เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย


เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย

ศรีอโยธยา ตอนสุดท้ายของซีซั่นแรกมีตัวละครใหม่คือ "เจ้าฟ้าสังวาลย์" ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ถูกลงอาญาจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๒๙๘ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทรงลักลอบคบชู้กับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งทรงเป็นพระมหาอุปราชอยู่ในเวลานั้น

มีข้อสังเกตุประการหนึ่งคือศรีอโยธยาระบุว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็น "หม่อมเจ้าสังวาลย์" และมีการเรียกขานว่าว่า "ท่านหญิงสังวาลย์" หรือ "หญิงสังวาลย์" ซึ่งคำว่า "ท่านหญิง" เป็นสรรพนามของหม่อมเจ้า สอดคล้องกับข้อมูลของเพจทางการของศรีอโยธยาที่ระบุว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์นั้นมีฐานันดรศักดิ์เดิมเป็น "หม่อมเจ้าสังวาลย์" ก่อนจะได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และระบุว่า "เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีเอก จึงจะได้รับการอวยยศเป็นเจ้าฟ้า"

เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏในหลักฐานชิ้นใดเลย และมีความขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมากเพราะเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็นเจ้าฟ้าแต่กำเนิด ไม่ได้ทรงเป็นหม่อมเจ้ามาก่อนตามที่ศรีอโยธยานำเสนอแต่ประการใดครับ

แรกสุดต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็นใครมาจากไหน

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้ข้อมูลไว้ตรงกันว่า พระบิดาของเจ้าฟ้าสังวาลย์มีพระนามว่า "พระองค์เจ้าดำ" พระมารดาคือ "เจ้าฟ้าเทพ" ซึ่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงมีพี่น้องร่วมพระบิดาและพระมารดาอีก ๒ องค์คือ เจ้าฟ้าจีด (หรือ เจ้าฟ้าจิตร) กรมขุนสุรินทรสงคราม และเจ้าฟ้านิ่ม

"ขณะนั้นจ้าวฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์จ้าวดำ ซึ่งต้องสำเรจ์โทษครั้งจ้าวฟ้าอไภย จ้าวฟ้าปรเมศร พระมานดานั้นจ้าวฟ้าเทพเป็นราชธิดาสมเดจ์พระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา เปนพี่จ้าวฟ้านิ่ม จ้าวฟ้าสังวาร ซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังบวรนั้น"


พระองค์เจ้าดำ หรือ เจ้าพระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) ที่ประสูติแต่พระสนม

แต่ข้อความในพงศาวดารตอนนี้ระบุว่าถูกสำเร็จโทษในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชกับพระโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ที่เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคตน่าจะมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากปรากฏในพงศาวดารตอนอื่นว่าพระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเชื่อว่าชำระในสมัยอยุทธยาตอนปลายระบุว่าพระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษในต้นรัชกาลพระเจ้าเสือ

นอกจากนี้พงศาวดารยังระบุว่า พระองค์เจ้าดำทรงได้พระองค์เจ้าแก้ว พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นบาทบริจาริกา เมื่อพระองค์เจ้าดำทรงถูกสำเร็จโทษ พระองค์เจ้าแก้วซึ่งเสด็จออกผนวชเป็นพระรูปชีอยู่ที่พระตำหนักวัดดุสิต ร่วมกับกรมพระเทพามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงของพระเจ้าเสือ ไม่ได้กล่าวว่าได้เจ้าฟ้าเทพเป็นพระชายาแต่อย่างใด

เมื่อมาพิจารณาเนื้อหาในพงศาวดารช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์แล้ว พบว่ามีเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ถูกสำเร็จโทษคือ "พระองค์เจ้าแก้ว" หรือ "เจ้าพระองค์แก้ว" (คนละองค์กับพระชายาของพระองค์เจ้าดำที่กล่าวไว้ข้างต้น)

พระองค์เจ้าแก้วเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษที่ประสูติแต่พระสนม ซึ่งพงศาวดารระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น "พี่เขย" ของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ ที่ตามเสด็จเจ้าฟ้าทั้งสององค์หนีออกจากพระราชวังหลังจากที่ทรงรบแพ้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งยังทรงเป็นพระมหาอุปราช แต่ภายหลังทรงทิ้งเจ้าฟ้าทั้งสองแล้วเอาเครื่องยศมาถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมทั้งกราบทูลเป็นอุบายต่างๆ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ทรงไว้วางพระทัยจึงทรงหาเหตุสำเร็จโทษในข้อหากบฏ

