กรรมที่ทำให้มีโรคน้อย

กรรมที่ทำให้มีโรคน้อย




 กรรมที่ทำให้มีโรคน้อย

ถาม : (เกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ)
ตอบ : มีข้อคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ได้สร้างกรรมไว้ก็ไม่ต้องไปกลัว ตรงนี้มันสำคัญที่ว่ามันมีหรือที่ไม่ได้สร้างกรรมไว้เลย?

ถาม : ก็คือ ถ้ารักษาได้ก็รักษา รักษาไม่ได้ก็ปล่อย
ตอบ : จริง ๆ ร่างกายของเรามันปรับได้ เพียงแต่ว่าบางอย่างมันก็แรงเกินกว่าจะปรับไหว พอเขาปรับได้ก็กลายเป็นภูมิต้านทาน

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ตัวอย่างเรื่องนี้ต้องดูตัวอย่างพระพากุละเถระ

พระพากุละเถระเป็นพระที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในพระไตรปิฎก คือ อายุ ๑๕๐ ปี แล้วท่านเบื่อ อยู่นานเกิน ท่านก็เลยตัดสินใจเข้าสมาบัติแล้วไปเลย เราก็มานึกถึงอายุ ๑๕๐ ปี ก็น่าจะประมาณช่วงอายุ ๓ คนเป็นอย่างน้อย คนที่ล้อมรอบข้าง เหมือนกับว่าห่างไกลมาก สมมติตอนแรกก็มีพ่อแม่พี่น้อง ถัดไปก็รุ่นลูกรุ่นหลาน รุ่นเหลน ไล่ไปเรื่อย เหมือนกับความสัมพันธ์มันจืดจางห่างไปเรื่อย ๆ คนที่อยู่ไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนตั้งแต่แรก ใครที่คิดว่าอายุยืนนี่เป็นของดี ไม่ใช่ของดีหรอก

พระพากุละเกิดมา พี่เลี้ยงเอาไปล้างตัวที่ริมแม่น้ำ ปลาใหญ่ก็โผล่มาฮุบตูมไปเลย ท่านบอกว่าด้วยแรงบุญทำให้ปลานั้นกระวนกระวาย ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งได้ ว่ายเตลิดเปิดเปิงข้ามเมืองไปติดข่าย โดนเขาจับขึ้นมา คนใช้บ้านเศรษฐีเห็นว่าปลาใหญ่เหลือเกินน่าเอาไปให้เจ้านาย ก็เลยซื้อไปทำอาหาร พอเอามีดกรีดท้องปลา เด็กก็ดิ้น ปรากฏว่าเด็กไม่เป็นไรเลย เรื่องของบุญรักษา ถ้าเป็นคนอื่นอย่างน้อยก็โดนย่อยเปื่อยไปครึ่งตัวแล้ว

ทีนี้คนก็แตกตื่นกันทั้งเมือง ว่าเด็กอะไรอยู่ในท้องปลา ข่าวก็ลือไปถึงบ้านเกิดของพระพากุละ พ่อแม่ก็ตามมาทวงลูก ทางด้านนี้ก็ไม่ให้เพราะไม่เคยมีลูก จู่ ๆ มีคนประทานมาให้ เรื่องอะไรจะคืน

คราวนี้เศรษฐีสมัยก่อนบริวารเยอะมาก อย่างธนัญชัยเศรษฐีพ่อของนางวิสาขา สร้างเมืองทั้งเมืองเพื่อให้บริวารตนเองอยู่ คือ เมืองสาเกต

เมื่อเป็นดังนั้น ทั้งสองฝ่ายก็เลยมีการยกทัพเพื่อจะเอาตัวพากุละกุมาร ต่างคนต่างพาลูกน้องมาด้วย พระเจ้าแผ่นดินท่านก็เลยต้องมาไกล่เกลี่ย ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า ผลัดกันเลี้ยงคนละสามเดือน เขาก็เลยตั้งชื่อว่า พากุละกุมาร แปลว่า กุมารสองตระกูล (คำว่า พา , วา , ทวา มาจากรากศัพท์เดียวกัน แปลว่า สอง)

ความที่ท่านสร้างบุญมาแต่เดิม ทำให้ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย แต่ว่าบุญบารมีที่ท่านทำมา ทำให้ท่านเห็นทุกข์ ก็เลยบวชกลายเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตั้งไว้เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้เป็นเลิศกว่าผู้อื่น ในฐานะที่เป็นผู้มีโรคน้อย

ในบาลีบอกว่านอกจากความหิว ความกระหายซึ่งถือว่าเป็นโรคประจำกายแล้ว โรคอื่นไม่เคยเป็นเลย แม้แต่สมอชิ้นเดียวที่จะต้องฉันเพื่อรักษาโรคก็ไม่เคย อายุยืนเหลือล้ำ ๑๕๐ ก็ยังอยู่สบาย ๆ ท่านเองก็เลยเบื่อ สอนลูกศิษย์ครั้งสุดท้ายเสร็จ ก็เข้าห้อง ทำกรรมฐานแล้วไปเลย อรรถกถาอธิบายว่า พระพากุละที่อายุยืนและมีโรคน้อย เพราะสร้างวัจกุฎีถวายพระภิกษุสงฆ์ (สร้างส้วม) สร้างส้วมเป็นการปลดทุกข์ให้คนอื่น ท่านเองก็เลยไม่ต้องทุกข์

ถ้าใครคิดจะเกิดใหม่ ก็ไปช่วยกันสร้างส้วมก็ได้นะ จะได้ไม่ต้องป่วย

พระพุทธเจ้าท่านจึงได้กล่าวว่า กรรมวิบาก (การส่งผลของกรรม) ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว อย่าเสียเวลาไปคิด ถ้าเราไม่เข้าใจในยถากัมมุตาญาณจริง ๆ จะกลุ้มใจเปล่า ๆ ว่ามันจะส่งผลอะไรได้พิลึกพิลั่นขนาดนั้น 



กรรมที่ทำให้มีโรคน้อย


เทศน์ที่บ้านอนุสาวรีย์ (ช่วงเช้า)
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒
วัดท่าขุน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์