ธรรมะระงับความโกรธ


ธรรมะระงับความโกรธ


อุบายในการระงับความโกรธ
ประการแรก อดทน อย่าให้โกรธมันใช้มือไปทุบคนโน้น ตีคนนี้ อย่าให้โกรธมันใช้ปากไปด่าคนโน้น ด่าคนนี้ ใช้ความอดทนในเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ทีนี้อุบายถ้าเราจะใช้ ก็พิจารณาถึงอกเขาอกเรา โกรธแล้วเราไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก แม้ในใจโกรธอยู่ แต่ไม่ทำสิ่งนั้นลงไป มันก็ไม่มีบาปมีกรรมอะไร ในเมื่อโกรธมันไปจนสุดฤทธิ์แล้ว มันก็หมดไปเองเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ถ้าเรามีอุบายพิจารณาว่าความโกรธมันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ เราไม่ควรโกรธเลย เอาแค่นี้ก็ได้ แต่ประการสำคัญที่สุด โกรธแล้วต้องระวัง อดกลั้น อย่าเผลอไปทำความผิดพลาดอย่างรุนแรงขึ้นมา เมื่อทำผิดพลาดลงไปแล้วจะเสียใจภายหลัง เช่น พ่อแม่โกรธลูกคว้าไม้เรียวมาเฆี่ยนมันอย่างไม่นับจนหนังมันแตกเป็นริ้วเป็นรอยเลือดสาด ในขณะที่เราทำอยู่นั้น เราอาจจะคิดว่าเราได้ทำอะไรสมที่โกรธแล้ว แต่เมื่อโกรธมันหายไปแล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้น ความเสียใจภายหลัง เดี๋ยวก็นั่งร้องไห้กอดเขา "เราไม่น่าทำเลย"



วิธีการใช้ประโยชน์จากความโกรธ
กิเลสอันเป็นเค้ามูลที่เรียกว่า อกุศลมูล มันก็มีอยู่ 3 อย่างคือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ทั้ง 3 อย่างนี้มันเป็นกิเลสที่เป็นเค้าเป็นมูล ทำให้เกิดบาปอกุศลต่างๆ แต่ในเมื่อเรามาพิจารณากันให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ทั้งสิ่งที่เรานิยมชมชอบว่าเป็นของดี หรือตำหนิประฌามว่าเป็นของไม่ดี ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กิเลสก็เป็นสิ่งที่เป็นกลางๆ ฝรั่งเขาเข้าใจเช่นนั้นว่า ความโกรธนี่ก็เป็นประโยชน์ที่จะกระตุ้นเตือนให้เขาคิดหาทำอะไรที่จะหนีความทุกข์ ความเดือดร้อนนั้นๆ ได้ เช่นอย่างโกรธความทุกข์ยากลำบากที่ต้องเดินด้วยเท้าเปล่าเหมือนอย่างสมัยโบราณ เขาโกรธความลำบาก เขาก็มาสร้างยานยนต์พาหนะอะไรขึ้นมาได้ เช่นอย่างพระพุทธเจ้าโกรธกิเลสทั้งหลาย ก็อยากหนีกิเลส ก็บำเพ็ญบารมีเพื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันนี้เรามาพิจารณาอย่างนี้ จึงสรุปได้ความว่า กิเลส โลภ โกรธ หลง ทั้งหลายนี่ มันเป็นเหมือนกับไฟ ไฟเป็นของร้อน เป็นอันตรายมหาศาล แต่คนที่รู้จักใช้ไฟให้เกิดประโยชน์ด้วยความระมัดระวังมีสติสัมปชัญญะ ไฟก็เป็นประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมหาศาล เช่นสามารถใช้เป็นแรงผลักดันจรวดไปลงดวงจันทร์ได้



เพราะฉะนั้น ทั่วๆ ไปนี่ กิเลส ถ้าคนฉลาดที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เก็บเอาไว้ให้มันคอยกระตุ้นเตือนใจ ให้เกิดความทะเยอทะยานในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น คนเราทุกคน สิ่งที่เราต้องการก็มี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และอำนาจ และสิ่งดังกล่าวนี้เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหา แต่ว่าการแสวงหาต้องมีขอบเขต เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม ท่านจึงเอาศีล 5 มาเป็นหลักตีเส้นตายเอาไว้ ถ้าใครจะหาผลประโยชน์ให้ถูกต้องด้วยศีลธรรม ไม่เบียดเบียนเขา ให้ยึดศีล 5 เป็นหลัก ความหมั่น ความขยัน ความโกรธ เราอาจจะเอาเป็นกำลังในการกระตุ้นเตือนใจของเราให้เกิดทะเยอทะยานในการหนีให้พ้นจากสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็เป็นการใช้ประโยชน์ได้



การปฏิบัติเพื่อระงับความโกรธ
1. ให้ระลึกถึงโทษของความโกรธ ว่าความโกรธนั้นให้โทษประการต่าง ๆ หาคุณมิได้เลย ผู้ไม่โกรธตอบผู้โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
2. ให้ระลึกถึงความดีของเขา เพราะแต่ละคนย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดีอยู่ในตัว ถ้าหาความดีไม่ได้จริง ๆ ก็ให้นึกสงสารเขาว่าต่อไปจะต้องประสบผลร้าย จากการประพฤติไม่ดีอย่างนี้
3. ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขไม่มีในโลก
4. ให้พิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่เกิดจากความโกรธ จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปอีก



5. ให้พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดเวลายาวนาน ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง เบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคือง ทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงแม้เขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู
6. พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ความโกรธมีโทษก่อผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมากฉันนั้น ผู้มีเมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่น ซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

เครดิตแหล่งข้อมูล : thaniyo.com



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์