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ระบุว่าถูกสำเร็จโทษในช่วงเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ และทรงเป็นพี่เขยของเจ้าฟ้าทั้งสององค์ (เจ้าฟ้าเทพทรงเป็นพระพี่นางของเจ้าฟ้าทั้งสอง) จึงเข้าใจได้ว่าผู้ที่เป็นพระบิดาของเจ้าฟ้าสังวาลย์ควรจะเป็นพระองค์เจ้าแก้วมากกว่า ส่วนที่พงศาวดารระบุว่าเป็นพระองค์เจ้าดำ เข้าใจว่าน่าจะชำระคลาดเคลื่อนหรือเกิดความสับสน เนื่องจากเป็นพระโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษเหมือนกัน


เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย

สรุปแล้ว เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงมีพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา ในขณะที่พระมารดาทรงเป็นเจ้าฟ้าราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

เหตุที่ศรีอโยธยานำเสนอว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็น "หม่อมเจ้าสังวาลย์" มาก่อน คงเป็นด้วยผู้สร้างจะเห็นว่าตามธรรมเนียมราชตระกูลของไทยแล้ว โอรสธิดาของพระองค์เจ้าชายต้องมีฐานันดรศักดิ์ต่ำลงมาจากชั้นบิดาเป็น "หม่อมเจ้า"

เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องธรรมเนียมราชตระกูล เพราะตามศักดิ์แล้ว เจ้าฟ้าสังวาลย์และพี่น้องทรงเป็น "เจ้าฟ้า" แต่กำเนิด

เอกสารความแทรก "คำให้การ"เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การขุนหลวงหาวัดได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าสังวาลย์และพี่น้องของพระองค์ว่าทรงมีฐานะเป็นเจ้าฟ้าราชนัดดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทั้ง ๓ องค์

"อันพระราชนัดดาเป็นกุมารองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าฟ้าจิต อันเจ้ากรมชื่อกรมขุนสุรินทรสงคราม ถัดมาจึ่งเจ้าฟ้าสังวาลย์แล้วถัดมาจึ่งเจ้าฟ้านิ่ม พระนัดดาทั้งบุตรีเกณฑ์เจ้าฟ้าสามองค์ด้วยกัน"

เหตุที่พระบิดาเป็นเพียงพระองค์เจ้า แต่โอรสธิดากลับได้เป็นเจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ลงวันพฤหัสบดีเดือนยี่ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก (พ.ศ. ๒๔๐๘) ว่า หากเจ้าฟ้าหญิงทรงมีพระโอรสธิดา ก็ย่อมได้เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมารดานั้น

"สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง เมื่อได้พระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็ดี เป็นกรมพระราชวังฯ ก็ดี เป็นเจ้าต่างกรมไม่มีกรมเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามีบุตรบุตรีบังเกิดก็เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาต่ำเสมอพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าหลานเธอ ดังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ มีศักดินาเสมอเพียงพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าลูกเธอ"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายในพระราชนิพนธ์ ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม ไว้ตรงกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

"เจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฤๅสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ดี มีพระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินฤๅเป็นเจ้าฟ้า ฤๅเป็นเจ้าต่างกรมพระองค์เจ้าอย่างใด ๆ ก็ดี เมื่อเจ้าฟ้าหญิงองค์นั้นมีพระโอรสพระธิดา ก็คงเป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาลดไปตามบรรดาศักดิเจ้าซึ่งเป็นพระบิดา ได้แต่ชื่อว่าเป็นเจ้าฟ้า เหมือนสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้า ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทั้งสองพระองค์ มีพระสวามีแต่ยังไม่ได้เป็นเจ้ามีพระโอรสพระธิดา องค์ละหลายองค์ พระโอรสพระธิดานั้น ต้องนับเป็นเจ้าฟ้าทั้งสิ้นตามพระมารดา ครั้นภายหลังมาเจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์น้อยได้เป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธออยู่ มีพระโอรสสามพระองค์เป็นเจ้าฟ้าทั้งสามพระองค์ เป็นตัวอย่างดังนี้"

