ทองเนื้อเก้า ทองแท้บริสุทธิ์


ละคร "ทองเนื้อเก้า" ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในเวลานี้ คนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่รู้จักความหมายของชื่อละคร"ทองเนื้อเก้า"ว่ามีความหมายอย่างไร





ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

ทองเนื้อเก้า     น. ทองคำบริสุทธิ์ โบราณกำหนดคุณภาพของเนื้อตั้งแต่เนื้อสี่ถึงเนื้อเก้า 
                      โดยตั้งพิกัดราคาตามเนื้อทอง คือ ทองหนัก๑ บาท ราคา ๙ บาท 
                      ทองธรรมชาติ ทองเนื้อแท้ ทองนพคุณ หรือ ทองชมพูนุท ก็เรียก.

ทองเนื้อเก้า ทองแท้บริสุทธิ์


การกำหนดคุณภาพของทองคำ
การกำหนดคุณภาพของทองคำของไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีวิธีการกำหนดคุณสมบัติ ดังนี้

1.ในอดีต
ปรากฎหลักฐานตามประกาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ระบุถึงการกำหนดคุณภาพทองคำ โดยตั้งพิกัดราคา(ทองคำ) ตามประมาณของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ในทองรูปพรรณ เนื้อทองคำดังกล่าวอาจผสมด้วยแร่เงิน หรือทองแดงมากน้อยตามคุณภาพของทองคำ ส่วนการเรียกทองคุณภาพต่าง ๆ นั้น ใช้วิธีการเรียกราคาของทองคำต่อน้ำหนักทองหนึ่งบาทเป็นมาตรฐานในการเรียกชื่อทองคำ โดยเริ่มตั้งแต่ทองเนื้อสี่ขึ้นไปจนถึงทองเนื้อเก้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ทองเนื้อสี่      หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 4 บาท
ทองเนื้อห้า    หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 5 บาท
ทองเนื้อหก    หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 6 บาท (ทองดอกบวบ)
ทองเนื้อเจ็ด   หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 7 บาท
ทองเนื้อแปด  หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 8 บาท
ทองเนื้อเก้า    หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 9 บาท

ทองเนื้อเก้า เป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า “ทองธรรมชาติ” หรือบางที่เรียกว่า “ทองชมพูนุช” เป็นทองที่มีสีเหลืองเข้มออกแดง นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันอีกหลายชื่อ เช่น “ทองเนื้อแท้” “ทองคำเลียง” ซึ่งหมายถึงทองบริสุทธิ์ปราศจากธาตุอื่นเจือปน ซึ่งตรงกับคำในภาษาล้านนาว่า “คำขา” นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกทองคุณภาพต่าง ๆ อีกหลายชื่อ เช่น “ทองปะทาสี” ซึ่งเป็นทองคำเปลวเนื้อบริสุทธิ์ชนิดหนา “ทองดอกบวบ” เป็นทองที่มีเนื้อทองสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกบวบ


2.ในปัจจุบัน
การกำหนดคุณภาพของทองคำยังคงใช้ความบริสุทธิ์ของทองคำในการบ่งบอกคุณภาพของทองคำ โดยการคิดเนื้อทองเป็น “กะรัต” ทองคำบริสุทธิ์ หมายถึง ทองคำที่มีเนื้อทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น หรือเรียกกันว่าทองร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเรียกกันในระบบสากลว่า ทอง 24 กะรัต ทองซึ่งมีเกณฑ์การบ่งบอกคุณภาพของเนื้อทองโดยบ่งบอกความบริสุทธิ์เป็นกะรัตมีชื่อเรียกว่า “ทองเค” ทองคำบริสุทธิ์ไม่มีโลหะหรือสารอื่นเจือปนอยู่เป็นทอง 24 กะรัต หากมีความบริสุทธิ์ของทองคำลดต่ำลงมา ก็แสดงว่ามีโลหะอื่นเจือปนมากขึ้นตามส่วน เช่น ทอง 14 กะรัต หมายถึง ทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์ 14 ส่วน และมีโลหะอื่นเจือปน 10 ส่วน เป็นต้น ทองประเภทนี้บางทีเรียกว่า “ทองนอก” ซึ่งส่วนมากนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับเพชรพลอยต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณี
กะรัต สัญลักษณ์ เปอร์เซ็นต์ เฉดสีที่ได้ นิยมในประเทศ
24 24K 100% ทอง สวิสเซอร์แลนด์
22 22K 91.7% เหลืองทอง อินเดีย
21 21K 84.5% เหลืองทอง กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
18 18K 75% เหลืองขาว อิตาลี,ฝรั่งเศส,ญี่ปุ่น
14 14K 58.3% เหลืองขาว สหรัฐอเมริกา,อเมริกาเหนือ,อังกฤษ
10 10K 41.6% เหลือง สหรัฐอเมริกา ,อเมริกาเหนือ
9 9K 37.5% เหลืองปนเขียว อังกฤษ
8 8K 33.3% เหลืองซีด เยอรมนี

