Zee-town อาณาจักรใหม่ เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก


รู้จัก "Zee-town" โปรเจกต์ยักษ์ของเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ที่เตรียมขยายสำนักงานใหญ่ให้เป็นเมืองขนาดย่อม

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก อาจเป็นผู้ชายที่แต่งตัวซ้ำซากจนน่าเบื่อ แต่หากดูกันแค่ฉลากเราจะพลาดอะไรหลายอย่างที่น่าพิศวงเกี่ยวกับเขาคนนี้ และแม้ว่าเราจะนำเสนอเรื่องราวของเขา หรือคนใกล้ชิดของเขาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊คจะมีเรื่องใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์เราอยู่เสมอ

ล่าสุด ซักเคอร์เบิร์ก มีโครงการใหม่ยิ่งใหญ่และไม่เหมือนใคร นั่นคือการสร้างส่วนขยายสำนักงานใหญ่ในพื้นที่ 200 เอเคอร์ ของนครซานฟรานซิสโก

หากเป็นส่วนขยายของออฟฟิศธรรมดาๆ คงไม่ใช้พื้นที่ถึง 200 เอเคอร์เป็นแน่ เพราะจริงๆ แล้วส่วนขยายใหม่แห่งนี้ จะมีสถานะเทียบได้กับเมืองขนาดย่อม แวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนของพนักงานเฟซบุ๊คทั้ง 10,000 คน พร้อมห้างสรรพสินค้า โรงแรม ส่วนบ้านเรือนก็มีหลายระดับ ตั้งแต่หอพักสำหรับพนักงานฝึกหัด จนถึงคฤหาสน์หรูหราอลังการสำหรับผู้บริหาร

ซักเคอร์เบิร์ก ตั้งชื่อเมืองใหม่แห่งนี้แล้วว่า Zee-town ตามอักษร Z (ซี หรือเซ็ด) ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของนามสกุลเขานั่นเอง

อีกหนึ่งความพิเศษของเมืองนี้ ก็คือ ได้รับการออกแบบและวางผังโดย แฟรงค์ เกห์รี สถาปนิกมือทองระดับโลก ผู้ออกแบบอาคารงดงามล้ำยุคมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์ กักเกนไฮม์ ที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ซึ่งมีรูปลักษณะโดดเด่นสะดุดตา จนกลายเป็นหลักไมล์สำคัญของศิลปกรรมร่วมสมัย

วันนี้ เกห์รี อายุถึง 85 ปีแล้ว แต่ยังยอมรับงานของพี่มาร์ก แสดงว่า “ใจถึง” ทั้งคู่จริงๆ

ซึ่ง ปู่แฟรงค์ เองก็ไฟแรงสุดๆ เช่นกัน กระทั่งว่าไอเดียออกแบบหลุดโลกเอามากๆ จนเฟซบุ๊คต้องขอให้ลดดีกรีความหวือหวาลงสักเล็กน้อย

เมื่อเร็วๆ นี้ เฟซบุ๊คเพิ่งจะทุ่มเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาด 55 เอเคอร์ ติดกับสำนักงานใหญ่ แต่เมืองซีทาวน์จะไม่ใช่แค่เมืองที่น่าเบื่อหน่ายซึ่งถูกขนาบด้วยนิคมอุตสาหกรรม ตรงกันข้าม ที่นี่จะมีทิวแถวต้นโอ๊กปลูกไว้บนหลังคาอาคารความสูง 40 ฟุต เพื่อทำให้สถานที่แห่งนี้ดูเหมือนเนินเขาสีเขียวชอุ่มเมื่อมองจากไกลๆ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเจ้าของซีทาวน์จะลืมนึกถึงการขนส่งในพื้นที่ไป เพราะพนักงานจะยังคงต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางไปออฟฟิศ ซึ่งสวนทางกับหลักการรักษ์โลกของเมืองนี้โดยสิ้นเชิง

“พี่มาร์ก” ไม่ใช่มหาเศรษฐีคนแรกที่ทุ่มเงินสร้างเมืองของตัวเอง เพราะนับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีทรอยต์ ก็มีการสร้างเมืองเพื่อรองรับพนักงาน แม้แต่ บริษัท แคดบิวรี เจ้าของช็อกโกแลตแคดบิวรี ก็สร้างเมืองบอร์นวิลล์ เพื่อรองรับนิคมบริษัท โดยตั้งชื่อเมืองตามผลิตภัณฑ์

จนกระทั่งในยุคดิจิทัล หลายบริษัทพยายามสร้างบรรยากาศในออฟฟิศให้เหมือนบ้านหลังที่สอง เหตุผลหนึ่งนั้นก็เพื่อให้พนักงานรู้สึกอบอุ่นเหมือนทำงานในบ้าน แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกกดดัน จนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง


Zee-town อาณาจักรใหม่ เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก


ที่มา :: posttoday


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์