เล่นเน็ตมาก วัยรุ่น มีพฤติกรรมเสี่ยง

เล่นเน็ตมาก วัยรุ่น มีพฤติกรรมเสี่ยง


เตือนการใช้เวลาออนไลน์มากเกินไปอาจชักนำวัยรุ่นไปหายาเสพติดหรือเซ็กซ์โดยไม่ได้ป้องกัน นอกจากนั้น การหมกมุ่นกับการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ยังอาจบั่นทอนความจำระยะสั้นในผู้ใหญ่

งานวิจัยชิ้นแรกมาจากมหาวิทยาลัยควีนส์ในแคนาดา ที่พบว่าวัยรุ่นที่ใช้เวลาวันละ 4.5 ชั่วโมงขึ้นไปในการเล่นเน็ต มีแนวโน้มมากขึ้น50% ที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า สูบกัญชา ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

วาเลรี คาร์สัน ระบุว่างานวิจัยนี้อิงกับทฤษฎีการรับรู้ทางสังคม ที่บ่งชี้ว่าคนเราเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ จากการเห็นคนอื่นทำพฤติกรรมนั้นๆ

คำอธิบายเรื่องนี้ก็คือ โฆษณาจำนวนมากที่เคยปรากฏในทีวีบัดนี้มาโชว์อยู่ในอินเทอร์เน็ตอุ่นหนาฝาคั่ง รวมถึงการที่วัยรุ่นใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น และระบบเซ็นเซอร์ในอินเทอร์เน็ตยังไม่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเท่าในทีวีหรือวิดีโอเกม

"พ่อแม่อาจใช้โปรแกรมควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่เด็กสมัยนี้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เท่ากับว่าการควบคุมแบบนี้ไม่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์ได้"

รายงานที่อยู่ในเจอร์นัล ออฟ พรีเวนเททีฟเมดิซิน ชี้ว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าวัยรุ่นเข้าถึงเนื้อหาประเภทใดโดยเฉพาะ เพื่อปรับปรุงแนวทางเกี่ยวกับเวลาในการเล่นเน็ตสำหรับเยาวชน

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ได้ข้อสรุปว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่อาจเป็นอันตรายต่อสมองจากการระดมอัดข้อมูลแก่ผู้ใช้มากเกินไป

การพัฒนาสมาร์ทโฟนที่ทำให้เราเชี่ยวชาญการทำงานหลายอย่างพร้อมกันมากขึ้น เพราะต้องสลับระหว่างข้อความ อีเมล และการทวีต ทว่า ล่าสุดพบหลักฐานบ่งชี้ว่า การเรียกร้องให้ต้องรับมือกับแหล่งข้อมูลมากมายพร้อมกันและอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการคัดกรองข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องและจัดลำดับความสำคัญของเราเสื่อมลง

ก่อนหน้านี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนีย พบว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมกันเป็นเวลานานๆ บั่นทอนความจำระยะยาว

แต่ขณะนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สรุปว่าพฤติกรรมดังกล่าวบั่นทอนความจำระยะสั้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในหมู่คนอายุมาก

การทดลองของนักวิจัยทีมนี้พบว่าผู้ทดสอบได้คะแนนต่ำมากเมื่อต้องทำหลายภารกิจพร้อมกัน บ่งชี้ว่าคนเหล่านั้นถูกหันเหความสนใจโดยข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในเรื่องการเสพติดเทคโนโลยี โดยผู้ที่ใช้บ่อยๆ อาจไม่สามารถหยุดเช็กข้อความหรือส่งอัปเดตทุกครั้งที่มีโอกาส

หนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโก โครนิเคิลที่รายงานผลศึกษานี้ ยังอ้างอิงงานวิจัยอีกฉบับที่แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน หนุ่มสาวใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง 38 นาทีกับสื่อบันเทิง โดยใช้ผ่านมากกว่าหนึ่งช่องทางขึ้นไป ทำให้รวมแล้วได้รับข้อมูลถึงประมาณวันละ 10 ชั่วโมง 45 นาที

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้นักวิจัยบางคนเรียกร้องให้ "ไดเอ็ทเทคโนโลยี" เพื่อป้องกันการได้รับข้อมูลล้นทะลักเกินไป




ที่มา ThaiHealth

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์