สำหรับประเทศไทยนั้นใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ 96.5 เปอร์เซ็นต์ หากจะเทียบเป็นกะรัตแล้ว จะได้ประมาณ 23.16 K ซึ่งจะได้สีทองที่เหลืองเข้มกำลังดี และมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับการนำมาทำเครื่องประดับ เนื่องจากทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์ มีความอ่อนตัวมาก จึงไม่สามารถนำมาใช้งานได้ จำเป็นต้องผสมโลหะอื่น ๆ ลงไปเพื่อปรับคุณสมบัติทางกายภาพของทองคำให้แข็งขึ้น คงทนต่อการสึกหรอ โลหะที่นิยมนำมาผสมกับทองคำได้แก่ เงิน ทองแดง นิกเกล และสังกะสี ซึ่งอัตราส่วนจะสัมพันธ์ตามความต้องการของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ผู้ผลิตทองรูปพรรณแต่ละรายจะมีสูตรของตนเอง ในการผสมโลหะอื่นเข้ากับทอง บางรายอาจผสมทองแดงเป็นสัดส่วนที่มากหน่อยเพราะต้องการให้สีของทองออกมามีสีอมแดง หรือบางรายอาจชอบให้ทองของตนสีออกเหลืองขาวก็ผสมเงินในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะได้ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน


ทองเนื้อเก้า ทองแท้บริสุทธิ์


ขอบคุณข้อมูลจาก goldtraders.or.th




ประเทศไทยในสมัยโบราณได้รับการขนานนามว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมมาจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนสมัยนั้นที่ให้ความสำคัญกับทองคำ ทั้งนำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งของเจ้านายชั้นสูง และในทางพระพุทธศาสนาก็นำมาใช้ในการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งตัวอาคารสถานที่ หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปก็ตาม

เนื่องจากความผูกพันใกล้ชิดกับทองคำมาช้านาน ทำให้เป็นการยากที่จะระบุเวลาได้ว่าทองคำได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

แต่สิ่งที่บอกได้แน่ชัดว่าในสมัยก่อนนั้นประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของทองคำไม่ด้อยกว่าชาติใด ซึ่งถ้าเทียบเป็นปริมาณทองคำในประเทศนั้นอาจจะเทียบไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านทองคำ อย่างสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นแอฟริกา

แต่ในด้านคุณภาพแล้ว สามารถการันตีได้ว่าทองของประเทศไทยนั้นเป็นทองที่มีเนื้อความบริสุทธิ์ไม่ได้ยิ่งหย่อนจากประเทศยักษ์ใหญ่ในวงการขุดทองเลย ซึ่งทองที่จะกล่าวถึงนั้น ก็คือ ทองเนื้อเก้า หรือทองนพคุณ โดยที่มาของชื่อนี้ก็มาจากการให้ราคาค่างวดนั่นเอง

