จับสัญญาณโรคร้าย ภัยเงียบไตวายเรื้อรัง

จับสัญญาณโรคร้าย ภัยเงียบไตวายเรื้อรัง


"ไตวายเรื้อรัง" เป็นภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่อย่างเรื้อรัง ทำให้เกิดการคั่งของของเสียและน้ำ และเป็นโรคที่พบมากขึ้นตามลำดับในประเทศไทย

น.พ.มาโนช เตชะโชควิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคไตกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบบ่อย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง เพราะอาการเริ่มแรกของโรคไม่รุนแรง เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากมาพบแพทย์เมื่อมีอาการไตวายเรื้อรังรุนแรง หรือเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายแล้ว จึงต้องสังเกตอาการตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อพบความผิดปกติควรพบแพทย์ เพื่อรักษาทันที

สำหรับสาเหตุของโรคเกิดจากการที่ไตสูญเสียหน้าที่ ขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายไม่ได้ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล เกิดภาวะเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ซึม คลื่นไส้ และยังมีอาการที่มีผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ปลายมือปลายเท้าชาเนื่องจากปลายประสาทอักเสบ เป็นตะคริว และชัก จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการที่พบในผู้ป่วยทุกราย ถ้าไตวายมากขึ้นบางรายมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ถ้าไตวายมากมีการคั่งของเกลือและน้ำ จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง มีอาการบวมเนื่องจากหัวใจวาย บางรายมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ รวมไปถึงผิวหนังมีอาการคัน ผิวจะมีสีเหลือง-น้ำตาล

น.พ.มาโนชอธิบายว่า โรคไตวายเรื้อรังมีหลายระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะพบอาการน้อยมาก แต่เมื่อเป็นจนถึงระยะปานกลาง และระยะรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาการจะเพิ่มขึ้น กระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษานั้นนอกจากผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้น จึงควรชะลอการดำเนินของโรคไตวายเรื้อรังด้วยการควบคุมอาหาร ซึ่งปรึกษารายละเอียดจากแพทย์ได้

ทางที่ดีก่อนจะกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรสังเกตว่าตอนนี้คุณมีภาวะของโรคไตหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณเตือน เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดหรืออาจมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ มีโปรตีนหรือไขขาวรั่วออกมาในปัสสาวะจนทำให้ปัสสาวะที่ออกมามีฟองมาก และฟองไม่สลายตัวไปง่ายๆ (การมีฟองในปัสสาวะเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ) อาการบวมรอบๆ ตาและข้อเท้า อาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว บางครั้งก็ร้าวไปถึงขาหนีบและลูกอัณฑะ

ด้านวิธีการรักษา คุณหมอกล่าวว่าทำได้หลายวิธี คือ ควบคุมอาหารสำหรับโรคไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางหน้าท้อง การเปลี่ยนไต ซึ่งวิธีที่คนนิยมมากที่สุดคือ ส่วนการล้างไต ปัจจุบันที่ใช้อยู่มี 2 วิธี คือ การล้างไตทางหน้าท้อง และการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์