สันติธรรม...(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

สันติธรรม...(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงซึ่งสันติธรรมแก่
โธตกมาณพ จึงตรัสพระคาถาว่า...ยํ กิญฺจิ สญฺชานาสิ โธตก
อุทฺทํ อโธ ติโญฺญาปิ มชฺเฌ เอตํ วิทิตฺวา สงฺโคติ โลเก ภวาภวาย
มากาสิ ตณฺห....แปลความว่า ดูกรโธตกะ ท่านมากำหนดรู้หมาย
รู้ซึ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเป็นเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถาน
กลางว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก เครื่องเกี่ยวสัตว์ไว้ในโลกดังนี้
แล้ว อย่าได้ทำซึ่งตัณหา ความปรารถนาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย
ดังนี้

อธิบายว่า ท่านมารู้แจ้งสัญญาณนี้ด้วยปัญญาว่า เป็นเครื่องข้อง
เครื่องติดอยู่ในโลกดังนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาความปรารถนาเพื่อ
ภพน้อยภพใหญ่เลย ส่วนคำว่าเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางสถาน
กลางในพระคาถานั้น มีนัยอธิบายเป็นหกนัยเช่นเดียวกับเรื่องวิเวก
ธรรมที่กล่าวมาแล้ว(หมายเหตุ: วิเวกธรรม...ในกระทู้)

ทรงแสดงที่อาศัยแห่งกิเลสปปัญจธรรมมีสัญญาเป็นนิทานว่า...
ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันทำให้สัตว์เนิ่นช้าสามประการนี้ มีสัญญาความ
สำคัญหมายเป็นเหตุให้เกิด เมื่อบุคคลมาสำคัญหมายในส่วนอดีต
อนาคต ปัจจุบัน สุข ทุกข์ อุเบกขา กุศลากุศล อัพยากฤต สามธาตุ
สามภพ ด้วยประการใดๆ ปปัญจสังขาร ที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา
มานะ ทิฏฐิ บังเกิดกล้าเจริญทวีขึ้นด้วยประการใดๆ ทำให้บุคคลเกิด
ความเห็นถือมั่นด้วยตัณหาว่า...เอตํ มม นั่นเป็นของเรา ถือมั่นด้วย
มานะว่า...เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั่น ถือมั่นด้วยทิฏฐิว่า...เอโส เม. อตฺตา
นั่นเป็นตัวตนแก่นสารของเรา

ดังนี้แล้วก็ข้องอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ด้วยฉันทะราคะ สเน่หาอาลัยผูกพัน
จิตใจไว้ไม่ให้เปลื้องปลดออกได้ สัญญาอันเป็นนิทาน เป็นเหตุเกิดแห่ง
ตัณหา มานะ ทิฏฐิก็ดี ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันเกิดแต่สัญญานั้นก็ดี สงฺโค
เป็นเครื่องข้องเครื่องติด เครื่องเกี่ยวสัตว์ไว้ในโลกไม่ให้พ้นไปได้..เอตํ
วิทิตฺวา สงฺโคติ โลเก ท่านรู้แจ้งประจักษ์ว่า สัญญาเป็นเหตุแห่งตัณหา
มานะ ทิฏฐิ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ มีสัญญาเป็นเหตุดังนี้แล้ว ท่านอย่าได้
ทำตัณหา คือความปรารถนาดิ้นรน ด้วยจำนงหวังต่างๆเพื่อภพน้อยภพ
ใหญ่เลย

ท่านจงหยั่งญาณรู้ชั่งด้วยตราชู คือปัญญาแล้วเห็นประจักษ์แจ้งชัดว่า
เป็นเครื่องผูกจำ เป็นเครื่องเกี่ยวสัตว์ไว้ในโลก ท่านอย่าได้ทำซึ่งตัณหา
เพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย ตัณหาอันเป็นไปในอาหารวิสัยคือรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แตกต่างโดยอาการปวัฏฏิเป็น 3 ประ-
การคือกาม ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๖ หมู่ตามอารมณ์สาม
อย่างตามอาการที่เป็นไปในภพ เป็นธรรมอันเกิดอีก เกิดขึ้นเป็นไปพร้อม
กับทุกข์ คืออุปทานขันธ์ ท่านอย่าได้ทำตัณหานั้น เพื่อภพน้อยภพใหญ่
เลย ท่านจงละตัณหานั้นเสียจงบรรเทาเสีย ทำตัณหานั้นให้มีที่สุด ท่าน
จงยังตัณหานั้นให้ถึงซึ่งอันจะยังเกิดตามไม่ได้ ท่านจงละตัณหานั้นด้วย
สมุจเฉทปหานเถิด...ฯ

~ขอนอบน้อมแด่คุณพระไตรสรณะทั้งสาม~

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์