โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis)

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis)


โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ คือ ภาวะเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญขึ้นที่อื่นนอกโพรงมดลูก เชื่อว่าเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกไปตามท่อนำไข่ขณะมีประจำเดือนแล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ

คือ รังไข่, ท่อนำไข่ ผนังด้านนอกของมดลูก, ลำไส้ และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องเชิงกราน หรืออาจไปเจริญขึ้นที่ใด ๆ ก็ ได้ในช่องท้อง และมีการเปลี่ยนแปลงในรอบเดือนเหมือนกับเซลล์ที่อยู่ในโพรงมดลูก ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งขึ้นผิดที่ ก็จะมีการหลุดลอกและมีเลือดออกเช่น กัน ทำให้มีอาการปวดท้องได้ หรือขังตัวอยู่ในที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นน้ำข้นสีน้ำตาล ส่วนใหญ่พบการฝังตัวอยู่ในรังไข่ เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) เนื่องจากบริเวณรังไข่เป็นบริเวณที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (Estrogen) จึงเหมาะในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อได้ดี เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการสร้างพังผืดขึ้นมาห่อหุ้มและหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในอุ้งเชิงกรานบางครั้งถุงเลือดที่มีอยู่เดิมแตกออกทำให้เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูก กระจายไปเจริญขึ้นในที่อื่น ทำให้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ   
 
ส่วนเยื่อบุโพรงมดลูกที่แทรกเข้าไปใน  กล้ามเนื้อมดลูก ก็จะกระตุ้นให้เกิดเป็นพังผืด หรือ ก้อนกระจายในกล้ามเนื้อมดลูก เราเรียกภาวะนี้ว่า Adenomyosis ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ประจำเดือนมามาก มีบุตรยากตามมา
 
ในกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกฝังตัวบริเวณเอ็นที่ยึดมดลูกทางด้านหลัง (Utero-Sacral ligament) จะมีการฝังรากลึกลงไปก่อให้เกิดพังผืด มีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ปวดเวลาขับถ่าย ซึ่ง ในบางครั้งเราไม่สามารถตรวจพบโดยการทำ Ultrasound ดังนั้นการตรวจภายใน แล้วสงสัยว่าจะมีรอยโรค แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจ MRI หรือใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องเพื่อวินิจฉัยภาวะนี้ 
 
ปกติแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่เวลาเป็นประจำเดือนมักมีเลือดไหลย้อนกลับ เข้าไปในช่องเชิงกราน แต่ภาวะ Endometriosis นี้ ไม่ได้เกิดกับทุกคน อาจเกิดเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบางอย่างบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถจะทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่เติบโตผิดที่นี้ได้ ความเครียดมีผลต่อภาวะ Endometriosis เช่นกัน และขนาดของพยาธิสภาพ (cyst) ไม่สัมพันธ์กับอาการที่ปวด บางคนมีก้อนซีสต์โตมาก แต่ไม่มีอาการเลยก็ได้

อาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
 
1.อาการปวด ได้แก่ การปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดขณะถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ หรือปวดปัสสาวะตลอดเวลา หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
 
2.อาการเลือดประจำเดือนผิดปกติ คือ มีประจำเดือนมามาก มาไม่สม่ำเสมอ มานาน หรือมากะปริดกะปรอย  การมีประจำเดือนผิดปกติ อาจอธิบายได้ว่าเกิดจาก โรคนี้มีส่วนทำให้ไข่ไม่ค่อยตก, เลือดออกมากเนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มักมีอาการประจำเดือนมากผิดปกติได้
 
3.การมีบุตรยาก พบว่ามีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ทำให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกรานและทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เหมาะสมในการพัฒนาของไข่และตัวอ่อน นอกจากนี้ยังมีการสร้างพังผืดเกิดขึ้นทำให้ไข่ตกออกมาจากรังไข่ไม่ได้ ท่อนำไข่ก็ไม่สามารถทำงานในการจับไข่เข้าไปได้เพราะมีการยึดรั้งจากพังผืดหรือทำให้ท่อนำไข่ตีบตัน
 
4.อาการพบก้อนในท้องน้อย
  เกิดจากการเกิดถุงน้ำเลือด (Chocolate Cyst) ที่รังไข่ เนื่องจากมีเลือดออกและขังตัวสะสมกันอยู่นาน ๆ กลายเป็นถุงเลือดที่โตขึ้นเรื่อย ๆ หรือเกิดจากมดลูกที่โตขึ้นจาก Adenomyosis ทำให้คลำก้อนได้ที่หน้าท้อง

การวินิจฉัยโรค
 
1.เริ่มด้วยการซักประวัติ อาการปวดท้องและปวดประจำเดือน การมีบุตร
 
2.การตรวจภายใน มีอาการเจ็บบริเวณปากมดลูก เจ็บด้านหลังของตัวมดลูก มีปุ่มปรุประ คลำก้อนได้
 
3.การตรวจในห้องปฏิบัติการ เจาะเลือดดูค่า CA125 ถ้าพบว่ามีค่าเกิน 35 IU/ml ให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
 
