ย้อนประวัติศาสตร์ ตามหา นามสกุล ของชาวโคราช


หลัง พ.ศ. 2456 ชาวโคราชมีนามสกุล ตามประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล สมัย ร.6 นามสกุลของชาวโคราช สมัยแรก ๆ มีลักษณะพิเศษบ่งชี้ภูมิประเทศของถิ่นกำเนิดเป็นสำคัญ ดูได้จากส่วนท้ายของนามสกุล เช่น เป็นชื่ออำเภอของผู้เป็นต้นสกุล ดังต่อไปนี้

1."กลาง" เดิมชื่อ มณฑลลาวกลาง เช่น นามสกุลขอใยกลาง, จงจุลกลาง

พ.ศ. 2459 พระยากำธรพายัพทิศ ได้พิจารณาว่าสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอทับที่วัดร้างอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสถานที่จึงได้เสนอขอเปลี่ยนจาก อำเภอกลาง เป็นอำเภอโนนวัด

ต่อมา พ.ศ. 2487 นายชม วัลลิภากร เป็นนายอำเภอโนนวัด ได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอโนนวัด เป็นอำเภอโนนสูง สืบถึงปัจจุบัน

2."กระโทก" ในอดีตมีฐานะเป็นด่าน คือ ด่านกระโทก เช่น นามสกุล ข้องกระโทก, โฮกกระโทก

ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่า คำว่า "กระโทก" มีสำเนียงและความหมายไม่เหมาะสม และเพื่อให้เป็นไปตามความหมายเชิงประวัติศาสตร์ในอันที่จะให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความเป็นมาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและทำการรบได้ชัยชนะณ ที่แห่งนี้จึงได้เปลี่ยนนามอำเภอใหม่ว่า "อำเภอโชคชัย"

3."ขุนทด" หมายถึง "ด่าน" มีขุนทดเป็นผู้ปกครองดูแล เช่น นามสกุล พาทขุนทด, ผูกขุนทด

สันนิษฐานว่าเป็นช่วงของแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระยายมราชให้เป็นผู้ปกครองดูแล "ด่าน" นี้เป็นด่านแรก นอกจากทำหน้าที่ปกครองดูแลรักษาด่านแล้ว "ขุนทด" ยังมีหน้าที่เก็บภาษีอากรส่งให้เมืองนครราชสีมา

4."จันทึก" เดิมเป็นเมืองหน้าด่านในดินแดนแถบภาคอีสาน ชื่อว่า "เมืองนครจันทึก" เช่น นามสกุล เผือกจันทึก, ฝาดจันทึก

ต่อมาเมื่อได้ตั้งเมืองนครราชสีมาขึ้นดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ทางที่ราบสูง จึงเปลี่ยนเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า "ด่านจันทึก" เมื่อยกเลิกด่านแล้ว ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอจันทึก" เนื่องจากบ้านจันทึกและบ้านหนองบัวตั้งอยู่ในเขตดงพญาเย็น (พญาไฟ) มีไข้ป่า (มาลาเรีย) ชุกชุมเป็นที่เกรงกลัวของข้าราชการยิ่งนัก จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านสีคิ้ว แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอจันทึก เป็น อำเภอสีคิ้ว จนถึงปัจจุบันนี้

5."ไธสง" มาจากคำว่า "พุทไธสง" เช่น นามสกุล น้อยไธสง, ตลุกไธสง

เมืองพุทไธสง เป็นเมืองเก่า ต่อมาได้ร้างไป ในสมัยการปกครองแบบมณฑลขึ้นต่อเทศาภิบาลเมืองแปะ

ต่อมา พ.ศ. 2342 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เพี้ย ศรีปาก เป็นพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของพุทไธสง และได้ยกฐานะเป็นอำเภอพุทไธสง ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง จ.บุรีรัมย์

6."นอก" ในอดีตมีฐานะเป็นด่าน ชื่อว่า "ด่านนอก" เช่น นามสกุล จันทร์นอก, กลนอก

ต่อมาปี พ.ศ. 2499 ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอด่านนอกพ.ศ. 2455 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอด่านนอก มาตั้งอยู่ที่บ้านบัวใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอด่านนอก มาเป็นอำเภอบัวใหญ่

7."สันเทียะ" เดิมเรียกว่า "แขวงสันเทียะ" เช่น นามสกุลถนอมสันเทียะ, ขอสันเทียะ

---เล่ากันว่าเดิมเป็นที่อยู่ของชาวกัมพูชา ที่มาอาศัยต้มเกลือสินเธาว์ เพื่อนำไปขาย และอาศัยน้ำจากลำห้วยทางเหนือของหมู่บ้านในการหุงต้มเกลือและอุปโภคบริโภค คำว่าทันเทียะ ภาษาเขมร แปลว่า ที่ต้มเกลือสินเธาว์ และยังมีผู้เพิ่มเติมว่า "สันเทียะ" อาจเอามาจากสภาพพื้นดินของอำเภอเนื่องจากโดยทั่วไปพื้นดีเป็นดินเค็ม

---มาจากสภาพภูมิอากาศในภาษาลาวคำว่าสันเทียะแปลว่า บ้านที่ตั้งอยู่บนสันโนนที่ดิน และเนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทราย เมื่อถึงฤดูฝนจะชื้นแฉะไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

8."สูงเนิน" เดิมเรียกว่า เมืองเสมา

เมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาจึงย้ายมาอยู่เมืองใหม่ เมืองเสมา จึงเป็นกลายเป็นเมืองเก่า

ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอและไดัตั้งชื่อตามชื่อที่ตั้งที่ว่าการอำเภอว่าอำเภอสูงเนินเช่นนามสกุล ดีสูงเนิน, ฝากสูงเนิน

จากส่วนท้ายนามสกุลมีความหมายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพวัฒนธรรม ซึ่งเป็นชื่อเมือง แขวง และด่านในสมัยที่ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แขวง และด่าน ในสมัยที่ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อเปลี่ยนการปกครองแบ่งเป็นอำเภอ แต่ยังใช้ชื่อท้องถิ่นเดิมนั้น ๆ เมื่อตั้งนามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา เสนาบดีเจ้าเมืองใช้เกณฑ์ภูมิลำเนาให้ประชาชนแต่ละตำบลในเวลานั้นมีส่วนท้ายของนามสกุลตั้งตามถิ่นที่อยู่อาศัยถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหรือมีการแบ่งเขตอำเภอขึ้นใหม่ตามจำนวนประชากรต่อพื้นที่นั้น ๆ แต่นามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมาก็ยังสามารถบอกถิ่นที่อยู่ได้

นอกจากส่วนท้ายแล้ว จะเห็นว่าส่วนแรกและส่วนกลางของนามสกุลชาวโคราช ยังบ่งชี้วัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ด้วย

(สรุปจากนามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา : การวิเคราะห์ทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดย พรทิพย์ ครามจันทึก วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2548 หน้า 87-89)


ย้อนประวัติศาสตร์ ตามหา นามสกุล ของชาวโคราช

cr.สำนักพิมพ์มติชน,prachachat


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์