จริงหรือมั่ว? การจูบ ทำให้ฟันผุ


จริงหรือมั่ว? การจูบ ทำให้ฟันผุ

"การจูบ" ถือว่าเป็นวิธีการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง แต่อยู่ ๆ การจูบ ก็กลายเป็นเรื่องน่ากลัวไปซะแล้ว เมื่อโซเชียลมีการแชร์ข้อมูลกันว่า "ฟันผุ" สามารถติดต่อได้ผ่าน "การจูบ" ทำเอาหลาย ๆ คนตกใจ แต่เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไปหาคำตอบที่ถูกต้องมาให้จาก รศ. ทพญ. ดร.พนิดา ธัญญศรีสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา และ อ. ทพ. ดร.ภาสวัชร์ วิริยกิจจา อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ฟันผุคืออะไร และสาเหตุเกิดจากอะไร ?

ฟันผุ คือ การที่โครงสร้างฟันถูกทำลายโดยกรดจากเชื้อโรค ซึ่งฟันผุจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ dental biofilm หรือเรียกว่าคราบขี้ฟันที่มีเชื้อโรคอยู่, น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงพฤติกรรมการกิน เช่น ชอบกินหวาน, กินจุบจิบ กินระหว่างมื้ออาหาร


“ฟันผุ” สามารถติดต่อผ่าน “การจูบ” ได้จริงหรือไม่ เพราะอะไร ?

เชื้อในคราบจุลินทรีย์เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดฟันผุซึ่งนอกจากสามารถ พบเชื้อได้บนผิวฟันแล้ว ก็ยังสามารถพบเชื้อได้ในน้ำลายด้วย การที่ปากของคนสองคนมีการแลกเปลี่ยนน้ำลายระหว่างกัน เช่น การจูบแบบดูดดื่มระหว่างคู่รักในทางทฤษฎีก็สามารถทำให้เกิดการส่งผ่านหรือแลกเปลี่ยนเชื้อโรคในน้ำลายได้้ ซึ่งรวมไปถึงเชื้อก่อโรคฟันผุด้วยเช่นกัน


สมมติเราจูบแบบดูดดื่มกับคนที่มีฟันผุเต็มปากแล้วฟันเราจะผุตามได้หรือไม่ การที่ฟันจะผุนั้น ไม่ใช่ว่ามีเชื้อก่อโรคฟันผุเพิ่มขึ้นแล้วฟันจะผุเลย ฟันจะผุต้องมีปัจจัยก่อโรคหลาย ๆ อย่าง ประกอบกัน ถึงแม้การจูบแบบดูดดื่มอาจเพิ่มการส่งผ่านเชื้อโรคในน้ำลายได้มากขึ้น แต่ถ้าสามารถควบคุมปัจจัยก่อโรคฟันผุอื่น ๆ ได้ดี ความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุก็จะน้อยลง

 



นอกจากเรื่องของการจูบแล้ว มีสถานการณ์อื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้เกิดการส่งผ่านเชื้อก่อโรคฟันผุผ่านทางน้ำลายได้ ?

ทุกกิจกรรมที่มีการปนเปื้อนน้ำลาย เช่น ในเด็กเล็ก ๆ สมัยก่อนเวลาป้อนอาหารร้อน คุณแม่จะอมอาหารในปากให้อาหารเย็นลงแล้วค่อยป้อนลูก ในอาหารก็ปนเปื้อนน้ำลายคุณแม่ พอนำไปป้อนก็จะเป็นการส่งเชื้อจากคุณแม่ไปสู่ลูกได้ มีหลักฐานงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเชื้อก่อโรคฟันผุสามารถส่งผ่านจากคุณแม่มาสู่ลูกได้

นอกจากโรคฟันผุที่เชื้ออาจถูกส่งผ่านทางน้ำลายแล้ว ยังมีโรคติดเชื้อที่สำคัญหลายโรคที่สามารถติดต่อผ่านการปนเปื้อนหรือแลกเปลี่ยนน้ำลายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่, โควิด - 19, ไวรัสตับอักเสบ, โรคมือเท้าปาก, โรคเริม หรือคางทูม เป็นต้น



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี Bright TV


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์