4.การทำอัลตราซาวด์ช่วยให้สามารถพบรอยของโรคได้ เช่น พบมดลูกโต มีก้อนที่ปีกมดลูก หรือ รังไข่     
 
5.การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ MRI ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นหรือสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
 
6.การใช้กล้องส่องเข้าไปในช่องท้อง (Diagnostic Laparoscopy) และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยว่ามีก้อน บริเวณมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ลำไส้ หรือ Utero-Sacral Ligament หรือไม่              
                                   
การรักษา
 
สูตินรีแพทย์จะวินิจฉัยการรักษาตามความเหมาะสมซึ่งการรักษานั้นมีหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับอายุ พยาธิสภาพ ความต้องการมีบุตร  โดยทั่วไปการรักษาทำได้โดย
 
1.การใช้ฮอร์โมน ปัจจุบันมีฮอร์โมนหลายชนิดให้เลือก ส่วนใหญ่ที่นิยม คือฮอร์โมนโปรเจส  เตอโรน (Progesterone) จะช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อลงทั้งในมดลูกและนอกมดลูกที่นิยมใช้คือ ยาฉีดคุมกำเนิดและยารับประทานคุมกำเนิด (ยารับประทานมีเอสโตรเจนอยู่ด้วย) ยาฉีดคุมกำเนิดทำให้อาการลดลงได้ แต่อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ หรือทำให้ไม่มีประจำเดือน ยารับประทานทำให้มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอแต่น้อยลง  เมื่อเลิกยาก็หมดฤทธิ์ไป
 
2.Danazol ทำให้ไม่ตกไข่ มีฮอร์โมนมาเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยลง เยื่อบุมดลูกฝ่อลง อาการดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงคือประจำเดือนมาผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน และที่สำคัญคือทำให้มีขนขึ้นผิดปกติ มีเสียงใหญ่ขึ้นแบบผู้ชาย (กรณีการมีเสียงใหญ่ขึ้น เมื่อเลิกยาเสียง ก็ไม่เปลี่ยนกลับอย่างเดิม) ไขมันในเลือดผิดปกติและอาจเป็นอันตรายต่อตับ ปัจจุบันคาดว่าสูตินรีแพทย์ไม่ใช้ยานี้แล้ว
 
3.ยา Gonadotropin-releasing agonist (GnRHagonist) เป็นยาลดฮอร์โมนที่มากระตุ้นรังไข่  ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน จึงไม่มีฮอร์โมนรังไข่ เกิดภาวะและมีอาการเหมือนวัยหมดประจำเดือน ทำให้เยื่อบุมดลูกยุบตัวเล็กลงเพราะไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้น ผลข้างเคียงจึงเป็นแบบเดียวกับคนหมดประจำเดือน คือ หงุดหงิด ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง กระดูกบางลง เป็นต้น ยานี้มีทั้งชนิดฉีดและพ่นจมูก ปกติถ้าแพทย์ใช้ก็ใช้แบบเป็นการชั่วคราว ไม่รักษาระยะยาว
 
4.การผ่าตัด คือ การตัดเอาส่วนที่เป็นโรค ออกไป หรือตัดมดลูกและรังไข่ ปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องช่องท้องมากที่สุด เพราะได้ผลดี พังผืดน้อย  เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว (แต่ค่าใช้จ่ายจากการใช้เครื่องมือพิเศษนี้ยังแพงกว่าผ่าตัดธรรมดา) จุดประสงค์ของการผ่าตัดก็เพื่อให้อวัยวะภายในกลับสู่สภาพปกติมากที่สุด ทำลายรอยโรคที่มองเห็นออกให้มากที่สุด  
 
นอกจากนี้ยังมีหลายทางที่ช่วยป้องกันหรือช่วยชะลอความรุนแรงของโรคนี้ได้ คือ
 
1.การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร เพราะทำให้ไม่มีประจำเดือน
 
2.ยาเม็ดคุมกำเนิด เชื่อว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำนาน ๆ จะช่วยหยุดยั้งการก่อตัว หรือการแพร่กระจายของเยื่อบุมดลูกที่ขึ้นผิดที่และทำให้เยื่อบุมดลูกบางกว่าธรรมดามากและฮอร์โมนจากยาเม็ดคุมกำเนิดนี้จะช่วยลดการกระตุ้นที่ตำแหน่งของเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่
 
3.การขยายตัวของปากมดลูกที่เกิดจากการคลอดบุตร
สรุป
 
เรายังไม่ทราบสาเหตุของการเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อเป็นแล้วอาจไม่มีอาการหรือทำให้มีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น ปวดท้องน้อย ปวดประ จำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ มีบุตรยาก การรักษามีทั้งการใช้ยาและผ่าตัดแล้วแต่จุดประสงค์และปัญหาของผู้ป่วย  จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป  
 

ข้อมูลจาก นายแพทย์ธิติกร วาณิชย์กุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์