กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย
น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกัง
โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ
มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกังฯ
(ขุ.ชา. ๒๗/๘๘)
ควรเปล่งเฉพาะถ้อยวาจาที่งดงาม
ไม่ควรเปล่งถ้อยวาจาหยาบช้าชั่ว
พูดจาไพเราะย่อมสำเร็จประโยชน์
พูดจาหยาบช้าย่อมเดือดเนื้อร้อนใจ
วาจาพาทีเพราะ.........แสนไพเราะเสนาะหู
พริ้งเพริศช่วยเชิดชู....ชุ่มชื่นจินต์ยิ่งยินดี
วาจาหยาบช้าชั่ว........จะเจ็บตัวปากเป็นสี
พูดจาหรือพาที..........ทบทวนดูให้รู้จริง
พูดดีไม่มีโทษ............เกิดประโยชน์อย่างยวดยิ่ง
พูดชั่วคนชังชิง..........ใช่แน่นอนเดือดร้อนตน
เยน เกนจิ วณฺเณน
ปโร ลภติ รุปฺปนัง
มหตฺถิยมฺปิ เจ วาจัง
น ตัง ภาเสยฺย ปณฺฑิโตฯ
(ขุ.ชา.๒๗/๑๐๔๖)
คนอื่นเกิดความโกรธเคืองแค้น
เพราะถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง
แม้มันจะมีประโยชน์มิใช่น้อย
บัณฑิตก็ไม่ปราศรัยถ้อยคำนั้น
ถ้อยคำไม่พินิจ............ไปสะกิดต่อมโทสา
คนฟังเกิดโกรธา..........ปะทุเดือดขึ้นทันที
แม้มีประโยชน์มาก......คนเดินจากส่ายหน้าหนี
หยุดพูดเป็นการดี.........ดื้อดึงกล่าวร้าวใจกัน
บัณฑิตรู้อย่างนี้.............หยุดวจีที่หุนหัน
ราบเรียบอยู่เงียบงัน......งดพูดจาไม่พาที
อญฺญัง ภณติ วาจาย
อญฺญัง กาเยน กุพฺพติ
วาจาย โน จ กาเยน
น ตัง ธมฺมัง อธิฏฺฐิโตฯ
(ขุ.ชา.๒๗/๘๙๖)
พูดทางวาจาอย่างหนึ่ง
ทำทางกายอีกอย่างหนึ่ง
ประพฤติธรรมทางวาจา
ไม่ประพฤติธรรมทางกาย
มันไม่ตั้งอยู่ในธรรมเลย
พูดจาว่าอย่างหนึ่ง...........ไม่ซาบซึ้งตราตรึงหนอ
เพียงพร่ำเพรื่อสอพลอ.....พูดแต่ปากไม่อยากทำ
เวลาทำอย่างหนึ่ง.............หาพรั่นพรึงพลันล่วงล้ำ
ชั่วเฉยไม่เคยจำ................วาจาพร่ำพูดร่ำไป
ประพฤติธรรมด้วยปาก....มันจะยากเย็นที่ไหน
กายเมินเหินห่างไกล........รับรองไม่ตั้งในธรรม
บทพระคาถา จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ขุททกนิกาย ชาดก พร้อมกับกาพย์ยานี ๑๑ ของ
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ จากหนังสือขุมทรัพย์จากพระไตรปิฎก
ที่มา dhammajak