เรื่องหย่อนๆ ยานๆ ของผู้หญิง


เรื่องความเสื่อมของอวัยวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคือสิ่งที่ทุกคนไม่อาจเลี่ยงได้ แต่เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่สำหรับผู้หญิงแล้วเรื่องการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานกลับเป็นปัญหาที่หลายคนไม่ยอมรับ และพยายามละเลยที่จะให้ความสำคัญ แต่คงจะดีกว่าถ้าเราเข้าใจและเรียนรู้ในการปฏิบัติตัว พร้อมทั้งมองหาทางเลือกในการดูแลรักษาที่เหมาะกับตนเองจากผู้เชี่ยวชาญ

ผศ.นพ.พิชัย ลีระศิริ สูตินรีแพทย์เชี่ยวชาญด้านรักษาโรคปัสสาวะผิดปกติและอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3 เปิดโลกปัญหาความหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานให้คุณผู้หญิงได้เข้าใจว่า กระบังลมหย่อนหรือมดลูกหย่อนหรือช่องคลอดหย่อน หรืออวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน คือความหมายเดียวกันทั้งหมด เป็นเรื่องของอวัยวะภายในสตรี ได้แก่ มดลูก ช่องคลอด ผนังช่องคลอดที่เกิดการหย่อนยานมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากสาเหตุเนื้อเยื่อที่ยึดรั้งอวัยวะเหล่านั้นเกิดความเสื่อมยืดยานออกตามกาลเวลา จึงส่งผลให้อวัยวะภายในสตรีไม่อยู่ในตำแหน่งเดิมเคลื่อนต่ำลงมาจากจุดเดิม

ปัจจัยเสี่ยงของอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน

  • อายุ ผู้มีอายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากขึ้น
  • การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลายคนและคลอดบุตรทางช่องคลอด ซึ่งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุตรที่มากขึ้นตามไปด้วย
  • กิจกรรมที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ผู้ที่น้ำหนักมากจะมีความดันในช่องท้องมาก ภาวะไอเรื้อรัง การยกของหนักเป็นประจำ สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
  • ปัจจัยด้านพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็น จะมีความเสี่ยงมากขึ้น

อุบัติการณ์การเกิดโรคมดลูกหย่อนยานในประเทศไทยนั้นมีสูง แต่การมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษากลับมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับในทางการแพทย์แล้วมดลูกหย่อนคือโรคที่ต้องดูแลรักษา

อาการของโรคเป็นเช่นไร

สำหรับอาการของโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนยานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มอาการที่เกิดจากสาเหตุมดลูกหย่อนโดยตรง ทำให้เกิดความรำคาญ เนื่องจากความระคายเคือง เพราะมีก้อนเนื้อโผล่มาที่บริเวณปากช่องคลอด มีการยื่นออกมาเมื่อทำกิจกรรมเช่น การเดิน ยืน และอาจเกิดการเสียดสี ทำให้มีอาการตกขาวเลือดออก หรือในบางครั้งต้องดันก้อนเข้าไปด้านในจึงสามารถปัสสาวะได้
  2. กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะ อาทิ กลุ่มที่มีภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด, มีอาการปวดปัสสาวะและกลั้นไม่ได้, มีอาการปัสสาวะลำบากหรือกลุ่มที่มีปัสสาวะคงค้าง
  3. กลุ่มอาการที่เกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก กลั้นอุจจาระไม่ได้
  4. กลุ่มที่มีอาการจากปัญหาทางเพศสัมพันธ์ เช่น เกิดความรู้สึกกังวลเรื่องของความหย่อนยาน หรือเกี่ยวเนื่องกับอายุที่มากขึ้นจึงอาจมีอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์

แนวทางการรักษาโรคแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • การรักษาโดยใช้พฤติกรรมบำบัด ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อรักษาความเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การรักษาภาวะไอ จามเรื้อรัง ท้องผูก เป็นต้น และเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง
  • การฝึกขมิบช่องคลอด คือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความกระชับของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและช่องคลอดเพื่อช่วยในด้านการป้องกันไม่ให้
    เป็นมากขึ้น  และอาจจะทุเลาจากอาการปัสสาวะเล็ดที่พบร่วมด้วยกับมดลูกหย่อนได้
  • การรักษาทางการแพทย์ สามารถทำได้ 2 ส่วนหลักๆ คือ
    • การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงอวัยวะอุ้งเชิงกราน (Pessary) เป็นการรักษาภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ด้วยวิธีการพยุงช่องคลอดไม่ให้หย่อนโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวก แต่ต้องทำความสะอาดอย่างถูกวิธีเป็นประจำ
    • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมมดลูกหย่อน ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า อวัยวะที่เกิดการหย่อนนั้นมี 2 ส่วน คือส่วนของมดลูกและส่วนของผนังช่องคลอด ซึ่งในกรณีเกิดการหย่อนยานจากมดลูก สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอด ส่วนกรณีที่เกิดการหย่อนในส่วนของผนังช่องคลอดจะสามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเย็บซ่อมแซมผนัง
      ช่องคลอดให้ตึงกระชับขึ้นหรือที่เรียกว่าการทำรีแพร์(repair) ทั้งผนังช่องคลอดด้านหน้าและหรือด้านหลังแต่มีข้อเสียคืออาจกลับเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะส่วนของผนังช่องคลอดด้านหน้า ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาการผ่าตัดไปอีกขั้นด้วยการผ่าตัดทดแทนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม การผ่าตัดรีแพร์หรือซ่อมแซมกระบังลมโดยใช้เส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของคุณหมอคงทำให้คุณผู้หญิงคลายกังวลไปได้มาก เพราะคุณสามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองร่วมกับแพทย์ผู้รักษาได้ แค่เพียงตัดสินใจไปพบแพทย์เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ


เรื่องหย่อนๆ ยานๆ ของผู้หญิง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์