เหตุที่ถือศักดิ์เจ้าฟ้าตามข้างพระมารดาเหนือกว่าบิดาคงเป็นตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ในราชตระกูลนั้นนับถือข้างฝ่ายมารดามาก" สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคติความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่สังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ถือให้เพศหญิงเป็นใหญ่

เจ้าฟ้าประเภทนี้ถือว่าเป็น "เจ้าฟ้าชั้นตรี" เป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีเจ้าฟ้าหลานเธอที่ประสูติจากพระพี่นางเธอเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ และเจ้าฟ้าหลานเธอที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กับเจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)

อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าประเภทนี้พบไม่มากนัก เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้วเจ้าฟ้าหญิงควรจะมีพระสวามีที่ศักดิ์เสมอกันหรือสูงกว่า อย่างเช่นในกรณีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรที่ทรงได้เจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) เป็นพระชายานั้นทรงศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าเสมอกัน จึงมีพระโอรสที่เป็นเจ้าฟ้าหลานหลวงทั้ง ๓ พระองค์ นอกจากนี้แทบไม่ปรากฏว่าเจ้าฟ้าหญิงจะทรงมีพระสวามี

"แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจว่า เจ้าฟ้าหญิงซึ่งจะได้ไปเป็นเมียพระองค์เจ้าแลพระองค์เจ้าจะไปเป็นเมียหม่อมเจ้า ฤๅเป็นเมียขุนนาง ฤๅเจ้าต่างประเทศ แลเจ้าในราชตระกูล แต่มิใช่พี่น้องสนิทกันนั้น ธรรมเนียมห้ามมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า จะมีพระสวามี ต้องมีได้แต่ที่เป็นพี่น้องกันสนิท แลมียศเสมอกัน ฤๅที่ชายสูงกว่าหญิง เพราะเหตุนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า จึงเป็นธรรมเนียมไม่ได้มีพระสวามีแทบทั้งนั้น ถ้าจะมีก็เป็นแต่พระราชเทวีของพระเจ้าแผ่นดินบ้าง ซึ่งจะมีพระสวามีอื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินนั้นน้อยนัก เพราะมักจะเป็นที่รังเกียจกันไป จึงไม่มีเจ้าฟ้าซึ่งสืบจากตระกูลพระมารดาดังเช่นว่ามาแล้ว ซึ่งจะชี้เป็นตัวอย่าง ให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้ มีมากอยู่ก็แต่เมื่อแรกตั้งบรมราชวงศ์ เป็นเจ้าขึ้นใหม่ๆ เจ้าฟ้าโดยพระมารดาดังนี้ ก็นับว่าเป็นไบคอกเดสซี (By courtesy)"

กรณีของเจ้าฟ้าเทพซึ่งได้พระสวามีเป็นพระองค์เจ้าซึ่งมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าจึงเป็นกรณีที่พิเศษ ซึ่งพบได้ยาก อย่างไรก็ตามเมื่ออภิเษกกันแล้วก็ทำให้เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงได้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดาได้แม้ว่าพระบิดาเป็นเพียงพระองค์เจ้า ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

"พระบุตร พระบุตรี ของเจ้าฟ้าก็ดี เจ้าต่างกรมก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามารดาเป็นพระองค์เจ้า ลูกก็เป็นพระองค์เจ้า ดังเช่นเจ้าฟ้าหญิงมีลูกต้องเป็นเจ้าฟ้าเสมอมารดาฉะนั้น"

เจ้าฟ้าสังวาลย์จึงมีศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิด เมื่อได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้วก็คงทรงเป็นเจ้าฟ้าตามเดิม

