ละครสะท้อนอะไร สะท้อนละคร (ไทย) ได้เจ็บจี๊ด

ร้อยทั้งร้อยของคนดู "ละครไทย" เชื่อว่าต้องเคยมีความคิดเหล่านี้

"ปืนในละคร....ยิงจนแก่กระสุนก็ไม่หมด

"ครั้งที่แล้วยิงไม่โดน แต่ถ้าพระเอก...โดนยิงขึ้นมา บางทีก็สงสัยว่านางเอกจะมานั่งเขย่าทำไม ไม่ปฐมพยาบาล ไม่เรียกรถพยาบาล...

"ละครไทยส่วนใหญ่มักจะมีฉากข่มขืนแต่แทบไม่มีฉากที่โจรข่มขืนได้รับโทษซะงั้น เฮ้ๆ ....พวกนายลืมไปแล้วเหรอ..... นี่นั่นมันอาชญากรรมนะเว้ยยย" ฯลฯ

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากแฟนเพจเฟซบุ๊ก "ละครสะท้อนอะไร" ซึ่งหยิบความคิดที่ว่ามาถ่ายทอดเป็นข้อความพร้อมภาพประกอบน่ารักๆ จะมีผู้ติดตามร่วม 3 หมื่นคนทั้งที่ก่อตั้งได้เพียงเดือนนิดๆ

"กระแสตอบรับดีกว่าที่คาดเอาไว้มากเลยค่ะ กลุ่มคนที่เข้ามาไลค์เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า "ละครไทยนี่มันเพี้ยนแฮะ และเกิดความรู้สึกอยากมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน" "อรอุษา เปิงสูง" ผู้ก่อตั้งวัย 21 ปี ที่ทั้งคิดข้อความและวาดภาพเอง บอกถึงผลตอบรับ

ก่อนนักศึกษาภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร คนนี้จะว่า "จริงๆ เพจนี้เริ่มต้นจากโปรเจ็กต์ของมหาวิทยาลัยวิชา Information Graphic Design คือได้โจทย์ให้นำประเด็นของอะไรก็ได้มาทำเป็นสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ด้วยความที่ดูละครมาตั้งแต่เด็กคิดว่าตัวเองน่าจะมีข้อมูลแน่นเลยดึงเรื่อง "ละครไทย" มาทำ"

ละครสะท้อนอะไร สะท้อนละคร (ไทย) ได้เจ็บจี๊ด

พร้อมยอมรับว่า ตอนแรกตั้งใจแค่ล้อเลียนขำๆ เช่น เฉดสีลิปสติกตัวละคร ค่าเฉลี่ยระดับเสียงของนางร้าย กระทั่งได้เก็บข้อมูลจริงจังจึงพบว่าละครไทยมีประเด็นน่าสนใจกว่านั้น

"เพราะนอกจากการแสดงค่านิยมซ้ำๆ ในละครไทยแล้วยังมีการให้ข้อมูลผิดๆ ซึ่งสามารถก่อปัญหาขึ้นมาในภายหลังอีกมากมาย เลยตั้งใจทำเพจเพื่อแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมในละครที่มันผิดจากความจริง และที่ถูกต้องควรทำอย่างไรเพื่อให้เป็นความรู้ต่อไป"

โดยแต่ละประเด็นที่เลือกนำเสนอ "จะมาจากความสะดุดใจ มักจะเป็นฉากที่เกิดขึ้นบ่อยในละครไทย แต่ไม่ถูกเสนอในมุมมองอื่น หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความรู้ใหม่ๆ ในปัจจุบัน

ละครสะท้อนอะไร สะท้อนละคร (ไทย) ได้เจ็บจี๊ด

"อย่างฉากข่มขืน ในละครจะเห็นว่านางเอกหรือนางร้ายที่ถูกข่มขืนจะไม่ทำอะไรนอกจากร้องไห้ สุดท้ายก็ท้องและแต่งงานกับคนที่ข่มขืนตัวเอง แต่ถ้าวันหนึ่งละครสะท้อนมุมมองของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้ เพื่อบอกเป็นนัยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง และบอกได้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นจะทำอะไรได้บ้าง น่าจะเป็นการดีกว่า"

ทว่าที่ยังไม่ไปถึงขั้นนั้นอาจเพราะปัญหาเหล่านี้มาจากหลายองค์ประกอบรวมกัน ที่สำคัญยังมี "การตลาด" เข้ามาเกี่ยวข้อง

"คนทำละครส่วนใหญ่ก็ทำละครแบบปลอดภัยไว้ก่อน บทไหนฉากไหนที่ "เชื่อ" ว่าคนจะชอบก็ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก คนเขียนบทบางทีก็เป็นสาเหตุ ด้วยความที่เราอ่านทั้งนิยาย ดูทั้งละครจะรู้สึกว่ามีบางเรื่องที่อ่านนิยายแล้วสนุก และพอเป็นละครกลับเพิ่มบทอะไรก็ไม่รู้ที่ "เชื่อ" ว่าคนดูจะชอบขึ้นมา

"อย่างเคสนางร้าย จะเห็นว่านิยายเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยนิยมนางร้ายไร้สมองโผล่มากรี๊ดๆ ดึงผู้ชายไปมา แต่พอเป็นละครกลับแถมมาให้ซะอย่างนั้น ถามว่าคนดูมีผลไหมก็มีค่ะ เพราะยังไงผู้จัดก็ต้องพยายามทำละครเพื่อตอบสนองผู้ดู อะไรที่ผู้ดูแสดงออกว่าชอบ ละครสไตล์นั้นก็จะมีมากเป็นพิเศษ"

เช่นเดียวสิ่งที่ผู้ชมไม่ชอบ หลังๆ ก็พอจางหายไปบ้าง เช่น การแต่งหน้าจัดเต็มของนักแสดงหญิงในฉากเข้านอนหรือยามตื่น

"รู้สึกว่าละครไทยก็เป็นรูปแบบของการตลาดอย่างหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อสนองกลุ่มลูกค้า ทุกครั้งที่มีการพูดคุยมากๆ ขึ้น ละครไทยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เลยอยากสร้างเพจเพื่อจุดประเด็นให้เกิดการพูดคุย เชื่อว่าวันหนึ่งเสียงมันจะดังไปถึงผู้จัด"

ดังนั้นเป้าหมายนอกจากต้องการให้ความรู้ใหม่ๆ กับคนที่ติดตาม โดยไม่รู้สึกเหมือนเป็นหนังสือเรียนยัดเยียดเนื้อหาให้

เธอว่า "คาดหวังลึกๆ คือ ต้องการให้เกิดการพูดคุยมากๆ เพื่อที่ละครจะเริ่มมีการเปลี่ยน"

"เปลี่ยนเพื่อวันข้างหน้าจะได้รู้สักทีว่าจริงๆ แล้ว "ละครไทยต้องการสะท้อนอะไรกันแน่"

ละครสะท้อนอะไร สะท้อนละคร (ไทย) ได้เจ็บจี๊ด

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์