คดีพระยอดเมืองขวาง ร.ศ.112

คดีพระยอดเมืองขวาง ร.ศ.112


            ในปาฐกถาของ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่ราชนาวิกสภา วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๒ นั้นมีข้อความเป็นที่สะดุดใจอยู่ตอนหนึ่ง คือที่ทรงเล่าว่า เมื่อตกลงกันกับอังกฤษว่าเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้ง ๔ เต็มใจจะให้อังกฤษปกครองโดยราชทูตอังกฤษถือจดหมายของผู้ครองนครทั้ง ๔ รัฐ ที่มีถึงรัฐบาลอังกฤษมาแจ้งแก่เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศแห่งพระราชอาณาจักร สยามแล้ว ก็มีการสำรวจเขตแดนที่มีชายแดนติดต่อกันอยู่นั้น เพื่อกำหนดเขตแดนให้เรียบร้อย

"เมื่อตกลงกันแล้ว เขาก็เรียกให้เราออกไปสำรวจเขตแดนซึ่งทางเขาขีดเส้นมาตามที่มีราษฎรพูดภาษา มลายูอยู่ รวมทั้งปัตตานี นราธิวาส ตากใบ และยะลา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย ทรงพิศูนน์ตามทางพงศาวดารว่า-คนที่อยู่ใน ๔ เมืองนี้เป็นไทย รากวัดของไทยก็ยังมีอยู่ ที่เรียกคนในท้องที่นี้ว่า พวกสามสามนั้น ก็คือ สยามอิสลาม เมื่อพูดเร็วๆก็เป็น สามสาม ไป พวกนี้ยังพูดไทยได้ทั้งนั้น เป็นแต่เมื่ออยู่ในแดนมลายูใกล้ชิดกันก็เลยเป็นอิสลามไป อังกฤษก็ยอมตามเหตุผล เราจึงคงได้ ๔ เมืองนี้ไว้ในพระราชอาณาจักรสยาม"

ทีนี้ขอเล่า
เรื่องอันเกี่ยวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จไปทรงฉายพระบรมรูปคู่กันกับสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัส ดังไปทั่วโลก คราวนั้นคือ ครั้นเมื่อเสด็จฯกลับมาแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็ขอมายังรัฐบาลสยามให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวาง ซึ่งถูกศาล (มีผู้พิพากษาฝรั่งเศส ๓ คน ผู้พิพากษาไทย ๒ คน) ตัดสินให้จำคุกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ (ร.ศ.๑๑๓ หลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒) โดยที่ในการขอให้ปล่อยตัว รัฐบาลฝรั่งเศสมิได้อ้างเหตุผล

พระยอดเมืองขวาง ผู้นี้ คนไทยถือว่า เป็นวีรบุรุษผู้หนึ่ง ในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ถึงสมัยนี้คงจะลืมเลือนกันไปบ้าง ส่วนคนหนุ่มสาวลงมาถึงเด็กทั้งวัยรุ่นและยังไม่รุ่นคงไม่รู้จักเอาเลย เพราะฉะนั้นไหนๆเล่าเรื่องเท้าความไปถึง ร.ศ.๑๑๒ จึงน่าจะเล่าอีกสักครั้งหนึ่ง สำหรับคนรุ่นหลังๆ ซึ่งอาจไม่เคยใส่ใจเลยว่า อันพระราชอาณาจักรสยามบนผืนแผ่นดินที่เราอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขไม่เคย เป็นาณานิคมเป็นข้าทาสใครเลยนั้น กว่าจะฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆมาได้นั้น ต้องอาศัยพระปรีชา พระสติปัญญาของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนความสามารถ ความกล้าหาญของขุนนางข้าราชการ ผู้รักชาติรักแผ่นดิน จนกระทั่งทุกผู้ทุกคนในพระราชอาณาจักรนี้ในทุกวันนี้ยืดคอได้อย่างภาคภูมิ ว่า เรา ไม่เคยเป็นข้าใครทั้งนั้น

เล่าถึง พระยอดเมืองขวาง โดยสรุป ท่านผู้นี้ชื่อว่า ขำ ติดมาในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ยอดเพชรเป็น บุตรชายของพระยาไกรเพชร์ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕ ที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เพราะท่านบิดารับราชการอยู่ที่นั่น พระยอดเมืองขวาง (ขำ) จึงรับราชการสังกัดมหาดไทย ได้เลื่อนตำแหน่งโดยลำดับ จนกระทั่งได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยอดเมืองขวาง ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าเมืองคำเกิดคำมวน ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน ถือว่าเป็นพระราชอาณาเขตของสยามติดต่อกับชายแดนเวียดนาม เพราะลาวเป็นประเทศราชของสยามมานานช้า รวมทั้งเขมรด้วย ซึ่งบรรดาประเทศราชเหล่านี้ สยามให้มีเจ้านายปกครองกันเอง แต่ต้องส่งดอกไม้เงินทองปีละครั้งและเมื่อมีศึกเกิดขึ้นกับพระราชอาณาจักร สยาม ประเทศราชต้องช่วยรบ หากเกิดศึกกับประเทศราชสยามก็เข้าช่วยคุ้มครอง