"แต่ท่าน[พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ]ได้ถือว่าพระเกียรติยศท่านเหมือนพระเจ้าแผ่นดินที่ปราบข้าศึกศัตรูชนะได้แผ่นดิน จึงได้ตั้งหม่อมห้ามเดิมของท่าน ๒ คนซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของท่านห่าง ๆ ขึ้น เป็นกรมหลวงอภัยนุชิตองค์หนึ่ง กรมหลวงพิพิธมนตรีองค์หนึ่ง องค์แรกว่าเป็นพระอัครมเหสี องค์หลังว่าเป็นพระราชมเหสี เจ้าฟ้าสังวาลย์ น้องท่านอีกองค์หนึ่งก็คงเป็นเจ้าฟ้าตามเดิม แต่ว่าเป็นมเหสี มีพระราชโอรสธิดาถึง ๑๙-๒๐ องค์ด้วยกัน เป็นเจ้าฟ้าเหมือนกันทั้งสิ้น"

ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "อธิบายว่าด้วยยศเจ้านาย" ก็ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์และพี่น้องทรงเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

"เจ้าฟ้ายังมีอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นพระราชนัดดา คือ ถ้าพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า พระโอรสธิดาก็เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมารดา เจ้าฟ้าชั้นนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพงศาวดารครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ คือเจ้าฟ้าหญิงสังวาลย์และเจ้าฟ้าชายจีด พระบิดาทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว ลูกเธอในสมเด็จพระเพทราชา เจ้าฟ้าเทพราชธิดาของพระเจ้าท้ายสระเป็นพระมารดา ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นเจ้าฟ้าราชนัดดามาแต่เสด็จสมภพในรัชกาลที่ ๑ เพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ พระบรมราชชนนีเป็นเจ้าฟ้า"

"เจ้าฟ้าชั้นตรี" ถือเป็นเจ้านายชั้นพระอนุวงศ์ ไม่ใช่พระบรมวงศ์ (คือเจ้าฟ้าชั้นสูงและพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง) แต่เป็นพระอนุวงศ์ชั้นสูงสุด มีศักดิ์เสมอด้วยพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง แต่เวลาพระดำเนินตามธรรมเนียมต้องตามหลังพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง หากได้ทรงกรมก็มีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าต่างกรม ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า

"เจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนหนึ่งเจ้าฟ้าหลานเธอนับเป็นชั้นต่ำ ด้วยถึงเป็นกรมแล้ว ก็มียศอยู่เพียงเสมอพระองค์เจ้าต่างกรม แต่ความนิยมนับถือของคนทั้งปวงนั้นเป็นตามกาลตามเวลาตามผู้ชิดผู้ห่าง แลพระมารดาบริสุทธิ์น้อยในราชตระกูล จึงปรากฏเป็นเจ้าฟ้าสืบมา ไม่ได้ขาดระหว่างเลยจนถึงบัดนี้"

จึงควรสรุปได้ว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์ รวมถึงพี่น้องคือเจ้าฟ้าจีดและเจ้าฟ้านิ่ม ทรงเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของทั้งพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แม้ว่าจะทรงมีพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าก็ทรงเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิดจากข้างพระราชมารดาเป็นเกณฑ์ แต่เป็นเพียงพระอนุวงศ์ มีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงเท่านั้น

ส่วนที่ผู้สร้างศรีอโยธยานำเสนอในแนวทางว่าสามารถยกหม่อมเจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมื่อได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลยว่ามีธรรมเนียมดังกล่าว

เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย

แม้ว่าจะมีการสถาปนาพระภรรยาเจ้าถึงชั้นพระอัครมเหสีก็ไม่ได้แปลว่าพระอัครมเหสีองค์นั้นจะได้เป็นเจ้าฟ้า เพราะตามธรรมเนียมราชตระกูลโบราณเจ้าฟ้ามีเพียง ๗ ประเภทเท่านั้นคือ

๑. เมื่อแรกตั้งพระราชวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินสามารถตั้งพี่เธอน้องเธอร่วมชนกชนนี พระราชโอรส พระราชธิดา ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าได้

เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงยกสมเด็จพระพี่นางเธอ ๒ พระองค์ และพระเจ้าลูกเธอซึ่งเป็นพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ จะมีที่พิเศษคือสถาปนาเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาเป็นเจ้าฟ้าด้วย

๒. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยลูกหลวงหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน

เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรส พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ์ (By Right)

๓. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยหลานหลวงหรือพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน

เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right)

