ทำความรู้จัก .. การตรวจปัสสาวะ

ทำความรู้จัก .. การตรวจปัสสาวะ


เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคของทางเดินปัสสาวะ แพทย์จำเป็นต้องตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อให้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจขั้นต้นที่สำคัญในการที่จะวินิจฉัยโรคต่างๆ ของทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคนิ่ว โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคไตอื่นๆ

         การที่จะเก็บปัสสาวะมาให้แพทย์ตรวจมีความสำคัญมาก เพราะการเก็บผิดวิธีก็ทำให้การตรวจผลผิดพลาดไป การเก็บปัสสาวะในทั่วไปควรจะเก็บในตอนเช้า ให้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณปลายท่อปัสสาวะให้สะอาดโดยใช้น้ำสะอาดล้างก่อน แล้วปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อน หลังจากนั้นจะเก็บปัสสาวะตอนกลางไว้ ในภาชนะที่สะอาด เช่น ขวดพลาสติกที่ล้างสะอาด ภาชนะที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ ซึ่งบางครั้งภาชนะนั้นต้องได้รับการฆ่าเชื้อก่อน ส่วนในผู้หญิงควรจะเก็บปัสสาวะในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เพราะถ้าหากมีประจำเดือนอยู่เลือดจากประจำเดือนจะทำให้แปลผลผิดพลาด แพทย์อาจคิดว่าเลือดนั้นอยู่ในปัสสาวะได้

          การตรวจปัสสาวะเป็นการทดสอบที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งใช้เวลาน้อยแต่ให้ข้อมูลมาก มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น บอกความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ไต โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าปัสสาวะเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ และขับถ่ายออกมา ในทางการแพทย์ปัสสาวะถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมายในการช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคได้ในปัสสาวะมีสารเคมีมากมายที่ร่างกายขับออกมา เช่น โปรตีน บิลิรูบิน ครีอะตินิน ถ้าเรานำมาตรวจหาชนิดและปริมาณที่ขับออกมาในแต่ละวัน จะสามารถบอกความผิดปกติของโรคบางชนิดได้อย่างแม่นยำ

         การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจคัดกรองโรคบางชนิด ช่วยในการวินิจฉัยโรคร่วมกับอาการและการตรวจอย่างอื่น ช่วยในการแยกชนิดของโรคระบบทางเดินปัสสาวะจากโรคอื่นๆ การตรวจปัสสาวะยังมีประโยชน์ในการพยากรณ์โรค และติดตามการดำเนินของโรคอีกด้วย

          ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ประกอบด้วยไต ซึ่งมี 2 อัน ซ้ายและขวา ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดเป็นน้ำปัสสาวะออกมาด้วยอัตราประมาณ 1 มิลลิลิตรต่อนาที ซึ่งไตแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไตเล็กๆ ประมาณ 1 ล้านหน่วยไต หลอดไตเป็นส่วนที่อยู่ต่อจากไตทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่นำน้ำปัสสาวะออกจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นที่เก็บปัสสาวะไว้ชั่วคราว เมื่อปัสสาวะประมาณ 240-300 มิลลิลิตร จะรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะจะหดตัวบีบดันปัสสาวะออกมาทางหลอดปัสสาวะเป็นครั้งคราว หลอดปัสสาวะทำหน้าที่นำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะออกนอกร่างกาย

         ปัสสาวะเกิดจากการกรองของพลาสมาจากเลือดที่ไหลเวียนไปไต ผ่านหน่วยกรองวันละประมาณ 180 มิลลิลิตร และมีการดูดซับน้ำ ไอออน และสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายกลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับไอออน รวมทั้งสารอื่นๆที่ร่างกายไม่ต้องการ หรือมากเกินพอออกจากร่างกาย เพื่อการปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย โดยไตจะขับปัสสาวะออกมาเรื่อยๆ ประมาณ 1 มิลลิลิตรต่อนาที สู่หลอดไตทั้งสองข้าง ไปรวมที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีน้ำปัสสาวะประมาณ 240-300 มิลลิลิตร ก็จะรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ เนื่องจากปัสสาวะไปกระตุ้นปลายประสาทที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะหดและบีบตัวเอาปัสสาวะออกมาทางหลอดปัสสาวะ เพื่อขับออกนอกร่างกาย ผู้ใหญ่ปรกติจะถ่ายปัสสาวะวันละ 600-1600 มิลลิลิตร

        การตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการนั้น เริ่มตั้งแต่การเก็บปัสสาวะที่ถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จากนั้นเมื่อส่งถึงห้องปฏิบัติการก็จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตามกระบวนการต่อไป การตรวจปัสสาวะโดยทั่วไปประกอบด้วย การตรวจทางกายภาพ เคมี และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

ทำความรู้จัก .. การตรวจปัสสาวะ




   การตรวจทางกายภาพ   

       การตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ตรวจหาปริมาตร สี กลิ่น ความขุ่น และความถ่วงจำเพาะ

      1. สี ปัสสาวะปกติมีสีเหลืองอำพัน แต่จะมีความอ่อน–แก่ของสีแตกต่างกันได้ตามความเข้มข้นของปัสสาวะ หากปัสสาวะที่ถ่ายออกมามีสีอื่น เช่น แดง น้ำตาล ฯลฯ อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อาหาร ยา สารสีต่างๆ หรือผลิตผลจากระบบเผาผลาญของร่างกาย การดูสีปัสสาวะจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ข้อแรกสำหรับโรคไต และภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร

      2. ความขุ่น ปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ๆ ปกติแล้วมักจะใส อาจขุ่นได้เมื่อตั้งทิ้งไว้หรือเก็บในตู้เย็น การรายงานความขุ่นนิยมรายงานเป็นใส ขุ่นเล็กน้อย หรือขุ่น ตั้งแต่น้อย (1+) ไปถึงขุ่นมาก (4+) ความขุ่นของปัสสาวะที่เกิดจากความผิดปกติ อาจเกิดจากเม็ดเลือดขาว แบคทีเรีย ไขมัน เป็นจำนวนมากได้

      3. ความถ่วงจำเพาะ ค่าปกติ 1.005-1.030 ความถ่วงจำเพาะเป็นการวัดความสามารถของไตในการควบคุมความเข้มข้นและส่วนประกอบของของเหลวในร่างกายให้คงที่ อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป อุณหภูมิและการออกกำลังกาย ความถ่วงจำเพาะที่สูงเกินไป อาจจะเกิดจากร่างกายขาดน้ำ เช่นดื่มน้ำน้อย ท้องร่วงรุนแรง หรือในเด็กเป็นไข้เลือดออกที่กำลังช็อค และได้น้ำชดเชยน้อยเกินไปทำให้ขาดน้ำในกระแสเลือด จะทำให้ปัสสาวะเข้มข้น ถ้าความถ่วงจำเพาะต่ำไป อาจจะเกิดจาก กินน้ำมากเกิน ร่างกายจึงกำจัดน้ำออกมาทางปัสสาวะเยอะ หรือเป็นโรคที่ทำให้มีปัสสาวะมีน้ำออกมามากผิดปกติ เช่น โรคเบาจืด

   การตรวจทางเคมี  

          การตรวจคุณสมบัติทางเคมีเป็นการตรวจความเป็นกรด-ด่าง และสารเคมีต่างๆ เช่น โปรตีน กลูโคส คีโตน และยูโรบิริโนเจน เป็นต้น

       1. ความเป็นกรดด่าง ค่าปกติ 5 - 8 ความเป็นกรดด่าง บ่งบอกความสามารถของไตในการควบคุมสมดุลกรดด่างของร่างกาย เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการเผาผลาญอาหาร ชนิดของอาหาร โรคและการใช้ยา

       2. โปรตีนในปัสสาวะ ค่าปกติ ไม่มีหรือมีเล็กน้อย อาจพบโปรตีนมากในบุคคลที่มีไข้สูง โรคหัวใจวาย โรคที่มีพยาธิสภาพภายในไต ไตอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ ในบุคคลที่ทำงานในสถานประกอบกิจการที่สัมผัสสารโลหะหนักบางชนิด เช่น ปรอท แคดเมียม มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อไต มีผลทำให้โปรตีนออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก ในคนปกติอาจพบว่ามีโปรตีนออกมาในปัสสาวะได้จากการนั่งหรือยืนนาน ๆ การออกกำลังกายหักโหม การตั้งครรภ์ระยะท้ายๆ เครียด หรือมีไข้ เป็นต้น การรายงานผลจะรายงานเป็น Trace, 1+, 2+, 3+ และ 4+ หมายถึง พบโปรตีนในปริมาณน้อยๆ ไปจนถึงปริมาณมากตามลำดับ

