รู้จักเพลงปลุกใจ ในวันยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557

รู้จักเพลงปลุกใจ ในวันยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557

จากเหตุการณ์ประกาศยึดอำนาจของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)และมีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทั้งยังได้ออกคำสั่งระงับการถ่ายทอดรายการปกติของสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จนนำไปสู่ภาวะ“จอนิ่ง”ในทุกช่องสถานีนั้น

ทว่าในความ“นิ่ง” คสช. ได้เปิดเพลงปลุกใจนับ 10 เพลงให้ประชาชนได้ฟัง ตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อวาน (22 พ.ค.) จนถึงขณะปัจจุบัน“ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์”จึงหยิบยกที่มาของเพลงเหล่านั้นให้ได้รู้ที่มาที่ไประหว่างรอความคืบหน้าของการทำงาน คสช.

เพลงพระราชนิพนธ์ไกลกังวล หรือ เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทยเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 26 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ใน พ.ศ.2500 เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมศิษย์เก่านักเรียนอังกฤษในนพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ. 2500 ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกกนิษฐ ต่อมาใน พ.ศ.2506 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย Rual Maglapus อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และในปี พ.ศ.2514 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย

เพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเราเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ทรงพระราชนิพนธ์โอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดรา แห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย ในพ.ศ.2502 โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว 10 นาที พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนี้ ทรงประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อนราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องให้กับทำนองเพลงนั้นทันที

เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุดเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ.2514 โดยเมื่อ พ.ศ.2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ในพ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2516 โดยนายสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เสร็จแล้วพระราชทานให้ วง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. พ.ศ.2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

เพลงสยามานุสสติเป็นคำโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. พ.ศ.2461 และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาได้มีการนำโคลงนี้มาแต่งเป็นเพลงปลุกใจ ซึ่งประพันธ์ทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงสยามานุสสติมาจาก คำขวัญปลุกใจของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ว่า "What stands if Freedom fall? Who dies if England live?"

เพลงดุจบิดา มารดรเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประพันธ์ทำนองโดย ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ และ สันติ ลุนเผ่ บรรเลงโดย วงดุริยางค์มหารเรือ

เพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงที่แต่งเมื่อ พ.ศ.2518 ใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก ในการต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ.2518-2523 ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ. บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และขับร้องโดย ส.อ.อุบล คงสิน และ ศิริจันทร์ อิศรางกูล ณ อยุธยา ต่อมาใน พ.ศ.2520 ชื่อเพลงนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "หนักแผ่นดิน" กำกับโดย สมบัติ เมทะนี แสดงนำโดยสมบัติ เมทะนี และ นัยนา ชีวานนท์

เพลงมาร์ชสามัคคีสี่เหล่าเป็นเพลงมาร์ชที่นาวาตรี พยงค์ มุกดา ประพันธ์ขึ้น เพื่อเป็นการปลุกใจ และสร้างความสามัคคีระหว่างทหารเหล่าทัพต่าง ๆ และตำรวจ ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย และความมั่นคงของประเทศ ทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร เพลงนี้ได้ประพันธ์ขึ้นโดยการนำเอาวรรคแรกของ เพลงชาติไทยและบางส่วนของเพลงมาร์ชสำคัญของทั้งสามเหล่าทัพและตำรวจมาดัดแปลงรวมกันเป็นเพลงเดียว ดังนี้

เพลงมาร์ชกองทัพบก ของ กองทัพบกไทย (ประพันธ์โดย นารถ ถาวรบุตร)

เพลงราชนาวี ของกองทัพเรือไทย (ประพันธ์โดย น.อ. ภิญโญ พงษ์สมรวย)

เพลงมาร์ชทหารอากาศ ของกองทัพอากาศไทย

เพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ ของกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ประพันธ์โดย นารถ ถาวรบุตร)

เพลงไทยรวมกำลังประพันธ์ทำนองเพลงโดย เอื้อ สุนทรสนาน บทกลอนนี้มาจากตอนท้ายของบทละครพูดคำกลอนและบทละครร้องเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับคัดเลือกให้ใช้เป็นบทอาขยานบทรอง ระดับประถมศึกษา คัดเลือกโดย คณะกรรมการคัดเลือกอาขยานภาษาไทยสำหรับนักเรียน ในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ วก 372/2542

เพลงรักเมืองไทย คำร้อง พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ) ดัดแปลงจากทำนองเพลงเก่า

เพลงต้นตระกูลไทย คำร้อง พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ) ดัดแปลงจากทำนองเพลงเก่า

ตื่นเถิดชาวไทย คำร้อง-ทำนอง: พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ)

เพลงใต้ร่มธงไทย ทำนอง คำร้อง พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ)

เพลงตื่นเถิดไทย เพลงศักดิ์สิทธิ์ของชาติประพันธ์ โดย ท่านผู้หญิง หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค เพื่อให้คนไทย รักและสามัคคี เรียบเรียงเสียงประสานโดย หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช

เพลงทหารพระนเรศวรเป็นเพลงปลุกใจประพันธ์ทำนองโดย ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภันวงศ์ ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2515

ที่มา http://th.wikisource.org/ , http://www2.rta.mi.th/ , http://th.wikipedia.org


รู้จักเพลงปลุกใจ ในวันยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557











เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์