กว่าจะเป็น′อาจารย์ใหญ่′ หลวงพ่อคูณ -′ต้นแบบ′

การบริจาคสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ และทำลายความเชื่อเดิมๆ หลายประเด็นด้วยกัน

ในอดีต ที่ยึดมั่นในการปฏิบัติตามประเพณีเดิมๆ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องชาตินี้ ชาติหน้า ความเชื่อว่าสรีระสังขารของพระปฏิบัติดี ต้องยกย่องให้เป็นสิ่งสูงส่ง ซึ่งเป็นความยึดมั่นถือมั่นอีกแบบหนึ่ง

เมื่อผ่านขั้นตอนฌาปนกิจ จะกลายเป็นพระธาตุ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำไปกราบไหว้บูชากันต่อไป

หลวงพ่อคูณทำให้ความรู้ความเชื่อเรื่องสรีระสังขารเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น กล่าวคือเมื่อละสังขารแล้ว หากทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชนรุ่นหลังได้ก็พึงทำ

ประโยชน์นั้น คือประโยชน์ด้านการศึกษา ที่มีผลต่อมนุษยชาติโดยรวม ซึ่งจะทำได้ต้องละวางความยึดมั่นถึอมั่นในสังขารนั้นให้ได้

ทำให้หลวงพ่อคูณกลายเป็นอาจารย์ใหญ่ของคณะแพทย์ ทำให้ผู้คนหันมาทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร

ผลที่ตามมาคือกระแสอนุโมทนาสาธุต่อจิตเจตนาของหลวงพ่อคูณ และเกิดกระแสก้าวตามรอยพระเกจิแห่งด่านขุนทด ด้วยการการบริจาคร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หลังจากที่ผ่านมาหลายคนคิดว่าการบริจาคร่างกายจะทำให้ในชาติหน้าจะกลายเป็นคนพิการจากการบริจาคในชาตินี้

ส่งผลให้มีผู้มายื่นความประสงค์บริจาคร่างกาย ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ถึงวันละ 300 ราย จากปกติเฉลี่ยวันละ 50 ราย

หลายคนสงสัยว่าการบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่นั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ หัวหน้าศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงกระบวนการในการดูแลร่างของผู้บริจาคร่างกายว่า เมื่อญาติของผู้ที่บริจาคร่างกายแจ้งว่าผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะสอบถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทางนิติเวช เพราะหากมีคดีความก็ต้องมีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พิสูจน์หรือดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน

จากนั้นหากญาติไม่ติดใจในการเสียชีวิตก็จะรับเข้ามาเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ทั้งนี้ ข้อยกเว้นในการไม่รับเข้าเป็นอาจารย์ใหญ่มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.เสียชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรงจนร่างกายแหลกเหลว 2.มีการผ่าตัดใหญ่หลายครั้งจนอวัยวะเปลี่ยนแปลง และ 3.มีการติดเชื้อร้ายแรง อาทิ เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบี/ซี วัณโรคขั้นรุนแรง

"ส่วนกรณีติดเชื้ออื่นๆ หรือโรคอื่นๆ สามารถรับได้ และไม่จำกัดอายุของผู้บริจาค เมื่อรับร่างของผู้บริจาคเข้ามาแล้วก็จะลงทะเบียนโดยอ้างอิงกับทะเบียนราษฎร์ เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาด ตัดผม ทายาฆ่าเชื้อ เจาะเลือดเพื่อกรองไวรัส จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพ โดยการเปิดหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ แขน คอ เพื่อสอดสายเดินน้ำยารักษาสภาพให้ทั่วร่าง จะมี 2 แบบ คือ การใช้ฟอร์มาลินในการรักษาสภาพ และการใช้น้ำยาอื่นเพื่อรักษาสภาพให้ร่างกายอ่อนนุ่มขึ้น เพื่อศึกษาด้านหัตถการหรือการใช้วิธีผ่าตัด

การใช้น้ำยาทั้งสองแบบนั้นคิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 3 เนื่องจากจำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ที่นำไปศึกษาในสภาพร่างนุ่มใช้จำนวนมากกว่า จากนั้นจะทำความสะอาดอีกครั้ง เก็บใส่ถุงเก็บร่างเพื่อความเรียบร้อย คลุมใบหน้า มือ เท้า เพื่อไม่ให้ดูแห้งเกินไป จากนั้นก็จะนำไปเข้าห้องรักษาสภาพ มีการควบคุมอุณหภูมิ รักษาระดับความชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา เป็นสิ่งที่จะทำให้ร่างเสียหายโดยที่ไม่สามารถนำมาศึกษาได้" รศ.นพ.ธันวากล่าว

ทั้งนี้ จะเก็บร่างอาจารย์ใหญ่ (ผู้อุทิศ) ไว้เมื่อครบจำนวน หรือเมื่อถึงเวลาก็จะนำร่างขึ้นให้นักศึกษาแพทย์ศึกษา

ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีร่างอาจารย์ใหญ่ปีละประมาณ 70 ร่าง และใช้อาจารย์ใหญ่ในลักษณะร่างนุ่มจำนวน 200 ร่าง จะศึกษาในทุกส่วน มีเวลาประมาณ 2 ปี เช่น การเย็บแผล เนื่องจากร่างนุ่มจะมีลักษณะเหมือนคนไข้จริงๆ จะช่วยในเรื่องทักษะของแพทย์ได้มาก และเมื่อศึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะมีการพระราชทานเพลิง

สำหรับการบริจาคร่างกายนั้น จะพบว่าในแต่ละปีมีผู้บริจาคประมาณ 18,000 คน และรับร่างเข้ามาประมาณปีละ 280 ร่าง เพื่อนำมาใช้ในการศึกษา

ปัจจุบันความเชื่อในเรื่องการบริจาคร่างกาย หลายคนไม่กล้าบริจาค ก็เริ่มลดลง ทำให้มีจำนวนผู้บริจาคเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่ผู้อุทิศตนนั้น ถือมีประสิทธิภาพเพิ่มพูนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาแพทย์ หากมีสถานที่ให้แพทย์ได้เรียนรู้กับผู้อุทิศอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ไทยมีแพทย์ที่มีความสามารถ

ผศ.พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การบริจาคร่างกายมีหลายแบบ บางคนบริจาคเป็นอวัยวะ หัวใจ ดวงตา กระดูก หรืออาจบริจาคเป็นร่างกาย การนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริจาค หากร่างกายมีความสมบูรณ์และผู้อุทิศบริจาคทั้งร่างกาย ทางการแพทย์ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ โดยขั้นตอนก็ต้องมีการดองศพเพื่อคงสภาพ วิธีจะมีตั้งแต่การแช่ฟอร์มาลิน แต่วิธีนี้จะทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมาก ปัจจุบันจึงมีวิธีใหม่ในการแช่ศพแบบนิ่ม คือมีร่างกายเหมือนมีชีวิตนั่นเอง

บางคนสงสัยว่ากรณีผู้ป่วยมะเร็งสามารถบริจาคร่างกายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือไม่ ผศ.พล.อ.ต.นพ.วิชาญกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้วและเสียชีวิต แต่ได้ทำหนังสืออนุญาตให้แพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อศึกษากลุ่มโรคที่ป่วยได้ กรณีนี้จะไม่ต้องดองศพเป็นปีๆ เพราะอาจเป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อศึกษาทางพยาธิวิทยา จะแตกต่างจากการบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่

เกิดคำถามว่าการดองศพแบบนุ่มมีสภาพร่างกายเหมือนมีชีวิตเป็นอย่างไรเพราะเดิมทีการฝึกผ่าตัดหรือการทำหัตถการทางการแพทย์นั้น แพทย์จะต้องผ่านการฝึกอบรมการผ่าตัด ทั้งการอบรมผ่านหุ่นจำลองและการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ มาจากผู้ที่มีจิตกุศลอุทิศร่างกายให้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จากเดิมการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่จะต้องมีการแช่ฟอร์มาลิน ทำให้สภาพร่างกายไม่เหมือนร่างกายคนจริงๆ มีสภาพแข็งและมีกลิ่นค่อนข้างแรง แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาการทำหัตถการแบบใหม่ที่เรียกว่า อาจารย์ใหญ่แบบนิ่ม โดยไม่มีการแช่ด้วยฟอร์มาลินเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม แต่จะมีการใช้สารเคมีบางชนิด สามารถทำให้สภาพร่างกายของผู้บริจาคมีสภาพเหมือนคนนอนหลับปกติ ผิวเนื้อนิ่มคล้ายผู้ป่วยจริงๆ ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์หลายแห่งมีวิธีนี้หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม สภากาชาดไทยกำหนดข้อควรทราบสำหรับผู้มีความประสงค์บริจาคร่างกาย อาทิ ต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป กรณีที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร

และเนื่องจากการเตรียมศพเพื่อการศึกษาต้องผ่านการกระบวนการเตรียมอย่างเหมาะสม โรงพยาบาลจึงไม่สามารถรับศพผู้อุทิศร่างกายดังนี้ คือ ผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมเกิน 20 ชั่วโมง ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล ผู้อุทิศร่างกายผ่านการผ่าตัดใหญ่ ทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญ ยกเว้น ดวงตา ผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรมจากโรคมะเร็งที่ลุกลามบริเวณศีรษะ สมอง ช่องอก ช่องท้อง หรือติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค และพิษสุนัขบ้า ผู้อุทิศร่างกายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีคดีเกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การบริจาคนั้นสามารถยื่นความประสงค์ได้ที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถเดินทางมาแจ้งเจตจำนงโดยตรงได้ที่ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวันและเวลาราชการ หรือโทรสอบถามรายเอียดได้ที่ 08-3829-9917 ตลอด 24 ชั่วโมง

หรือจะบริจาคยังโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ปัจจุบันมีศูนย์ฝึกอบรมทักษะหัตถการทางการแพทย์ศิริราช (Siriraj Training and Education Center for Clinical Skills: SiTEC) เปิดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ได้ฝึกหัดด้านนี้ด้วยเช่นกัน

และนี่คือคุณูปการจากการตัดสินใจของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2558

กว่าจะเป็น′อาจารย์ใหญ่′ หลวงพ่อคูณ -′ต้นแบบ′

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์