เตือนภัยผู้ใช้ โรมมิ่ง ศึกษาให้ดี...ลดเสี่ยงกระเป๋าฉีก!!!

หลายต่อหลายคนเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ มักนิยมใช้บริการโรมมิ่งกัน เพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อกับครอบครัว หรือคนรู้ใจด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่เมื่อกลับมาต้องหน้าซีด บางคนถึงกับกระเป๋าฉีก เมื่อเห็นบิลเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์!!
   
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการโรมมิ่งว่า สิ่งแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ในแต่ละประเทศจะมีบริการโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง โดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตจะมีขอบข่ายของประเทศตนเอง โดย จะไม่มีบริษัทใดได้รับอนุญาตให้ใช้สัญญาณข้ามทวีปหรือข้ามประเทศ
   
เมื่อได้เลขหมายของประเทศตนเองแล้วจะนำไปใช้กับประเทศอื่นไม่ได้ เพราะประเทศอื่นก็มีเลขหมายที่ให้บริการ มีขอบข่ายของเขาเช่นเดียวกับประเทศของเรา แต่ วิธีที่จะทำให้โทรศัพท์ของเราจะไปใช้ในประเทศอื่นได้ คือ ประเทศของเราต้องไปทำสัญญากับคู่บริการในประเทศของเขา ไปขอใช้โครงข่ายชั่วคราว โดยใช้เลขหมายของเราเป็นหลัก
   
ฉะนั้น ข้อดีของการเปิดโรมมิ่ง คือ สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เหมือนเดิม แม้จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยที่ผู้บริโภคใช้หมายเลขโทรศัพท์เบอร์เดิม คนจะโทรฯหาก็โทรฯมาเบอร์เดิม และเช่นเดียวกันเมื่อเราโทรฯกลับไปเลขหมายเราก็จะปรากฏขึ้น ปลายทางก็จะรู้ว่าเราโทรฯมา
   
“แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ค่าใช้จ่าย เพราะปกติเวลาโทรฯที่เมืองไทยค่าใช้จ่ายจะเป็นค่าใช้จ่ายภายในประเทศเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ แต่ถ้าเมื่อไรเป็นโรมมิ่ง แปลว่า มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะสัญญาณโทรศัพท์จะต้องวิ่งจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ทำให้ค่าโรมมิ่งแพงกว่าค่าใช้จ่ายปกติ
    
รวมทั้ง ค่าบริการโรมมิ่งไม่มีการกำกับดูแล คือ ค่าบริการโดยปกติในแต่ละประเทศ ถ้าอยากกำกับราคาขั้นสูง สามารถกำกับได้ว่าจะใช้เกณฑ์กี่บาท ห้ามเกินกี่บาทต่อนาที แต่ถ้าเป็นโรมมิ่งเมื่อไรจะไม่มีการกำกับเพราะไม่มีรัฐบาลโลก ดังนั้น ประเทศนี้จะไปกำหนดโรมมิ่งประเทศโน้นไม่ได้ ทำให้อัตราค่าโรมมิ่งจึงไม่ขึ้นกับใคร แต่จะอยู่ที่คู่สัญญาต้นทางทำกับคู่สัญญาปลายทาง”
   
ตลอดจน ในเรื่องของเทคโนโลยี นั่นคือ ถ้าใช้บริการเครือข่ายของบริษัทใดในเมืองไทย เวลาเปิดโรมมิ่งก็ต้องไปเปิดกับเครือข่ายนั้น ในกรณีที่เห็นว่าอีกเครือข่ายหนึ่งโปรโมชั่นถูกกว่า จะไปเปิดโรมมิ่งของอีกเครือข่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้อยู่เป็นของอีกเครือข่ายหนึ่ง 
   

เตือนภัยผู้ใช้ โรมมิ่ง ศึกษาให้ดี...ลดเสี่ยงกระเป๋าฉีก!!!


สำหรับการเปิดโรมมิ่ง โดยหลักแล้วขึ้นอยู่กับบริการที่เราจะใช้ สมัยก่อน จะมีแค่โทรฯออกและรับสาย ซึ่งเป็นบริการประเภทเสียง หรือ วอยซ์ (voice) แต่ปัจจุบันมีบริการที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ไม่ว่าจะเป็น เอดจ์, จีพีอาร์เอส หรือ 3 จี ซึ่งเป็นอีกบริการหนึ่งที่เรียกว่า บริการด้านข้อมูล หรือ ดาต้า (data)
   
