25 กุมภาพันธ์ ย้อนอดีต เปิดสถานีวิทยุฯ ครั้งแรกในไทย

25 กุมภาพันธ์ ย้อนอดีต เปิดสถานีวิทยุฯ ครั้งแรกในไทย

ในปีพุทธศักราช 2469 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดตั้งกิจการวิทยุขึ้น และได้ตั้งหน่วยงานเป็นกองช่างวิทยุ กองช่างวิทยุของกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ดำเนินการขยายงานด้านวิทยุตลอดมา ประจวบกับในสมัยนั้น พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชร อัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในกิจการวิทยุ ที่เป็นวิวัฒนาการใหม่ของโลกในยุคนั้นเป็นพิเศษ ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ทดลองขนาดเล็กขึ้น ในวังเพื่อการค้นคว้าส่วนพระองค์

         และเมื่อเสด็จกลับจากการดูงาน ด้านการคมนาคมในทวีปยุโรป ในปีพุทธศักราช 2471 ทรงดำริให้ทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง โดยสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียง จากต่างประเทศเข้ามา 1 เครื่อง ขนาด 200 วัตต์ ขนาดคลื่น 36.42 เมตร ซึ่งเป็นคลื่นสั้น ทำการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง ที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการส่งวิทยุกระจายเสียง


         แต่การทดลองไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เพราะกำลังส่งออกอากาศน้อย เจ้าหน้าที่วิทยุ ได้พยายามประกอบเครื่องส่งขึ้นเอง 1 เครื่อง ขนาดกำลังออกอากาศ 1 กิโลวัตต์ ขนาดคลื่น 320 วัตต์ ซึ่งเป็นคลื่นขนาดกลาง ต่อมากองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ย้ายกิจการทดลองวิทยุกระจายเสียง จากตึกกรมไปรษณีย์ ปากคลองโอ่งอ่าง ไปอยู่สถานีวิทยุศาลาแดง


         พุทธศักราช 2472 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงขนาด 2 กิโลวัตต์ครึ่ง ขนาดคลื่น 300 เมตร จากบริษัทฟิลิปราดิโอ ประเทศฮอลันดา เข้ามาหนึ่งเครื่องตั้งสถานีส่ง วิทยุกระจายเสียงที่โฮเต็ลพญาไท หรือวังพญาไท นับเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวร แห่งแรกในประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งนี้ เริ่มโครงการตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2471 โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ทดลองส่งกระจายเสียงวิทยุ และพบว่าใช้คลื่นยาวได้ผล สำหรับหัวเมืองทั่วไปดีกว่าใช้คลื่นสั้น ซึ่งได้ผลดีแต่กับบางจังหวัด และต่างประเทศ และคลื่นยาวยังให้ประโยชน์ต่อผู้ฟังด้วย


         วิทยุเครื่องรับแรกที่มีราคาเยา และใช้กันมากในขณะนั้น เมื่อเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ และคมนาคมเสด็จทวีปยุโรป จึงทรงสั่งซื้อเครื่องวิทยุจากบริษัทฟิลิปราดิโอ ซึ่งใช้ได้ทั้งคลื่นยาวและคลื่นสั้น ตามธรรมดาทำการกระจายเสียง ด้วยคลื่นยาวขนาด 300 เมตร เพื่อประโยชน์สำหรับการรับฟัง เฉพาะภายในประเทศ ส่วนการส่งคลื่นสั้นจะทำเป็นครั้งคราว เมื่อต้องการเผยแพร่การกระจายเสียง ออกไปต่างประเทศ หรือใช้เป็นสถานีโทรศัพท์ติดต่อกับสถานีอื่น ที่อาจตั้งขึ้นในประเทศ และประเทศใกล้เคียง


         สาเหตุที่เลือกตั้งสถานีที่วังพญาไท เพราะปรากฏตามผลการทดลองว่า ถ้าตั้งที่สถานีศาลาแดง รวมกับเครื่องส่งวิทยุโทรเลขแล้ว จะถูกรบกวนจากเครื่องโทรเลข ที่มีอยู่หลายเครื่อง ถ้าจะกำจัดการรบกวน ก็ต้องสร้างห้องส่งเสียงขึ้นใหม่เป็นพิเศษ แต่ถ้าตั้งสถานีที่วังพญาไท จะทุ่นค่าใช้จ่ายในการสร้างห้องส่งเสียง ทั้งยังไม่มีปัญหาการรบกวน ของเครื่องโทรเลขอีกด้วย


         และขณะนั้น สถานที่ตั้งของวังพญาไท นับว่าอยู่นอกเมือง จึงเป็นการตัดปัญหาการรบกวน จากเครื่องไฟฟ้าใหญ่ต่างๆ เช่น รถราง เป็นต้น รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2473 เพื่อควบคุมและคุ้มครองการวิทยุโทรเลข และวิทยุโทรศัพท์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กระทรวงพาณิชย์ และคมนาคมได้จัดให้เปิดสถานีวิทยุที่วังพญาไท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธี ฉัตรมงคล โดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานตอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า ในพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2473 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เป็นปฐมฤกษ์ของวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ความว่า


         "การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่า จะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติ ดังที่ได้ประกาศใช้ เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดี เข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป"

          หลังจากนั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2473 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ สถานีวิทยุกระจายเสียง ทางราชการได้สั่งเลิกการยิงปืนเที่ยงบอกเวลา ซึ่งมีมาตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะการส่งสัญญาณบอกเวลา โดยทางวิทยุกระจายเสียงได้แพร่หลายมากขึ้นแล้ว


โดย : อรุณ เรืองสุวรรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ



ข้อมูลและภาพประกอบจาก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์