เมืองคำเกิดคำมวนเป็นเมืองแฝด ส่วนมากมักเรียกแต่ว่า คำมวน ถือว่าเป็นพระราชอาณาเขตสยามเพราะเราส่งข้าราชการไปปกครองมาช้านานแล้ว ไม่ได้ให้เจ้าประเทศราชปกครอง ด้วยเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญชิดพรมแดนญวนที่จะพุ่งเข้าสู่นครพนมอาจตัด อีสานตอนบนได้หากถูกรุกล้ำ และราษฎรเมืองคำเกิดคำมวนนั้นเป็นชาว ผู้ไทย แทบทั้งหมด พระยอดเมืองขวาง เวลานั้นอายุ ๔๐ ปี เป็นข้าหลวงคำเกิดคำมวนอยู่ ๘ ปีแล้ว

ครั้นเมื่อฝรั่งเศสได้ญวณเป็นอาณานิคมแล้ว นายปาวี ที่เรียกกันต่อมาว่า ม.ปาวี ได้อ้างว่า เมื่อ ๕ ปี ก่อนโน้น (พ.ศ.๒๔๓๑) เขาได้สำรวจว่าดินแดนตรงนี้เคยเป็นของญวนมาแต่หลายร้อยปีแล้ว ทางฝรั่งเศสที่ปกครองญวนอยู่ จึงยกเข้ามาจะยึดเมืองคำเกิดคำมวน ให้พระยอดเมืองขวางมอบเมืองให้

พระยอดเมืองขวาง ก็ตอบไปว่าตนได้รับแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มาเป็นข้าหลวง อยู่เมืองนี้ เพราะเป็นพระราชอาณาเขตสยาม จะมอบเมืองให้ไม่ได้หากมิใช่พระบรมราชโองการ

ฝรั่งเศสซึ่งมีกองทหารญวนเป็นกำลัง จึงล้อมที่ทำการเอาไว้ จนพากันอดข้าวอดน้ำ แล้วเข้าจับตัวพระยอดเมืองขวางกับข้าราชการทั้งปวง และยึดทรัพย์สมบัติไว้หมดทหารฝรั่งเศสที่เป็นผู้คุมตัวพระยอดเมืองขวาง และพรรคพวกนั้น ชื่อนายโกรกุธัง เมื่อจับพระยอดเมืองขวางมาถึงปลายด่านเมืองคำมวน นายโกรกุรังให้คุมตัวพระยอดเมืองขวางกับพรรคพวกไว้ที่ด่าน เอาตัวหลวงอนุรักษ์ผู้ช่วยพระยอดเมืองขวางไปขังไว้ที่แก่งเจ๊กที่พักของตน อันมีทหารฝรั่งเศสกับทหารญวนเป็นกำลัง

ฝ่ายพระยอดเมืองขวางรู้ข่าวว่านายโกรกุรังจะมาจับตนไปด้วย จึงพากันลอบหนีลงเรือมาตามลำแม่น้ำโขง ถึงเวียงกระแส พบกับทหารไทยประมาณ ๑๐๐ คน ซึ่งหลวงวิชิตสรสาตร์ ข้าหลวงเมืองลาวพวนส่งมาช่วย มีนายร้อยโททุ้ย และนายร้อยโทแปลก คุมมา จึงพากันมาช่วยหลวงอนุรักษ์ก่อน เมื่อมาถึงก็ขอตัวหลังงอนุรักษ์ จากนายโกรกุรัง โดยพระยอดเมืองขวางและพวกทหารประมาณ ๑๘ คน ยืนอยู่ห่างจากเรือนที่ขังหลวงอนุรักษ์ประมาณ ๘ วา

ขณะนายโกรกุรัง ยืนจับแขนหลวงอนุรักษ์อยู่บนเรือนพัก หลวงอนุรักษ์ก็สะบัดหลุดโดดหนีวิ่งลงมาหาพระยอดเมืองขวาง ก็มีคนยิงปืนลงมาจากบนเรือนโดนทหารไทยตาย ๑ ล้มลงอีกหลายคน นายร้อยโททุ้ย นายร้อยโทแปลกจึงร้องว่า ต้องยิงต่อสู้บ้าง พระยอดเมืองขวางจึงร้องสั่งให้ต่อสู้ ทหารญวนก็พากันเข้าแถวยืนอยู่หน้าเรือนกับหลังเรือนยิงต่อสู้กับทหารไทย

