คนไทยก๊งคนละ7.1ลิตร/ปี ศวส.ชี้ผลจากโหมโฆษณา


คนไทยก๊งคนละ7.1ลิตร/ปี ศวส.ชี้ผลจากโหมโฆษณา

ศูนย์วิจัยปัญหาสุราเปิดเผยสถานการณ์บริโภคเครื่องดื่ม "แอลกอฮอล์" ปี 2556 คนไทย "ดื่ม-นำเข้า-ขาย" เพิ่มขึ้น ชี้เหนือ-อีสาน แชมป์ก๊งมากที่สุด 

เมื่อ วันที่ 26 มีนาคม นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงเปิดรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบในประเทศ ไทย พ.ศ.2556 

และรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด พ.ศ.2554 ว่า ปี 2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มแอลกอฮอล์ 7.1 ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี หรือเท่ากับสุรากลั่นประมาณ 18 กลม เบียร์ 61 ขวดใหญ่ และไวน์ 1 ขวดรวมกัน นอกจากนี้ ข้อมูลกรมสรรพสามิตชี้ว่า ปริมาณนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โดยปี 2542 นำเข้า 24 ล้านลิตร แต่ในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 42 ล้านลิตร เฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ทั้งนี้ ยังพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นกว่า 120,000 ร้าน ทำให้การเข้าถึงการบริโภคได้ง่าย หากพิจารณาสัดส่วนประชากรพบว่า ผู้ชายโดยเฉพาะผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ มีอัตราการดื่มลดลง และพบว่าผลจากมาตรการและการรณรงค์สามารถทำให้คนที่เคยดื่มและเลิกดื่มได้ถึง 4.6 ล้านคน

นพ.ทักษพลกล่าวว่า ขณะเดียวกัน พบว่าผู้หญิงและกลุ่มวัยรุ่นมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี และยังพบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายต่ำที่สุดมีค่าใช้จ่ายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์มากที่สุด ขณะที่ครัวเรือนที่รายได้ดีกว่ามีการจ่ายในสัดส่วนที่ลดลง เมื่อสำรวจผลกระทบทางสังคม ยังพบว่าประชาชนพบเห็นปัญหาจากการดื่มเป็นเรื่องปกติ โดย 3 ใน 4 เคยเห็นเหตุทะเลาะวิวาทเพราะดื่ม และประมาณ 1 ใน 3 เคยพบเห็นการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเพราะดื่ม

"อัตราการดื่มที่ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำการตลาดอย่างหนักของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เปลี่ยนจากโฆษณาทางทีวี วิทยุ ไปโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก และทำโฆษณา ณ จุดขาย และแม้ว่าจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลง แต่ระดับความรุนแรงของคดีอุบัติเหตุมีเพิ่มขึ้น เมื่อดูจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัสในปี 2554 ยังพบว่าสุราเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของคดีอุบัติเหตุ โดยช่วงเทศกาลจะเพิ่มเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบว่าร้อยละ 70 ของอุบัติเหตุที่เกิดในช่วงเทศกาล มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากกว่าที่กฎหมายกำหนด" นพ.ทักษพลกล่าว 

ด้าน นายสุรศักดิ์ ไชยสงค์ รองผู้อำนวยการ ศวส. กล่าวว่า ปี 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าพื้นที่ที่มีอัตราการดื่มต่ำที่สุด คือ ภาคใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราการดื่มสูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อแยกเป็นกลุ่มวัยรุ่น พบว่าภาคที่วัยรุ่นดื่มมากที่สุดคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ขอบคุณ::ประชาชาติธุรกิจ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์