โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์





      คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีกระแสร์พระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณเขตจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร (ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) เดิมที่มีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" (Diversion) ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวถึงโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ว่า " โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กรมชลฯสนองพระราชดำริในองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานพระราชดำริ ให้ปรับปรุง คลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่ ต.บางกระเจ้า จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 10-15 ม.ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นทางลัดของน้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก รวดเร็ว ขึ้น โดยช่วยลดระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กม.ให้เหลือเพียง 600 ม. รวมทั้ง ลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก 5 ชม.ให้เหลือเพียง 10 นาที เท่านั้น ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งใน กทม.และ ปริมณฑล จากสภาวะน้ำเหนือไหลหลากในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการฯนี้สามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งผลการดำเนินการระบายน้ำ ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.-15 พ.ย.2553สามารถระบายน้ำได้โดยรวมประมาณ 2,470 ล้าน ลบ.ม.ถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่มากในระดับหนึ่งที่ระบายลงสู่อ่าวไทยได้

โครงการฯนี้ ยังมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ โดยกรมชลฯร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ ทำการศึกษา วิจัย และ นำไปขยายผล เพื่อพัฒนา ผลิตกังหันพลังน้ำ ติดตั้งในประตูระบายน้ำต่างๆทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ทั้งยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนประหยัดพลังงานอื่นให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาลด้วย โดย ม.เกษตรศาสตร์ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และ ชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ในพระปรมาภิไธยคาดว่าจะประกาศได้ในเร็ววันนี้ และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป "

นอกจากนี้ ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีศักยภาพในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาและวิจัย โดยการประดิษฐ์กังหันไฟฟ้าพลังน้ำไหลต้นแบบขึ้นมา 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) โดยใช้ใบพัดต้นแบบที่วิเคราะห์และผลิตขึ้นแบบหมุนตามแนวแกนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และใบพัดแบบหมุนขวางการไหลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ยาว 2.50 เมตร ที่ความเร็วน้ำออกแบบ 2 เมตรต่อวินาที จะทำให้ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 กิโลวัตต์ โดยได้ดำเนินการประกอบและติดตั้งกังหันทั้ง 2 แบบกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้นลงได้บริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เพื่อทำการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าผลปรากฏว่า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดถึง 5.74 กิโลวัตต์ สูงกว่าที่ได้วิเคราะห์และคำนวณออกแบบไว้

ตัวอาคารประตูระบายน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องประตูระบายน้ำที่ติดตั้งบานระบายน้ำ 4 ช่อง กว้างช่องละ 14 เมตร โดยฤดูแล้งจะปิดบานระบายน้ำตลอดฤดู ส่วนฤดูน้ำหลากปิดบานประตูเมื่อน้ำทะเลกำลังขึ้น และเปิดบานประตูในช่วงที่น้ำทะเลกำลังลง เริ่มก่อสร้างเมื่อ 13 พ.ย. 2545 เสร็จ มิ.ย. 2549 งบประมาณ 509 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเป็นประตูระบายน้ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยออกแบบเป็นกังหันพลังน้ำอาศัยพลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำ ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคราวน้ำท่วมปี พ.ศ. 2548 เมื่อ 4 ธันวาคม 2549 ถึงการบริหารจัดการน้ำของคลองลัดโพธิ์ว่า
"สมเด็จพระบรมฯ กับสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง"

