ช็อกโกแลต ซีสต์...ปวดท้องประจำเดือน

ช็อกโกแลต ซีสต์...ปวดท้องประจำเดือน


ภัยเสี่ยงหญิงตัดมดลูกทิ้ง...มีบุตรยาก!!!

ผู้หญิงเมื่อประจำเดือนมาทีไร หลายคนมัก มีอาการปวดท้องร่วมด้วยเสมอ แต่หากปวดมากและบ่อยครั้งขึ้น พึงระวัง...อาจเป็น  “ช็อกโกแลต ซีสต์” ได้!
   
นพ.อุดมศักดิ์ ศรีแสงนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์ เล่าถึงการเกิดของโรคช็อกโกแลต ซีสต์ ให้ฟังว่า โดยปกติในระหว่างรอบประจำเดือน เยื่อบุมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ ใน 1 รอบประจำเดือน จะยาวประมาณ 28 วัน ซึ่งอาจสั้น  หรือยาวกว่านี้ ในแต่ละบุคคล โดยนับวันที่ประจำเดือนหมด คือ ประมาณวันที่ 5 รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเพศสตรีมากระตุ้นเยื่อบุมดลูกให้เจริญและหนาตัวขึ้น มีเส้นเลือดนำอาหารมาเลี้ยงมากขึ้นเพื่อเตรียมรับการตั้งครรภ์
   
ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน เยื่อบุมดลูกจะหนากว่าระยะเริ่มต้นถึง 10 เท่า และช่วงนี้จะมีการตกไข่ ไข่จะถูกจับเข้าไปในท่อนำไข่ และถ้าได้ปฏิสนธิ กับเชื้ออสุจิ

จะเคลื่อนเข้าไปในมดลูกและฝังตัวอยู่ในเยื่อบุมดลูก ถ้าไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ จะสลายตัวไป ระดับฮอร์โมนก็จะลดลงโดยมีการลอกหลุดตัวของเยื่อบุมดลูกกลายเป็นประจำเดือนออกมาประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือนแล้วก็เริ่มต้นรอบเดือนใหม่เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ เดือน
   
แต่สำหรับโรคนี้ เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือน ที่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งจะมีลักษณะเป็นถุงน้ำที่ภายในมีเลือดเคลื่อนตัวออกจากโพรงมดลูกหลุดไปติดตามท่อนำไข่ แล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ โดยหากมารวมอยู่ที่  รังไข่จะเรียกว่า ช็อกโกแลต ซีสต์ มีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ เหมือนช็อกโกแลตซึ่งเป็นเลือดเก่า  แทนที่จะออกมาทางช่องคลอดตามปกติ โรคนี้ทางการแพทย์เรียกว่า “เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่” (Endometriosis)
   
“มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังเมื่อมีประจำเดือน โดยจะปวดด้านหน้า ตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกราน ส่วนด้านหลังตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อยปรากฏการณ์นี้จะเป็นเช่นนี้ทุก ๆ เดือนและเกิดปฏิกิริยาขึ้นทุกครั้งที่มีเลือดออกพร้อมกับการมีประจำเดือน ทำให้มีเยื่อพังผืดหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในอุ้งเชิงกราน บางครั้งถุงเลือดที่มีอยู่เดิมแตกออกมา ทำให้เลือดและเยื่อบุมดลูกกระจายไปเจริญขึ้นในที่อื่น ทำให้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การมีพังผืดตามอวัยวะต่าง ๆ มากเช่นนี้เป็นผลให้การตกไข่ออกจากรังไข่ไปไม่ดีหรือไปไม่ได้ และท่อนำไข่ก็ไม่สามารถทำงานในการจับไข่เข้าไปได้ เพราะมีการยึดรั้งจากพังผืดหรือทำให้ ท่อนำไข่ตีบตันเป็นสาเหตุสำคัญของการมีบุตรยาก”
   
สิ่งที่จะบ่งชี้ว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการปวดท้องธรรมดาหรือเป็นอาการปวดของโรคนี้ คือ อายุ โดยจะพบมากในสตรีที่มีอายุ 30-40 ปี หรือวัยก่อนหมดประจำเดือน

ในกรณีที่ไม่เคยปวดมาก่อน แต่พออายุ 30 ปีขึ้นไปแล้วกลับมีอาการปวดและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือน สันนิษฐานได้ว่าอาจปวดจากเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ได้ ฉะนั้น เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประจำเดือนเท่านั้น โดยก่อนวัยมีประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือนจะไม่พบโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนมากเป็นทางกรรมพันธุ์ พบประวัติว่า มารดา พี่ น้อง เป็นโรคนี้ แต่โชคดี คือ มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย วิธีบรรเทาอาการปวดจึงรักษาตามอาการ หากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยจะประคบด้วยน้ำร้อน ปวดกลาง ๆ แต่ทนได้ให้ทานยาแก้ปวด ถ้าปวดมากต้องใช้ยาเฉพาะทาน
   
พบว่า ประมาณร้อยละ 43 ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หลัง  มีอาการประมาณ 1 ปี การตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติ ที่ชัดเจน หลังการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการทำอัลตราซาวด์ อาจจะพบถุงน้ำที่รังไข่ ในบางครั้งอาจต้องใช้วิธีตรวจโดยการใช้กล้องส่องเข้าไปในช่องท้อง
   
กรณีถุงน้ำที่รังไข่มีขนาดเล็กอาจจะให้การรักษาด้วยยา ร้อยละ 60 ที่รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้นต้องผ่าตัด จากการศึกษาพบว่า

การรักษาอาการปวดที่เกิดจากภาวะช็อกโกแลต ซีสต์ แพทย์นิยมให้ผู้ป่วยฉีดยาคุมกำเนิดทุก 3 เดือน เป็นเวลา 12 เดือน หรือให้ทานยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนต่ำ พบว่า ทั้งสองวิธีได้ผลสามารถทำให้ขนาดของช็อกโกแลต ซีสต์ลดลง
   
ภาวะของโรคช็อกโกแลต ซีสต์ ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดอาการปวดทุกครั้งเมื่อมีประจำเดือน ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข หากปล่อยทิ้งระยะเวลาไว้นานอาจทำให้เกิดการสร้างเยื่อพังผืดขึ้นมาล้อมรอบ ยิ่งถ้าเป็นบริเวณลำไส้ใหญ่จะทำให้ผ่าตัดได้ยาก เนื่องจากขณะทำการผ่าตัดเอาพังผืดออกอาจทำให้มีโอกาสทะลุไปโดนลำไส้ใหญ่ได้จำต้องผ่าตัดเพื่อเย็บลำไส้ซ้ำอีกครั้ง
   
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า  “สตรีที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะมีบุตรยากขึ้นกว่าคนไม่เป็นโรค บางรายแพทย์ตรวจพบโรคนี้จากการตรวจหาสาเหตุของการ    ไม่มีบุตร เมื่อทำการรักษาหรือผ่าตัดช็อกโกแลต ซีสต์ออกไปแล้วอาจทำให้มีลูกได้ แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น”
   
ถ้าเป็นแล้วไม่ต้องกลัว สามารถรักษาได้ แม้จะไม่หาย ขาดมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ไม่ควรประมาท เพราะ ถ้าปล่อยให้เป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นต้องตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากในผู้ป่วยบางราย จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพ เช็กร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รักษาแก้ไขได้ทัน
   
เมื่อมีอาการปวดในระหว่างมีประจำเดือนอย่าชะล่าใจ...หากอาการปวดนั้นทวีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน!!.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์