“เวลาเปิดโรมมิ่งบริษัทจะเปิดให้ทั้งคู่ คือ เสียงและข้อมูล ซึ่งตรงนี้ผู้บริโภคสามารถเปิดแยกได้ เช่น ถ้าไม่เล่นอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องการรับ-ส่งข้อมูลผ่านมือถือ โดยข้อมูลนี้ไม่ได้รวมถึงเอสเอ็มเอส เพราะเอสเอ็มเอสเป็นแพ็กเกจที่ผูกติดมากับบริการประเภทเสียง ก็ให้เลือกบริการประเภทเสียงเท่านั้น คือ รับสายได้ รับเอสเอ็มเอสได้ แต่เล่นอินเทอร์เน็ตไม่ได้”
   
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้บริการต้องทำความเข้าใจด้วย นั่นคือ เมื่อเปิดโรมมิ่งแล้วจะเป็นการเปิดตลอดไป หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วโรมมิ่งจะถูกปิด ฉะนั้น ถ้าอยากปิดต้องโทรฯไปแจ้งที่บริษัทว่าหมายเลขนี้ต้องการปิดโรมมิ่ง แล้วถ้าจะไปต่างประเทศอีกก็ค่อยโทรฯไปขอเปิดโรมมิ่งใหม่ก็ได้ เพราะ ถ้าไม่แจ้งปิดบริษัทจะเปิดโรมมิ่งให้ตลอด
   
การเปิดโรมมิ่งหากเปิดไว้ตลอด ถ้าไม่ได้ไปต่างประเทศก็จะไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหากรณีเดียว คือ ถ้าเดินทางไปชายแดน เช่น ด่านปาดังเบซาร์ซึ่งจะมีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของประเทศมาเลเซียเข้ามาในฝั่งไทยด้วย เมื่อโทรศัพท์ของเราไปจับสัญญาณมาเลเซียเข้า เมื่อรับสายหรือโทรฯออกก็จะกลายเป็นว่าใช้คลื่นมาเลเซีย เปลี่ยนเป็นโรมมิ่งมาเลเซีย
   
รวมทั้งถ้าไปหนองคายคลื่นโทรศัพท์จับสัญญาณของประเทศลาว
เราก็จะเสียเงินค่าโรมมิ่งของประเทศลาวทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ข้ามไปลาว ตรงนี้เป็นข้อจำกัดทางเทคนิค หากบริษัทคิดค่าโรมมิ่งสามารถโต้แย้งกับทางบริษัทได้ เพราะเรายังอยู่ในเขตแดนไทยอยู่ แต่ข้อจำกัดตรงนี้ก็มีประโยชน์สำหรับบางพื้นที่ เช่น เมื่อข้ามไปท่าขี้เหล็ก เราโทรฯออกเป็นสัญญาณเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในประเทศพม่า ตรงนี้เท่ากับว่าเราใช้สัญญาณเมืองไทยทั้ง ๆ ที่อยู่ในฝั่งพม่าโดยไม่ต้องเสียค่าโรมมิ่ง
   
ฉะนั้น หากต้องเดินทางไปชายแดน ต้องดูให้ดีว่า ตอนนี้โทรศัพท์จับสัญญาณของประเทศไหนอยู่ ทางออกที่ดี คือ ควรจะปิดโรมมิ่งจะได้ไม่ต้องกังวลว่าตอนนี้โทรศัพท์จับคลื่นสัญญาณประเทศไหน ในกรณีที่ต้องข้ามไปจริงๆ แล้วค่อยเปิดโรมมิ่ง ซึ่งสามารถโทรศัพท์ไปขอเปิดโรมมิ่งได้ที่เครือข่ายที่เราใช้บริการอยู่ เมื่อกลับมาแล้วก็โทรฯไปขอปิดได้เช่นกัน
   
เมื่อขอเปิดบริการโรมมิ่งแล้วไม่จบเพียงเท่านั้น ผอ.สบท. กล่าวต่อว่า ในประเทศสามารถจำกัดวงเงินได้ เช่น ไม่เกิน 5,000 บาท
 
ถ้าเกินให้ตัดทันทีซึ่งบริษัทสามารถทำได้ แต่โรมมิ่งไม่มีการจำกัดค่าบริการ ต้องเข้าใจด้วยว่า การจำกัดวงเงินในประเทศกับโรมมิ่งแยกกัน ทำให้หลายคนต้องเสียค่าโรมมิ่งเป็นเงินจำนวนมาก เพราะเข้าใจว่ายังโทรฯได้อยู่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้อยู่ แต่ถึงแม้จะแจ้งจำกัดวงเงินสูงสุดโรมมิ่งไว้ ปัญหาก็ยังไม่หมดเพราะโดยหลักทางเทคนิคค่าใช้จ่ายในต่างประเทศไม่ได้โอนข้อมูลมาเป็นวินาที โดยข้อมูลที่ส่งกลับมาจะล่าช้าใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายเกินวงเงินสูงสุดที่กำหนดไว้ได้ ผู้บริโภคจำต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้โรมมิ่งด้วยแม้จะกำหนดวงเงินสูงสุดไว้แล้วก็ตาม
   
