โรคกระดูกพรุนภัยเงียบใกล้ตัว

โรคกระดูกพรุนภัยเงียบใกล้ตัว

หลายโรคที่ทำให้เราเจ็บป่วยเราสามารถรู้สุขภาพได้ล่วงหน้า จากอาการและสัญญาณต่างๆ จึงทำให้รีบรักษาและหายขาดได้ แต่สำหรับ “กระดูกพรุน” คือภัยเงียบอย่างแท้จริงที่รุกคืบคุณมานานปีโดยที่คุณมิอาจรู้ตัวมาก่อน จนวันหนึ่งเกิดกระดูกหักเพียงเพราะสาเหตุเล็กน้อย!

คนเราจะมีการสะสมมวลกระดูกโดยมีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักตลอดการเจริญเติบโตตั้งแต่แรกเกิดจนก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและจะมีมวลกระดูกหนาแน่นสูงสุดเมื่ออายุ 20-30 ปีหลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อยๆ เริ่มลดลง อัตราการสลายของกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างใหม่ ในผู้หญิงมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างกะทันหัน ตามธรรมชาติการสลายและการสร้างกระดูกจะมีฮอร์โมนหลายชนิดเป็นตัวควบคุม รวมทั้งฮอร์โมนนี้ด้วย

อีกทั้งผู้หญิงยังมีมวลกระดูกน้อยกว่าผู้ช่ายถึง 30% ผู้หญิงจึงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ส่วนในผู้ชายมวลกระดูกจะลดลงช้าๆตามวัยที่สูงขึ้นเช่นกัน แต่ไม่เร็วฮวบฮาบเหมือนในผู้หญิงเพราะผู้ชายไม่ได้ขาดฮอร์โมนเพศอย่างกระทันหัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุที่พบโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงมากกว่าผู้ช่ายนั่นเอง

องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาสำคัญประมาณว่าผู้หญิงมากว่า 200 ล้านคนทั่วดลกที่เป็นโรคนี้ ในประเทศไทยพบว่าคนไทยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เป็นโรคนี้ถึง 50% และ 15% ของผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นโรคกระดูกพรุนหรือราวๆ 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ

สาเหตุที่ทำให้ทั้งผู้หญิงและชายเป็นโรคกระดูกพรุน

ความเสื่อมตามวัย กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนเพศที่ลดลง เชื้อชาติซึ่งคนเอเชียมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าชาวตะวันตกและอัฟริกา คนรูปร่างเล็กบาง จะมีโอกาสมากกว่าคนกระดูกใหญ่ตัวโต

การกินดื่มที่ไม่เหมาะสมที่ทำให้สูญเสียแคลเซียมหรือการดูดซึมต่ำลง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การสูบบุหรี่ หรือกินยาบางชนิดที่มีผลต่อกระดูกเป็นประจำ เช่น สเตียรอยด์

การขาดการออกกำลังกาย

ทั้งนี้หลายคนเข้าใจว่าอาการปวดเมื่อยตามตัวเป็นอาการของโรคกระดูกพรุน แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ที่มีกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใดๆ เลย ถ้ากระดูกไม่หัก เพราะการสะสมมวลกระดูกที่ลดลงจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปนานนับสิบๆ ปี กระดูกจึงเริ่มอ่อนแอและบางลงเรื่อยๆ จนพรุน เปราะและมีโอกาสเสี่ยงต่อการหักสูงมาก เพราะไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกในชีวิตประจำวัน โดยกระดูกที่หักส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลังระดับเอว นอกจากนี้จะเห็นว่าคนสูงอายุบางคนหลังโกงค่อมลงเพราะมีการยุบตัวของกระดูกสันหลังด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากเกิดกระดูกหักในคนสูงอายุจะยากต่อการรักษา และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะ กระดูกสะโพกหัก พบว่า 1 ใน 4 จะเสียชีวิตภายในปีแรก และอีก 25% จะทุพพลภาพ ไม่สามารถกลับมาเดินเหินได้เหมือนเดิม ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษากระดูกพรุน มีเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูกไม่ให้เพิ่มขึ้น เช่น กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง การใช้ฮอร์โมนทดแทน การออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกและสร้างกล้ามเนื้อ เช่น การวิ่ง การเดิน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น

ส่วนคนที่อยู่ในวัยรุ่นก็สามารถสร้างพื้นฐานกระดูกแข็งแรงไว้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อให้มีมวลกระดูกที่แข็งแกร่งที่สุด สามารถรับมือกับโรคกระดูกพรุนได้เมื่อก้าวเข้าสู่วัยที่สูงขึ้น

โดยในแต่ละวันเราควรได้รับปริมาณแคลเซียมที่จำเป็นดังนี้

อายุ 11-22 ปี                      1,200 มก.

25 ปี-หมดประจำเดือน          1,000 มก.

ช่วงเริ่มหมดประจำเดือน        1,200 มก.

หลังจากหมดประจำเดือน       1,500 มก.

โดยแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด คือแคลเซียมในอาหาร เช่น นม ปลาทอดกรอบที่กินได้ทั้งตัว กระดูกอ่อน กุ้งแห้ง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น ผักโขมจีน ตำลึง บัวบก ขี้เหล็ก สะเดา ถั่วพู โดยเฉพาะผักตระกูลคะน้า (Brassica) เช่น คะน้า บร็อคโคลี ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี และผักกาดเขียว มีแคลเซียมสูง ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่ายพอๆ กับนม เพราะมีปริมาณ ออกซาเลทต่ำเมื่อเทียบกับพืชตระกูลอื่น พืชบางชนิดมีีแคลเซียมสูงก็จริงแต่ก็มีสารไฟเตท (Phytate) และออกซาเลท (Oxalate) ปริมาณสูงด้วย ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถของร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้ โดยสารเหล่านี้จะจับตัวกับแคลเซียม และขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในอาหาร

อย่างไรก็ตาม การได้รับแคลเซียมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอเพราะแคลเซียมต้องทำงานร่วมกับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น โปรตีน ฟอสฟอรัส สังกะสี ฟลูออไรด์ โดยเฉพาะแมกนีเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกชนิดหนึ่งของกระดูก โดยแมกนีเซียม 60-65% จะอยู่ในกระดูกส่วนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายต้องอาศัยวิตามินดี ดังนั้นถ้าร่างกายขาดวิตามินดีก็จะดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง

เราจึงควรหันมาใส่ใจกับการเลือกอาหารที่มีแคลเซียมสูงตั้งแต่วันนี้ อีกทั้งออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อต่อ การทรงตัวและคงปริมาณมวลกระดูก เช่น การเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน เป็นต้น เพื่อสะสมแคลเซียมไว้ใช้อย่างเพียงพอในวันหน้าอย่ารอจนกว่าจะสายเกินแก้ไข เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนให้ห่างไกล


โรคกระดูกพรุนภัยเงียบใกล้ตัว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์