เมื่อสิ้นเสียงปืนแล้ว พระยอดเมืองขวางกับทหารไทยทั้งหมดก็ลงเรือล่องมาถึงเวียงกระแส ปรากฏว่าทหารไทยตาย ๖ คน บาดเจ็บ ๔ คน และขุนวังซึ่งเป็นข้าราชการเมืองคำเกิดคำมวนก็ถูกกระสุนปืนตายด้วย ส่วนทหารญวนตาย ๑๑ คน ฝรั่งเศสเจ็บ ๓ คน

เรื่องนี้ทำให้ฝรั่งเศส ยื่นคำขาดเอากับไทยว่า "เจ้าพนักงานไทย จะต้องเอาต้นคิดให้รบฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำและที่คำมวนนั้นมาชำระ และผู้แทนกรุงฝรั่งเศสผู้หนึ่งจะมานั่งกำกับการชำระอยู่ด้วย และต้องกำกับดูแลการลงโทษแก่คนผิด รัฐบาลฝรั่งเศสจะพิเคราะห์ดูว่า การลงโทษคนเหล่านั้นจะพอหรือไม่ และถ้ามีเหตุอันสมควรแล้ว ก็จะขอให้ศาลซึ่งรวมผู้พิพากษาหลายคนนั่งชำระใหม่อีก และรัฐบาลฝรั่งเศสจะเลือกตั้งผู้พิพากษาเหล่านี้เอง" ในเมื่อเสียงข้างมากเป็นของผู้พิพากษาฝรั่งเศสพระยอดเมืองขวางจึงแพ้คดี ถูกตัดสินจำคุก ๒๐ ปี เมื่อถูกจำนั้น ม.ปาวีได้เข้าไปดูแลให้จองจำครบห้าประการคือใส่ขื่อคามือเท้า อย่างนักโทษอุกฉกรรจ์ และมักเข้าไปดูเสมอ เมื่อเข้าไปดูผู้คุมก็จะจองจำครบ แต่เมื่อไปแล้ว พระยอดเมืองขวางก็จะถูกถอดจากจองจำพระยอดเมืองขวางถูกขังอยู่ในคุกเพียง ๔ ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรป พ.ศ.๒๔๔๐ ก็ได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินบำนาญให้เป็นพิเศษถึงเดือนละ ๕๐๐ บาท แต่ท่านรับพระมหากรุณา อยู่เพียง ๒-๓ ปี ก็ล้มป่วยสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ อายุเพียง ๔๘ ปี


จากคดีพระยอดเมืองขวางนี้ นอกจากความกล้าหาญ ความรักศักดิ์ศรีของพระยอดเมืองขวางแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าจะจดจำถึงคุณธรรม และน้ำใจลูกผู้ชายทั้งของพระยอดเมืองขวาง และทหารหาญอีกสองนาย คือนายร้อยโททุ้ย และนายร้อยโทแปลก ซึ่งขณะที่พระยอดเมืองขวางขึ้นศาลนั้นทนายของพระยอดเมืองขวาง ซักถามว่าในการเกิดยิงกันขึ้นนั้นพระยอดเมืองขวางไม่น่าจะต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นการกระทำของฝ่ายทหาร แต่เมื่อนายทหารทั้งสองขึ้นให้การต่างก็ยืนยันว่าเขาทั้งสองเป็นผู้สั่งให้ ยิง เพราะทหารนั้นอยู่ในบังคับบัญชาของเขา พระยอดเมืองขวางจึงไม่อาจสั่งทหารของเขาได้ เขาจึงต้องเป็นผู้รับผิด แต่พระยอดเมืองขวาง ไม่ยอมให้นายทหารทั้งสอง รับผิด ยอมรับว่าเป็นผู้ผิดเอง เพราะมีอำนาจเท่ากับนายร้อยโททั้งสองในฐานะข้าหลวง นี้เรียกว่าท่านทั้งสามเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมหรือไม่ ในขณะที่คนไร้คุณธรรม มักฉวยเอาแต่ความรับชอบ หลีกลี้หนีความรับผิด ในการที่เรียกรวมกันว่า ความรับผิดชอบ ก็หมายความอยู่แล้วว่า ต้องรับทั้งความชอบ และต้องรับทั้งความผิด (พลาด)




ที่มา
เขตแดนสยามกับชาติตะวันตกเมื่อครั้งอตีตกาล
โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
สกุลไทย ฉบับที่ 2754 ปีที่ 53 ประจำวัน อังคาร ที่ 31 กรกฎาคม 2550

panyathai.or.th และ variety.thaiza


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์