เล่นน้ำทะเล ระวัง แมงกะพรุน

เล่นน้ำทะเล ระวัง แมงกะพรุน


ในฤดูร้อนหลายคนนิยมไปเที่ยวชายทะเล จึงมีผู้ป่วยโดนแมงกะพรุนเป็นแผลรุนแรงที่ผิวหนังมารักษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
 
รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน

สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แผลที่โดนแมงกะพรุนส่วนใหญ่ลามลงลึก หายช้า เมื่อหายจะเหลือรอยแผลเป็นนูนเพราะการปฐมพยาบาลหลังถูกแมงกะพรุนไม่ถูกต้อง โดยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีรายงานการแพ้แมงกะพรุนแบบรุนแรงจาก แมงกะพรุนกล่อง  (box jelly fish)  ซึ่งไม่เคยมีในน่านน้ำไทยมาก่อน 
 
ทั้งนี้ปริมาณสัตว์ที่อาศัยในท้องทะเล เช่น ปลา ปู หอยลดลง ทำให้แพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารสัตว์ทะเลมีปริมาณเหลือเฟือสำหรับแมงกะพรุน  จำนวนแมงกะพรุนจึงเพิ่มมากขึ้นในทุกแหล่งน้ำ และด้วยความปรวนแปรของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น  กระแสคลื่นลมและพายุที่รุนแรงไร้ทิศทาง  ทำให้การอพยพของแมงกะพรุนกระจายข้ามเขต เช่น แมงกะพรุนกล่องซึ่งเคยอาศัยในประเทศออสเตรเลียได้ถูกพลัดหลงเข้ามาเจริญเพิ่มปริมาณในประเทศไทย และแมงกะพรุนชอบความอบอุ่น  จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีการขยายพันธุ์เพิ่มทวีคูณ
 
สัตว์ประเภทแมงกะพรุน มีลักษณะกายภาพประกอบด้วย ลำตัว โพรงปาก  และหนวดห้อยจากโพรงปากเป็นที่เกาะของถุงพิษ ซึ่งถุงพิษถูกสร้างขึ้นในลำตัว พิษจะเพิ่มสูงขึ้นในขณะถุงพิษค่อย ๆ เคลื่อนออกมาเกาะตามสายหนวด  ถุงพิษปลายสายหนวดจะมีพิษสูงสุด ทั้งนี้พบว่าถุงพิษซึ่งหลุดลอยในกระแสน้ำทะเลยังคงพิษอยู่นานถึง   3-4  เดือน
 
อาการของผู้ป่วยที่โดนแมงกะพรุนจะขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนที่โดน โดยอาการอาจเป็นเล็กน้อย เช่น เจ็บหรือคัน บางรายปวดรุนแรงคล้ายถูกไฟช็อต ปวดร้าว ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อร่วม ใน  รายเป็นรุนแรงพบความดันโลหิตลดต่ำ หายใจไม่สะดวก เป็นตะคริว  อัมพาต หัวใจหยุดเต้น ส่วนรอยผื่นพบเป็นลมพิษ รอยไหม้ ตุ่มพองใส หรือแผลเนื้อ ตายเป็นเส้นยาวตามสายหนวด แต่บางชนิดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
 
การรักษา คือ

1. ต้องรีบขูดหรือล้างสายหนวด  หรือเศษของแมงกะพรุนออกโดยเร็วที่สุดด้วยวัสดุซึ่งอยู่ใกล้มือ  เพราะถุงพิษจะยังแทงสู่ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง  ต้องทำอย่างนิ่มนวลเพราะถ้าทำแรงจะกระตุ้นการคายพิษ  อย่าใช้มือเปล่า ๆ หยิบเศษแมงกะพรุนหรือถูบริเวณผื่นเพราะพิษอาจแทงมือซ้ำ  เข็มพิษสามารถแทงทะลุผ้าบาง ๆ หรือ  ถุงมือยางบาง ๆ ได้ 
2. ล้างบริเวณผื่นด้วยน้ำทะเล  เพราะน้ำจืดเพิ่มการคายพิษ
3. ยังไม่มีข้อยืนยันว่ายาหรือสารเคมีชนิดใดทำลายพิษดีที่สุด ที่ใช้อยู่ คือ น้ำส้มสายชู  โซเดียมไบคาร์บอเนต ยางมะละกอ แอมโมเนีย ผงซึ่งทำ ให้เนื้อนุ่ม สารเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพพิษซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรตีนให้เสื่อมลง บางรายงานใช้ประคบด้วยน้ำร้อนและความเย็นในอุณหภูมิที่ผิวหนังทนได้ ดังนั้นแนะนำใช้สาร หรือครีมที่หาได้ขณะนั้นทา ถ้ารู้สึกเจ็บมากขึ้นแสดงว่าสารกระตุ้นการคายพิษก็ล้างออกด้วยน้ำทะเล
4. รักษาตามอาการ เช่น ยาระงับอาการคัน  ยาปฏิชีวนะ  และยาแก้ปวด
5. รอยแผลอาจใช้ยาทา หรือในบางรายให้รับประทานคอร์ติโคสตีรอยด์ป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นนูน
6. ในกรณีความดันโลหิตลดต่ำ อาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหายใจขัดต้องรีบปฐมพยาบาล
 
การป้องกัน คือ

1. แมงกะพรุนจะไม่ทำร้ายคน  มักเกิดจากการสัมผัสโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงต้องระวังเสมอเมื่อเล่นน้ำทะเล  เพราะสายหนวดบางชนิดยาวมาก ควรใส่ เสื้อผ้าป้องกันให้รัดกุมเสมอ
2. อย่าเล่นแมงกะพรุนที่   ตายอยู่ตามชายหาด เพราะยังอาจมีพิษอยู่
3. ถุงพิษสามารถทะลุผ้า  หรือถุงมือยางชนิดบางได้
4. แมงกะพรุนลอยขึ้นเมื่อไม่มีแสง จึงไม่ควรเล่นน้ำทะเลในช่วงเช้ามืด  หรือช่วงค่ำ
5. หลังพายุ อาจมีเศษแมงกะพรุนลอยเข้าฝั่งไม่ควรลงเล่นน้ำ
6. เมื่อสงสัยว่าถูกแมงกะพรุน ให้รีบขึ้นจากน้ำทันที  เพราะอาจเกิดอาการรุนแรงและจมน้ำได้.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์