เตือน!! เว็บไซต์อันตราย

 

      เมื่อไม่กี่วันมานี้มีเพื่อนที่รู้จักกันในอเมริกาโพสต์ภาพให้ดูบนเฟซบุ๊ก เป็นภาพสลิปใบสั่งซื้อสินค้าที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งแนบมากับพัสดุที่ได้รับ บนสลิปเป็นภาพถ่ายที่ใช้เป็นภาพโปรไฟล์บนเฟซบุ๊กพร้อมชื่อผู้ใช้งานด้วย 

คำบรรยายภาพของเพื่อนผมเหมือนการบ่นและฟ้องกลายๆ ที่ข้อมูลส่วนตัวถูกเฟซบุ๊กเข้าถึงมากขนาดนั้น ถึงแม้จะผ่านการยินยอมโดยเจ้าตัวเองแล้วก็ตาม 

ประเด็นอยู่ตรงที่ในการล็อกอินเข้าใช้บริการเว็บขายสินค้า แทนที่จะใช้อีเมล์ แอดเดรสเพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้ขึ้นมา เว็บไซต์จำนวนมากในปัจจุบันมีทางเลือกให้ล็อกอินผ่านบัญชีเฟซบุ๊กหรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหญ่อื่นๆ ได้ ซึ่งสะดวกให้ไม่ต้องมากรอกอะไรกันมากมาย และหลีกเลี่ยงสแปมเมล์ หรือเหล่าเมล์ขยะที่มักจะตามมาหลังใช้อีเมล์ แอดเดรสไปลงทะเบียนกับเว็บไซต์ต่างๆ 

เพื่อนผมก็ต้องการเลี่ยงสแปมเมล์เหล่านั้นเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กล็อกอินเข้าไป ผลที่ตามมาก็คือพบว่าเว็บที่ขายสินค้าเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในระดับนั้น แล้วยังพรินต์ออกมาใช้งานอีก 

ความต้องการจะเลี่ยงจากปัญหาหนึ่งกลับพาไปเจอกับอีกปัญหาหนึ่ง 

การสั่งซื้อของจากเว็บไซต์บางทีก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังพอสมควร เพราะเราต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยละเอียดให้กับเว็บไซต์นั้นๆ ทั้งชื่อนามสกุล ที่อยู่ และรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระเงิน เจอเว็บสิบแปดมงกุฎเข้าไปก็โชคร้าย อย่างที่ในเมืองไทยเจอซื้อโทรศัพท์ได้ก้อนหิน เป็นต้น แต่นั่นยังเป็นการขายตรงผ่านเว็บไซต์ที่ให้บริการเป็นตลาดกลาง 

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวชิ้นหนึ่งในอังกฤษเปิดเผยถึงการจัดการกับเว็บไซต์ขายสินค้าแบรนด์เนมปลอมแปลงตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมามากถึงกว่า 2,000 แห่ง เว็บไซต์พวกนี้จะโฆษณาขายสินค้าดีไซเนอร์ชื่อดังแต่เป็นสินค้าปลอมแปลงหรือด้อยคุณภาพ ในบางกรณีเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยโดยเฉพาะพวกอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้

นอกจากความเสี่ยงที่จะได้สินค้าปลอมหรือด้อยคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาแล้ว คำเตือนอีกอย่างหนึ่งก็คือเว็บไซต์เหล่านี้อาจจะเป็นเว็บแอบแฝงที่ซ่อนมัลแวร์หรือไวรัสเอาไว้ เสี่ยงต่อการที่ข้อมูลส่วนตัวในคอมพิวเตอร์จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ดี 

ในอังกฤษบรรดาบริษัทแบรนด์เนมต่างๆ ร่วมมือกับหน่วยงานในการปกป้องแบรนด์เนมอย่างบริษัทอินเตอร์เน็ตและกรมตำรวจในการไล่ล่าเว็บไซต์สิบแปดมงกุฎเหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้ปฏิบัติการที่เรียกว่าโอเปอเรชั่น อะชิโกะที่ริเริ่มโดยแผนกอาชญากรรมทรัพย์สินทางปัญญาของกรมตำรวจอังกฤษมาตั้งแต่ปลายปี 2013 

ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการจนถึงขณะนี้สามารถปิดเว็บไซต์หลอกลวงไปได้แล้วถึงมากกว่า 5,500 เว็บไซต์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ไม่แน่ว่าในเว็บไซต์เหล่านี้อาจจะมีคนไทยนิยมสินค้าแบรนด์เนมตกเป็นเหยื่อกันบ้างก็ได้ เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง 

การให้ลงทะเบียนเป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะพอช่วยได้บ้าง เพียงแต่การวางน้ำหนักในบ้านเราคิดว่าไปอยู่ตรงที่การหาทางรีดภาษีมากกว่าเรื่องการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค 

กฎหมายที่เกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ของบ้านเราก็ผ่าไปเน้นเรื่องความมั่นคง การสอดแนมประชาชนและการปิดกั้นมากกว่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างที่ป่าวประกาศ เศรษฐกิจดิจิตอลที่ต้องการการแข่งขันเสรีที่ยุติธรรมและระบบที่โปร่งใส มีการถ่วงดุลและตรวจสอบได้

พูดไปก็ไลฟบอยย์เพราะดูเหมือนเรากำลังถอยหลังขึ้นเทือกเขาอัลไตกันอยู่ทุกวัน อีกไม่นานคงถึง


เตือน!! เว็บไซต์อันตราย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์