       3. น้ำตาลในปัสสาวะ หยดใส่ปัสสาวะหรือวิธีใช้กระดาษทดสอบเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสี จะพบเป็นผลลบ (สีน้ำเงินหรือเขียว) การตรวจพบว่ามีน้ำตาลกลูโคสออกมาในปัสสาวะอาจมีสาเหตุมาจากโรคไต การตั้งครรภ์ ได้รับสารพิษหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง การรายงานผลเช่นเดียวกับการรายงานโปรตีนในปัสสาวะ คือ Trace, 1+, 2+, 3+ และ 4+ ตามลำดับ

     การตรวจตะกอนปัสสาวะทางกล้องจุลทรรศน์     

      1. เพื่อช่วยบ่งชี้ให้แน่ชัดถึงภาวะที่ผิดปกติหรือโรคที่สงสัย ในบางครั้งการตรวจทางกายภาพและเคมีอาจไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่เมื่อตรวจตะกอนก็อาจจะพบสิ่งผิดปกติได้ ซึ่งสามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี สิ่งที่สามารถพบได้ในตะกอนปัสสาวะ เช่น เซลล์ต่างๆ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ ผลึกต่างๆ แท่งโปรตีน เป็นต้น

      2. การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นวิธีที่สำคัญมากในการวินิจฉัยโรค โดยการนำตะกอนปัสสาวะ มาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาดูเซลล์ต่างๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เซลล์เยื่อบุ และตรวจหาคาสท์ ซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคไต การตรวจหาผลึกต่างๆ เช่น แคลเซียมออกซาเลต ยูริคแอซิด เป็นต้น

         การตรวจปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์นั้นสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคเช่น การพบเม็ดเลือดแดง และคาสท์ออกมาย่อมชี้บ่งว่าน่าจะเป็นโรคไตเฉียบพลัน และยังมีประโยชน์ในการติดตามการรักษาโรคว่าดีขึ้นหรือเลวลง เช่น ก่อนรักษาพบคาสท์ 5-10 คาสท์ต่อฟิลด์กล้อง แต่พอรักษาแล้วเหลือ 0-1 คาสท์ต่อฟิลด์กล้อง ย่อมแสดงว่าอาการดีขึ้น เป็นต้น

      3. ในคนปกติ ไม่ควรมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะเลยถ้ามีเม็ดเลือดขาวออกมามากในปัสสาวะ แสดงว่ามีการอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกรวยไตอักเสบ ปกติจะรายงานเป็นจำนวนเซลที่พบต่อพื้นที่ที่มองเห็นด้วยหัวกล้อง ขนาด X40หรือ High Dry Field (HDF) ถ้าพวกที่พบเล็กน้อย เช่น 1-2 cell/ HDF อาจจะไม่สำคัญเท่าไรนัก แต่ถ้าพวกมีการติดเชื้ออาจจะพบหลายสิบตัวหรือเป็นร้อยๆ ซึ่งจะรายงานว่ามีจำนวนมาก

      4. เม็ดเลือดแดงก็เช่นเดียวกับเม็ดเลือดขาว คนปกติไม่ควรพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ถ้าพบแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ อาจจะจากอุบัติเหตุ ในกรณีที่ามีประวัติบ่งชี้ว่าได้รับการกระแทกที่ทางเดินปัสสาวะ หรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ หรือมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อบางครั้งก็ทำให้มีเม็ดเลือดแดงออกมา ในปัสสาวะได้แต่มักจะมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า สาเหตุที่พบบ่อยสุดที่ทำให้พบเม็ดเลือดแดงจำนวนมากในปัสสาวะคือนิ่ว

      5. อาจพบเซลเยื่อบุทางเดินปัสสาวะในส่วนต่างๆ เมื่อมีการอักเสบหรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ

      6. อาจพบผลึกของสารต่างๆ ที่ปนมากับปัสสาวะ เช่น Calcium Oxalate หรือ Urate Crystal ซึ่งพวกนี้อาจจะตกตะกอนเป็นนิ่วต่อไปได้






ที่มา ... ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์