"ที่พระประแดง ที่มีอุปกรณ์ที่เวลาน้ำขึ้น กักเอาไว้ แล้วเวลาน้ำลง ปล่อยให้ลง คือ ที่คลอง คนแก่จำไม่ได้แล้ว และได้ทำโครงการที่จะปล่อยน้ำไปได้ เวลาน้ำลง แล้วก็เวลาน้ำขึ้นก็ปิดเอาไว้ ดังนั้น คลอง 600 เมตร ถ้าเปิด มันก็ทะลักเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าปิด น้ำจะอ้อมไป นี่วิธีที่จะบริหารน้ำให้ดี ก็คือ วิธีการให้ทราบว่าเวลาไหนน้ำกำลังขึ้น ปล่อยให้ออกไป พอไปทางคลองเตย กว่าจะถึงตรงปลาย น้ำก็ลง พอน้ำขึ้นเป็นเวลา แล้วเวลาลงเป็นเวลา แต่ว่าเวลาน้ำขึ้น เขียนเอาไว้ว่าขึ้นเวลานั้นๆ สูง 2 เมตร 2 เมตรกว่า เวลาน้ำลง น้ำก็จะลง ลงไป ทำให้เป็นจังหวะ ถ้าไม่ได้จังหวะ เปิดประตูน้ำเวลาน้ำขึ้น มันก็ทะลักเข้ามา ก็เข้ามาอาจจะท่วมได้ น้ำอาจจะขึ้นไปสูงกว่า 2 เมตร น้ำมันขึ้น 2 เมตร 20 - 2 เมตร 30 แต่ว่าถ้าเราปิดในเวลานั้น น้ำก็ไม่ทะลักมาในถนนในกรุงเทพฯ เวลาน้ำลงก็ปล่อย หมายความว่า ต้องให้ตรง มันเป็นเวลา ถ้าทำเป็นเวลาแล้วน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ ก็ต้องท่วม แต่ว่าถ้าไม่ทำให้ถูกต้อง ถูกเวลา ถ้าฝนตกด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่น่าจะฝนตก แต่ว่ามีฝนตกน้ำท่วม ถ้าน้ำท่วมรถแล่นไปก็จมน้ำ ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้เขาต้องทำ บอกเขา เขาทำให้ ปล่อยน้ำเวลาน้ำมันลง น้ำขึ้นก็กักเอาไว้ มีทุกอย่าง มีแห่งเดียวที่มีอุปกรณ์ ที่อื่นก็ควรจะทำ รอมาหลายปีแล้ว ควรจะทำได้ แต่ต้องลงทุนไม่ใช่น้อย ข้อสำคัญต้องลงแรง ตามคลองชายทะเลก็เคยมี เมื่อ 9 ปี เมื่อปี 38 ส่งองครักษ์ไปดู ไปดูส่วนมากเป็นตอนกลางคืน เห็นคนนอนหลับสบายที่ชายทะเล ปกติไปทางใต้เพราะว่า จะเปิดไหม เพราะว่าเขาไม่ได้บอกให้เปิดก็ไม่ปิด ปิดหรือเปล่า เขาไม่ได้บอกให้ปิด น้ำทะลักเข้ามาก็ท่วมในคลอง คลองก็มาท่วม จากชายทะเลแต่ถ้าทำถูกจังหวะน้ำไม่เกิด ตอนที่ทำทางฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่รู้เรื่องว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ชายทะเล ที่นอนสบายเขาบอก คุณมาจากไหน รู้ได้อย่างไร น้ำขึ้นจริงๆ นะ เขานึกว่า ทำไมมาบอก รู้ว่าขึ้นทำไมไม่ปิด รู้ว่าลงไม่เปิด แล้วเขาถาม เป็นนายพล นายพลมาจากไหน มาจากในวัง ก็เลยเข้าใจว่ารู้เรื่อง ทำไมรู้เรื่อง เขาก็เชื่อ แต่ว่านายไม่เชื่อ นายผู้ใหญ่ต่างๆ เขาไม่ได้สั่งว่าเวลานั้นเวลานั้นต้องเปิดต้องปิด ที่ต้องเปิดต้องปิดเวลานี้ เพราะว่าน้ำไม่คอยใคร น้ำขึ้นน้ำลง ท่านเป็นทหารเรือก็รู้เรื่องว่าน้ำขึ้นลงเวลาไหน ต้องรู้ น้ำขึ้น น้ำลง แล้วช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ตัวเขานอนสบายแต่ว่าคนที่อยู่ข้างในทุกข์ ฉะนั้น เดี๋ยวนี้ยังมีเวลาที่จะแก้ไข ไม่อย่างนั้นถึงปีใหม่น้ำก็ท่วมอีก ก็เลยบอกว่าท่านที่มีหน้าที่ไปดู เราต้องไป เขาไม่เห็นแต่อย่างไรก็น่าจะไป 2 วัน 3 วันนี้ ก็จะไปดู เพราะว่ายังจำเป็นที่จะดู แต่ว่าเห็นเป็นอย่างนี้ อาจจะไปไม่ได้ ปวดหลัง ก็เลยไม่ได้ไป แต่ที่สมเด็จพระบรมฯ กับสมเด็จพระเทพฯ ไป มันต้องมีเรื่องเวลาให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง ทางกรมชลประทาน บอกว่า ปลายปีก็หมดแล้ว ปลายปีนี้ยังมีอีกเดือน แล้วฝนก็ยังไม่หมด ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเชื่อว่า มันจะไม่ช้าเกินไป จวนจะหมดฤดูกาลแล้ว แต่ว่ามาพูดเพราะว่าที่ผ่านมาพูดไม่มีใครได้ยิน เสียงมันแหบ วันนี้เสียงนับว่าดี ได้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรสำหรับในน้ำท่วม"


พระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 4 ธันวาคม 2549




ขอบคุณข้อมูลจาก
wikipedia และ oknation

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์