ยารักษาใจ

ยารักษาใจ

ยารักษาใจ

เมื่อไม่นานมานี้มีเพื่อนรุ่นน้องที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ
เข้ามาปรึกษาเรื่องการหางานทำ ฉันจำได้ตั้งแต่ตอนที่รู้จักกันใหม่ๆ
ว่าเขาเรียนสถาบันไหน ก็พลั้งปากให้กำลังใจว่า
ลำพังปริญญาบัตรกับชื่อสถาบันก็เป็นบัตรผ่านของน้องได้ดีอยู่แล้ว
ไปที่ไหนเขาก็คงต้อนรับ น้องชายผู้นั้นบอกแกนๆว่า

แต่ไม่รู้ว่าทำงานไปแล้วจะเข้ากับคนอื่นได้ดีหรือเปล่าสิพี่
ในจังหวะนั้น ฉันไม่ได้เปิดประเด็นต่อในข้อสันนิษฐานที่เขาตั้งขึ้น
(จะว่าไปก็เป็นเพียงอารัมภบทที่ไม่สืบเนื่อง)
บทสนทนาจึงเปลี่ยนเป็นเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนคนอื่นๆในกลุ่ม
แต่ฉันกลับระลึกถึงคาถาที่ได้รับมาจากแม่ชีในวัดป่าแห่งหนึ่ง

คาถานี้สำคัญมาก ไปที่ไหนก็ปลอดภัยทุกที่ จำไว้นะลูก เม กุ มุ อุ
จำได้ว่าวันนั้นเพื่อนที่ไปด้วยกันในกลุ่มพากันทำหน้าเหรอหรา หนึ่งในนั้นโพล่งถามออกไปว่า
ภาษาเขมรหรือคะแม่ชี
แม่ชียิ้มอย่างอารมณ์ดีแล้วตอบว่า ไม่แน่ใจเหมือนกัน
แต่เป็นคาถาที่บอกกันมาปากต่อปาก มาถึงรุ่นของแม่ชีอาจจะมีผิดเพี้ยน
แต่ถ้าจำที่มาของคำแต่ละคำและนำไปประพฤติปฏิบัติได้
จะปลอดภัยกว่าหลายเท่า อยากฟังที่มาของแต่ละคำไหม
เวลานั้น สหายที่ไปด้วยกันต่างพยักหน้าอย่างพร้อมเพรียง

เม มาจากคำว่า เมตตา แปลว่าปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
เช่น เราเป็นเพื่อนกับใคร ก็หมั่นดูแลเอาใจใส่เขา ให้เขามีความสุข
อยู่ใกล้เราแล้วเขาสบายใจ ใครๆก็อยากอยู่ใกล้
กุ มาจากคำว่า กรุณา แปลว่าปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
เช่น เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อน เรามีน้ำใจช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ร้อนนั้น
แต่ก็ไม่ใช่ช่วยเหลือเขาจนตัวเองเดือดร้อนนะ ข้อนี้ต้องระวัง
มุ มาจากคำว่า มุทิตา แปลว่า ยินดีที่ผู้อื่นเป็นสุข
เช่น เวลาเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
เราก็ไม่อิจฉาริษยา มีความยินดีไปกับเพื่อน
อุ มาจากคำว่า อุเบกขา แปลว่า ความเป็นกลาง
เป็นยาดำที่เอาไปแทรกได้ในทุกคาถาข้างบน เช่น ข้อกรุณา
เวลาไปเห็นเพื่อนบางคนจมอยู่กับความทุกข์มากๆ ก็ช่วยปลอบใจเขาได้
แต่ไม่ใช่พลอยทุกข์ใจไปกับเขาจนตัวเองเดือดร้อน ข้อมุทิตา
การที่เราจะยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุขได้ ก็ต้องเริ่มจากใจที่เป็นกลาง
ไม่ใช่ข้างในทุกข์ร้อนที่ตัวเองไม่ได้ดีเท่าเขา แต่ข้างนอกแกล้งทำเป็นยินดีด้วย
อย่างนั้นเรียกว่าหน้าชื่นอกตรม ไม่ใช่มุทิตาของแท้... ของแท้ต้องมีอุเบกขานะ

แม่ชีย้ำ

เมตตา... กรุณา... มุทิตา... อุเบกขา...

เหล่าสหายพากันพึมพำเกือบพร้อมๆกัน แม่ชียิ้มอารมณ์ดีเหมือนเดิม

นึกออกกันแล้วใช่ไหม คาถาที่ว่า ก็คือคาถาพรหมวิหารของพระพุทธศาสนานั่นเอง

เสียงของแม่ชีหายไปเหมือนกลุ่มควันจากห้องครัวที่กำลังทำอาหาร
เพื่อนในกลุ่มเริ่มสลายตัวกันไปคนละทิศละทาง
ฉันหันไปมองหาเพื่อนรุ่นน้องคนนั้นอีกครั้ง
ตั้งใจว่าจะให้บัตรผ่านอีกใบเวลาเข้าไปทำงาน

บัตรนี้ไม่ต้องซื้อขาย เพียงแต่รับไปด้วยใจที่แน่วแน่
อย่าว่าแต่สถานที่ทำงานในโลกกลมๆที่วุ่นวาย
ต่อให้พกไปสวรรค์ชั้นฟ้าหรือพรหมโลก
ก็เดินเข้าได้ง่ายเหมือนใช้บัตร smart card

คุณผู้อ่านเองก็เถิด
รับสักใบไหมคะ... :)

ที่มา : ธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 89  โดยวิลาศินี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์