ร่วมคิด...เตือนอันตราย หยุด!! พิษภัยควันบุหรี่

ร่วมคิด...เตือนอันตราย หยุด!! พิษภัยควันบุหรี่


จากการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ที่มีความต่อเนื่อง วันงดสูบบุหรี่โลก ที่ใกล้มาถึงเป็นอีกวันดีมีความหมายให้ตระหนักถึงโทษพิษอันตรายจากการสูบบุหรี่ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะผู้สูบ หากแต่ยังส่งผลถึงคนใกล้ชิดรอบข้าง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมการอยู่ร่วมกัน
 
วันงดสูบบุหรี่โลกที่องค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้นในวันสุดท้ายเดือนพฤษภาคมของทุกปี

นับแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาที่ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนองค์กรภาคีเครือข่ายประสาน ความร่วมมือรณรงค์เตือนพิษภัยทั้งจากการสูบ การได้รับควันบุหรี่มือสอง จากข้อมูลที่กล่าวถึงความสูญเสีย บุหรี่คร่าชีวิตคน ทั่วโลกปีละกว่า 5 ล้านคน และแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากการ  สูบบุหรี่ปีละ 42,000 คน อีกทั้งพบตัวเลขจำนวนไม่น้อยในกลุ่มเยาวชน นักสูบหน้าใหม่
 
แต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะกำหนดคำขวัญประเด็นรณรงค์ ในปีนี้ Tobacco Health Warnings หรือในคำขวัญที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย จากความต่อเนื่องวันงดสูบบุหรี่โลกที่มีจุดหมายกระตุ้นเตือนประชาชน   ทั่วโลก ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของบุหรี่ สนับสนุนให้เกิดการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อปกป้องประชาชนจากโรคภัยและความสูญเสีย
 
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ปีนี้การรณรงค์ให้ความสำคัญการเตือนภัยจากบุหรี่ทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้เข้าใจถึงโทษพิษภัยในผลกระทบที่เกิดจากการ สูบบุหรี่
 
จากประเด็นรณรงค์นี้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมคิดเตือนภัยรับผิดชอบดูแลสังคมร่วมกัน อีกทั้งในสิ่งที่รณรงค์หวังเป็นการป้องกันกลุ่มนักสูบหน้าใหม่กลุ่มเยาวชน ลดการสูบในผู้ที่สูบและปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ห่างไกลจากอันตรายบุหรี่ ฯลฯ
 
“การรณรงค์แต่ละปีจะแตกต่างกันไปตามปัญหาภาพ รวมของทุก ๆ ประเทศสมาชิก ปีนี้เป็นความเข้มข้นการรณรงค์ที่จะแจ้งเตือนภัยทุกมิติที่จะลดการสูบบุหรี่ลง อย่างข้อมูลคำเตือนบนซองบุหรี่ทั้งรูปภาพและข้อความ ในการดำเนินการนั้นมีมายาวนานซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่สี่ของโลกที่ทำการจัดพิมพ์คำเตือนบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบและจากการเตือนภัยบนซองบุหรี่ที่ทางกรมฯ ภาคีเครือข่ายร่วมกันรณรงค์มีผลเป็นรูปธรรม”
 
การเตือนภัยบนซองบุหรี่มีความต่อเนื่องโดยนับจากปี พ.ศ. 2517 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้มีการพิมพ์ข้อความคำเตือนบนซองบุหรี่ครั้งแรกโดยใช้คำว่า การสูบบุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากนั้นพัฒนาข้อความ ปรับเนื้อหาข้อความ จัดทำภาพ     คำเตือน ฯลฯ เรื่อยมาตามลำดับ
 
“ความเป็นอันตราย โทษพิษภัยแม้จะเป็นที่ทราบกัน แต่ในจำนวนผู้เสียชีวิต ตัวเลขการเจ็บป่วยในปีหนึ่ง ๆ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย เหล่านี้มีความจำเป็น เช่นกัน ในการแจ้งเตือนภัยและจากที่เป็นหน่วยงานราชการเป็นแกนกลางประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สสส. ฯลฯ ได้ร่วมกันรณรงค์และแม้จะมีตัวเลขลดลง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยังคงเป็นกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ กลุ่มเยาวชนที่ต้องใกล้ชิดให้ความรู้ความเข้าใจ”
 
ขณะที่สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคชิคุนกุนยา ฯลฯ กำลังเป็นที่กล่าวขาน โรคไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง  ทั้ง การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ความเจ็บป่วยเป็นภัยคุกคามสุขภาพและแม้ไม่ปรากฏผลทันที แต่  พิษภัยที่สะสมส่งผลในอนาคตอย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง ฯลฯ การลด ละ เลิกสูบบุหรี่ หลีกไกลพฤติ กรรมเสี่ยงจึงมีความสำคัญ
 
ควันบุหรี่ในบรรยากาศหรือควันบุหรี่มือสอง ทั้งที่เกิดจากผู้สูบพ่นออกมาและควันที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ระหว่างการสูบ การหายใจนำควันบุหรี่ในบรรยากาศเข้าสู่ร่างกายที่เรียกว่า การสูบบุหรี่มือสอง จากควันบุหรี่ จากข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคและข้อมูลมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่บอกเล่าสารเคมีที่เป็นสารพิษ สารก่อมะเร็ง
 
สารพิษในควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมีทั้ง นิโคติน สารที่ทำให้เกิดการเสพติดทำให้เกิดโรคหัวใจ น้ำมันดิน (ทาร์) เป็นละอองเหนียวสีน้ำตาลคล้ายน้ำมันดิน ทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ ขณะที่ คาร์บอนมอ นอกไซด์ ก๊าซพิษชนิดเดียวกับท่อไอเสียรถยนต์จะแย่งจับเม็ดเลือดแดงทำให้ร่างกายรับออกซิเจนได้น้อยลง ก่อเกิดอาการมึนงง คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย 
 


ร่วมคิด...เตือนอันตราย หยุด!! พิษภัยควันบุหรี่


ส่วน ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ก๊าซที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ แอมโมเนีย มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ฯลฯ และ   จากควันบุหรี่ที่ส่งผลต่อสุขภาพ หากเป็นผู้ใหญ่ การได้รับควันบุหรี่ในบ้านหรือที่ทำงานจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 เกิดผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดหัวใจทันทีที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
 
ใน เด็กเล็ก เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไป มีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น ในระยะยาวเด็กที่ได้รับควันบุหรี่พัฒนาการของปอดจะน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ อีกทั้งควันบุหรี่ส่งผลต่อหญิงมีครรภ์ เป็นต้น
 
จากการรณรงค์ที่มีต่อเนื่องของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่ โลกที่จะมีขึ้น ณ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ นอกจากนิทรรศการวิชาการ การให้บริการทางการแพทย์ยังมีความบันเทิงร่วมรณรงค์เน้นการเตือนภัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งผู้ที่ต้องการลด ละ เลิกสูบบุหรี่
 
วันงดสูบบุหรี่โลกที่กำลังจะมาถึงนี้อาจถือเป็นอีกโอกาส สร้างสุขภาพดีให้เกิดขึ้นกับตนเอง คนใกล้ชิดรอบข้างที่คุณรัก รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดจากควันบุหรี่.

10 วิธีช่วยเลิกสูบบุหรี่
 
แต่ละปีมีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า 2 แสนคน หรือโดยเฉลี่ยมีผู้เลิกสูบบุหรี่วันละ 600 คนและจากสถิติพบร้อยละ 80 ของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่สามารถเลิกได้ด้วยตนเองโดยใช้วิธีหยุดสูบอย่างเด็ดขาดและจาก 10 วิธีนี้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่แนะนำไว้เป็นอีกแนวทางคำตอบการเลิกสูบบุหรี่
 
ขอคำปรึกษา เพื่อให้มีแนวทางการเลิกบุหรี่ โดยอาจขอคำแนะนำที่หมายเลข 1600 หรือขอคำปรึกษาจากคนที่รู้จักที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ
 
หากำลังใจ บอกคนใกล้ชิดได้ทราบถึงความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้เพื่อคนที่คุณรัก
 
เป้าหมายอยู่ข้างหน้า ควรวางแผนการปฏิบัติตัวในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ โดยกำหนดวันที่จะลงมือเลิกสูบบุหรี่อาจเลือกวันสำคัญ ต่าง ๆ อย่าง วันเกิดตนเอง วันครบรอบแต่งงานวันเกิดลูก ฯลฯ แต่ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดวันที่ไกลเกินไป
 
ไม่รอช้าลงมือ ควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น อ่านหนังสือแทนการสูบบุหรี่ระหว่างเข้าห้องน้ำ ลุกจากโต๊ะอาหารทันทีที่ทานอาหารเสร็จ หรือ      แปรงฟันทุกครั้งหลังกินอาหาร เตรียมผลไม้ ขนมขบเคี้ยวที่ไม่หวานหรือทำให้อ้วนทานแทนการสูบบุหรี่ ฯลฯ
 
ถือคำมั่นสัญญาไม่หวั่นไหว บอกตัวเองว่ากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและคนใกล้ชิด เมื่อนึกอยากสูบบุหรี่ก็ให้ทบทวนถึงเหตุผลการตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ อยู่ชิดใกล้กับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ
 
ห่างไกลสิ่งกระตุ้น ระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการ อยู่ท่ามกลางคนที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ ไม่ควรหมกมุ่นเครียด เมื่อรู้สึกเครียดให้หยุดพัก พูดคุยกับคนอื่น ระลึกว่ามีคนไม่สูบบุหรี่อีกมากที่คลายเครียดด้วยการไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ควรจัดเวลาให้กับการออกกำลังกายวันละ  15-20 นาที ซึ่งนอกจากควบคุมน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นได้ยังทำ  ให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่ม  ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจ ฯลฯ ไม่ท้าทายบุหรี่ อย่างคิดลองสูบเป็นบางครั้งบางคราวเพราะการทดลองอาจหมายถึงการหวนกลับไปสู่ความเคยชินเก่า ๆ และ หากต้องเริ่มต้นใหม่ก็อย่าท้อแท้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์