อีกทั้ง ปัจจุบันบาง บริษัทมีโปรโมชั่นเป็นอันลิมิท เช่น บริการดาต้าโรมมิ่งวันละ 450 บาท ผู้บริโภคเห็นเข้าก็จูงใจคิดว่าดีกว่าไปซื้อซิมต่างประเทศ ปรากฏว่า พอกลับมาก็โดนไปหลายแสนบาท ก็เพราะว่าอันลิมิทที่ว่านี้เฉพาะบางเครือข่ายเท่านั้น เนื่องจากประเทศหนึ่งจะทำสัญญากับหลาย ๆ บริษัท และบริษัทของไทยก็ทำสัญญากับหลาย ๆ บริษัทในประเทศนั้น ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เวลาเราไปต่างประเทศเครื่องจะจับสัญญาณอัตโนมัติ โดยจะจับสัญญาณของทุกบริษัทที่เครือข่ายที่เราใช้ไปทำสัญญาโรมมิ่งไว้
   
“ประเทศหนึ่งอาจมีคู่สัญญา 9 บริษัท แต่ที่เป็นอันลิมิท ล็อกไว้แค่บริษัทเดียว จึงมีกรณีที่ผู้บริโภคไปญี่ปุ่นสมัครอันลิมิทแพ็กเกจ เมื่อเดินทางไปถึงญี่ปุ่นแล้ว โทรศัพท์กลับไปจับสัญญาณของเครือข่ายอื่นที่ไม่ใช่เครือข่ายที่สมัครไว้กลับมาก็โดนหลายแสนบาท เพราะเข้าใจผิดคิดว่าโทรฯได้ตลอดแต่จ่ายเท่าที่กำหนดไว้ ทางออกที่ดี คือ จะต้องสอบถามให้ชัดเจนว่าอันลิมิทเป็นของเครือข่ายใดในประเทศที่เราจะไป จะได้เลือกรับสัญญาณที่เครื่องโทรศัพท์ได้ถูก และที่สำคัญ ต้องสอบถามวิธีการล็อกค้นหาเครือข่ายด้วยว่ามีขั้นตอนอย่างไร เพราะโทรศัพท์จะค้นหาแบบอัตโนมัติ เครื่องจะได้ไม่ไปจับเครือข่ายอื่น จะได้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม”
   
บางคนเกิดจากการใช้ ไวไฟฟรีที่โรงแรมหรือที่ประชุม เช่น ผู้บริโภคไปอินเดียใช้มือถือติดต่อไวไฟทั้งคืนกลับมาก็โดนหลายหมื่นบาท เพราะหลักการ คือ เมื่อสัญญาณไวไฟหลุดหากเราเปิดโรมมิ่งอยู่เครื่องจะต่อมือถือเป็นอินเทอร์เน็ตมือถือให้โดยอัตโนมัติ กรณีนี้ก็เช่นกัน ผู้บริโภคจะต้องรู้วิธีการปิดสัญญาณโรมมิ่งในเครื่องโทรศัพท์
   
อีกกรณีคือ บริษัทจะมีแพ็กเกจข้อมูล 5 เมก จ่าย 1,500 บาท ผู้บริโภคเห็นว่าดีก็เลือกใช้ โดยจะนิยมเล่นประเภทข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือบีบี ซึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้สามารถส่งรูปได้ด้วย หลายคนส่งรูปให้เพื่อนที่เมืองไทยเพราะคิดว่าไม่เท่าไร แต่จริง ๆ แล้ว คนไทยถ่ายรูปความละเอียดสูงแล้วส่งเลย โดยไม่มีการบีบไฟล์รูปให้เล็กลง ซึ่งรูปหนึ่งจะประมาณ 1 เมก ถ้า 5 รูปก็ 5 เมก ก็ครบแล้ว ที่เหลือก็จะจ่ายเพิ่ม ตรงนี้ก็ต้องระวังด้วย พยายามจำกัดข้อมูลอย่าใช้ฟุ่มเฟือย เพราะจะเกินวงเงิน 5 เมก ที่ตกลงไว้ได้
   
ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกล่าวฝากทิ้งท้ายว่า โรมมิ่งเป็นบริการข้ามประเทศ บางครั้งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ กว่าที่เราจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกินเกิดขึ้นได้ หรือเวลาเจอปัญหาในต่างประเทศก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะกลัวเรื่องค่าบริการ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรทำ คือ การศึกษาข้อมูลให้ดีอย่างละเอียดทั้งในส่วนของเครื่องโทรศัพท์มือถือ และโปรโมชั่นของทางบริษัทที่จะเลือกใช้บริการก็จะเป็นทางออกที่ดี สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์