เนื่องจากว่าทองคำนั้นมีหลายคุณภาพ หลายความบริสุทธิ์ และเพื่อให้ง่ายต่อการแยกประเภททองคำประเภทต่างๆ ก็ใช้การตีราคาเข้ามาช่วยแบ่งนั่นเอง ดังนั้นทองคำของไทยก็สามารถแบ่งได้หลักๆ เป็น ทองเนื้อสี่ ทองเนื้อห้า ทองเนื้อหก ทองเนื้อเจ็ด ทองเนื้อแปด และทองเนื้อเก้า โดยทองเนื้อสี่จะเป็นทองที่คุณภาพด้อยที่สุด ซึ่งหมายถึงทองคำน้ำหนักหนึ่งบาททองคำแต่มีมูลค่าการซื้อขายเพียงสี่บาทเท่านั้น ขณะที่ทองเนื้อเก้ามีมูลค่าถึงเก้าบาทเลยทีเดียว

ทองเนื้อเก้า
ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นทองคำที่มีเนื้อความบริสุทธิ์ใกล้เคียงกับทองคำบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยความบริสุทธิ์ของเนื้อทองนั้นก็วัดจากการที่ตัวเนื้อทองได้มีการผสมของโลหะชนิดอื่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากสีของเนื้อทอง ถ้ามีความบริสุทธิ์มากก็ย่อมจะมีสีเหลืองอร่าม ครั้นแล้วทองเนื้อเก้าของเราก็มีสีเหลืองอร่ามเช่นกัน โดยแหล่งทองเนื้อเก้าที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยนั้นมีแหล่งที่มาจากเมืองหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็คือ บางสะพาน จึงเรียกทองเนื้อเก้านี้ว่า ทองบางสะพาน

ชื่อเสียงของทองบางสะพานได้เป็นที่รู้จักกันมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากการที่เจ้าเมืองได้นำทองคำมาถวายและหลังจากนั้นก็ทรงโปรดให้มีการขุดทองในบริเวณนั้น ซึ่งเชื่อกันว่าเวลาแค่ปีเศษก็สามารถได้ทองคำถึง 90 ชั่ง หรือคิดเป็น 3,600 บาททองคำเลยทีเดียว (ในปัจจุบันราคาทองคำเนื้อเก้าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท

ดังนั้นมูลค่าที่ขุดทองได้นั้นมีค่าสูงถึง 90 ล้านบาทเลยทีเดียว) แต่จากที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่าทองคำได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนาของไทย ครั้นแล้วทองคำที่ขุดได้ในครั้งนั้น จึงได้นำไปหุ้มยอดมณฑป รอยพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งเป็นทองแห่งพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ แต่ในปัจจุบันร่องรอยความเจริญดังกล่าวได้สูญสลายไปตั้งแต่สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จากการที่โจรจีนได้มีการหลอมทองที่หุ้มโบราณสถานดังกล่าวแล้วขโมยไป

นอกจากนั้น ทองเนื้อเก้าจากดินแดนแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบพระเครื่อง เนื่องจากว่าทองดังกล่าวมีแสงทองสุกสกาว และในการขุดทองเนื้อเก้าก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ประกอบกับในปี 2548 ได้เกิดน้ำป่าถล่มที่เมืองบางสะพานและได้พัดพาเศษทองคำที่อยู่ตามผืนแผ่นดินไปตามที่ต่างๆ ในบริเวณนั้นด้วย ยิ่งทำให้ความเชื่อในทองเนื้อเก้าเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณและเป็นที่หมายตาจากนักสะสมของขลังมากมาย

โดยเชื่อกันว่าผู้ที่ครอบครองจะสามารถรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง รวมทั้งสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจได้ด้วย

แม้ว่าในปัจจุบันทองเนื้อเก้าแทบจะไม่สามารถขุดหาได้เหมือนอย่างในสมัยก่อน แต่ด้วยคุณค่าและความงดงามของทองเนื้อเก้าก็ยังเป็นที่กล่าวขานถึงทุกวันนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ทองเนื้อเก้าได้เป็นที่รู้จักอยู่ทุกวันนี้ ก็คือความศรัทธาและความเชื่อของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก วายแอลจี


ทองเนื้อเก้า ทองแท้บริสุทธิ์


สำหรับบทประพันธ์ ทองเนื้อเก้า ผู้ประพันธ์ได้เปรียบ "วันเฉลิม" ลูกชายของลำยองที่เป็นอภิชาตบุตร เสมือนทองเนื้อแท้ นั่นเอง

ทองเนื้อเก้า ทองแท้บริสุทธิ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์