หักหอกเป็นดอกไม้

หักหอกเป็นดอกไม้


มนุษย์ทุกคนย่อมต้องเคยประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือสิ่งที่ไม่ชอบใจที่ทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ก็มีความทุกข์จำนวนไม่น้อยที่เกิดจากความคิดของเราเอง

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าชิคาโก ได้เมตตาชี้แนะการเอาทุกข์ออกจากใจด้วยการ "หักหอกเป็นดอกไม้" หมายถึง การไม่นำความผิดปกติภายนอกมาทำลายความปกติภายใน หรือความปกติของใจเรานั่นเอง

หลักในการหักหอกเป็นดอกไม้ก็คือ เอาความรู้สึกตัวใส่เข้าไปในความเคยชิน มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ แม้เมื่อเผลอไปก็ตามรู้ว่าเผลอไป เพราะเวลาที่คนเรามีปัญหา เรามักจะหลงคิดไปต่างๆ จึงเกิดทุกข์ เช่น เวลามีใครมาด่าเราว่า "ควาย" การด่าหรือคำด่าก็คือเสียง คือธาตุลมมากระทบกับธาตุดินคือหูของเรา แต่พอเราไม่มีสติ มีอวิชชา (ความไม่รู้) อยู่ภายใน เราก็เผลอไปปรุงเสียงนั้นต่อ ธาตุไฟหรือความโกรธจึงเกิดขึ้นเพราะเราไปดึงอดีตมาขบเคี้ยว (คิด) ให้ตัวเองเป็นทุกข์ เหมือนมีคนเอาเข็มมาจิ้มเราแล้วก็หนีหายไป เราดึงเข็มออกมาแล้วก็ร้อง อุ๊ย เจ็บ เจ็บ แต่พอสักพักเราก็จิ้มตัวเองใหม่แล้วก็ร้อง เจ็บ เจ็บ แล้วก็จิ้มใหม่เจ็บใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คนส่วนใหญ่มักเคยชินในการเอาเข็มความคิดที่เจ็บปวดมาจิ้มตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า!

สิ่งที่เขาด่าเราจบกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่เราไม่ยอมจบ กลับคิดวนเวียนถึงสิ่งที่เขาว่าเรา เหมือนเราด่าตัวเองเป็นร้อยพันครั้ง โคลนนิงคำว่า "ควาย" เป็นทวีคูณ พอเช้าวันต่อมาเราก็ลาก "ควายทั้งฝูง" ติดตัวออกจากบ้านไปด้วย พอเห็นหน้าคนที่มาว่าเรา เราก็โกรธ เอาเรื่องที่เขาว่าเราเมื่อวานมาโกรธต่อ อย่างนี้เปรียบเหมือนคนที่ชอบกินของบูดของเน่า ความโกรธยังเป็นอารมณ์ของผู้มีปัญญาทรามซึ่งพ่ายแพ้ต่อกิเลส หากคนอื่นพ่ายแพ้ต่อกิเลสมาว่าเราก่อน เราจะยอมพ่ายแพ้ตามเขาด้วยการโกรธหรือ?

ทำเช่นนี้ก็พ่ายซ้ำสอง พ่ายแล้วพ่ายอีก พ่ายยับเยิน!

วิธีการหักหอกเป็นดอกไม้ก็คือ "รู้เฉยๆ" ไม่ว่าที่เขาว่ามาจะจริงหรือไม่ แต่เราไม่ควรโกรธ เอาความรู้สึกตัวใส่เข้าไปในความเคยชิน อะไรเกิดก็รู้อย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรต่อ
พระอาจารย์ กล่าวว่า "เมื่อจิตไหลให้รู้ดูที่จิต หลงครุ่นคิดก็ให้รู้ดูเอาไว้ เมื่อจิตเผลอก็ให้รู้ดูเข้าไป ผลสุดท้ายมีแต่รู้ ‘กู' ไม่มี" คือ มีแต่ตัวรู้ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน และดับไป แต่ "ตัวกู" ที่จะเข้าไปยึดให้เกิดทุกข์นั้นไม่มี จะเห็นได้จากพระอริยบุคคลทั้งหลาย ยิ่งบรรลุธรรมขั้นสูงยิ่งทุกข์น้อยลง จนกระทั่งเมื่อเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีทุกข์เลย ไม่มีทุกข์นี้หมายความว่าไม่มีทุกข์ทางใจ แม้จะยังมีทุกข์ทางกาย เช่น ความปวดเมื่อยเหนื่อยหิว หรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ตาม

พระอาจารย์ให้หลักปฏิบัติไว้ว่า "คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ และคิดก่อนคิด" คิดก่อนคิด หมายถึง ยับยั้งการคิดที่จะสร้างวิบากกรรมหรือสร้างทุกข์แก่ตนเอง
หากเราไปเจอคนที่เราเกลียดก็เพียงแต่รู้ว่าเจอ ไม่ต้องไปคิดต่อ ในทางกลับกันต้องขอบคุณเขาที่เป็นเสมือนอาจารย์ของเรา ทำให้เราได้เห็นอาการของจิตที่ชอบไปหาเรื่อง เพราะมีคนหรือสิ่งที่เราเกลียด เราจึงเห็นความสำคัญของการฝึกจิต บางคนเรียนจบสูง แต่ทางจิตใจยังเป็นเด็ก กระทบอะไรเล็กน้อยก็หวั่นไหว ใครแหย่ก็โกรธ เกลียด น้อยใจ เบื่อ เซ็ง ฟุ้งซ่าน ฯลฯ นานๆ เข้าไม่ต้องมีใครมาแหย่ก็ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปกับอารมณ์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เป็นทุกข์ได้เก่ง เพราะไม่เข้าใจเรื่องการฝึกจิตนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิตให้มีความสุข มีความสบาย หากเผลอไปคิดเรื่องที่จะทำร้ายตัวเองก็ต้องรู้สึกตัวว่าเผลออยู่เรื่อยๆ หากเราต้องการความสุข ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไหร่จะมีความสุข เพราะเราสามารถมีความสุขได้เดี๋ยวนี้ ที่นี่ ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดี ผู้ที่ปฏิบัติภาวนาก็ขอให้ความสุขกับการภาวนา อย่าไปรอความสุขจากผลของการภาวนา เพราะเราไม่รู้ว่าผลจะเกิดเมื่อใด ท่านที่ต้องการทวิตธรรม ทวิตบุญ เชิญติดตามสาระดีๆ ได้ที่ http://twitter.com/dc_danai แล้วพบกันในทวิตภพครับ!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์