญากรรมซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีสูง สำหรับนำไปใช้งานหาเงินจากเหยื่อต่อไป

นอกเหนือจากการติดมัลแวร์และไวรัสแล้ว ลุคเอาท์ยังเตือนด้วยว่า อาจมีแอพพลิเคชั่นบางตัวที่จะส่งผลให้โทรศัพท์ของเราทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการกระจายมัลแวร์หรือไวรัส โดยใช้ไวรัสที่เรียกกันว่า "น็อทคอมแพททิเบิล" เป็นตัวจัดการ ผลก็คือเราจะกลายเป็นเครื่องมือบังหน้าทำอาชญากรรมแทนอาชญากรตัวจริงไปนั่นเอง


หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ทีี่ 10 กันยายน 2555

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์