๔. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยธิดาเจ้าประเทศราช

เช่น เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แต่เดิมเป็นพระองค์เจ้าราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ซึ่งประสูติด้วยพระธิดาเจ้าเวียงจันทน์ ก็โปรดให้ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right) แต่เจ้าฟ้าประเภทนี้ไม่เป็นที่เคารพนับถือเท่ากับเจ้าฟ้าที่พระราชมารดาเป็นพระบรมราชวงศ์เดียวกับพระเจ้าแผ่นดิน

๕. เจ้าซึ่งมีพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า สามารถเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอได้ตามพระมารดา

เช่น เจ้าฟ้าจีด เจ้าฟ้าสังวาลย์ เจ้าฟ้านิ่ม ถือเป็นเจ้าฟ้าได้ตามธรรมเนียม (By courtesy)

๖. โอรสธิดาของวังหน้าซึ่งมีพระมารดาเป็นเจ้า พระเจ้าแผ่นดินสามารถตั้งเป็นเจ้าฟ้าได้

ทั้งนี้ตามธรรมเนียมแล้ว โอรสธิดาของวังหน้าเป็นได้แค่พระองค์เจ้า นอกจากมารดาเป็นเจ้าฟ้าจึงได้เป็นเจ้าฟ้าตามข้อ ๕ แต่มีพระองค์เจ้าบางองค์ที่เชื้อวงศ์ข้างพระมารดาอยู่พอจะยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้า ก็โปรดยกขึ้นให้เป็นเจ้าฟ้าพอเป็นเกียรติยศ ถือเป็นเจ้าฟ้าด้วยการแต่งตั้ง (Promotion)

ปรากฏในประวัติศาสตร์เพียง ๒ องค์คือ

- เจ้าฟ้าพิกุลทอง พระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงมีพระมารดาเป็นขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละแห่งเชียงใหม่

- เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระโอรสกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระมารดาคือพระองค์เจ้าดาราวดี พระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมก็เป็นพระองค์เจ้า จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับราชการเรียบร้อยแข็งแรงมากก็ทรงก็โปรดให้เป็นเจ้าฟ้า

๗. เจ้าที่เป็นพระราชบุตรพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ถ้ามารดาเป็นบุตรเสนาบดีมีความชอบ ถ้าแรกตั้งพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้เป็น ก็เป็นเจ้าฟ้าได้

เช่น เจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ หรือ เจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมารดาคือพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเป็นเจ้าฟ้าแต่กำเนิด (เข้าใจว่าเพราะยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีศักดิ์เสมอเจ้าต่างกรม) เป็นเจ้าฟ้าวิเศษไม่ใช่เจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right)

จะเห็นได้ว่าไม่มีธรรมเนียมยกหม่อมเจ้าเป็นเจ้าฟ้าเมื่อทรงยกขึ้นเป็นมเหสีเลย เต็มที่ก็พบว่าสามารถยกหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้าเท่านั้น ดังที่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรับพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าโสมนัส (สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี) และ หม่อมเจ้ารำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) มาเป็นพระราชเทวี ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกย่องขึ้นเป็นพระองค์เจ้าทั้งสององค์ เพื่อที่จะให้สมพระเกียรติยศเจ้าฟ้าพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหากถือธรรมเนียมอย่างโบราณ พระมารดาเป็นเพียงหม่อมเจ้าไม่สมควรที่จะมีโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้า (ต่างจากสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมาที่ไม่นิยมอภิเษกสมรสกันเองในหมู่เครือญาติใกล้ชิดแล้ว แม้เป็นพระอนุวงศ์หรือชั้นสามัญชนอย่างหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ก็สามารถยกย่องเป็นพระภรรยาเจ้าเพื่อให้มีพระโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้าได้)

นอกจากนี้หากเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเคยเป็นหม่อมเจ้าแล้วได้เป็นเจ้าฟ้าเพราะได้เป็นมเหสีจริง แล้วเหตุใดเจ้าฟ้าจีดที่ไม่ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเป็นเจ้าฟ้าด้วย เรื่องนี้จึงไม่มีความสมเหตุสมผลแต่ประการใด กลับกลายเป็นการลดทอนฐานันดรศักดิ์ของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ลงมา และยังสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้แก่ผู้ชมทั่วไปที่ไม่ทราบธรรมเนียมราชตระกูลด้วย

ซึ่งหากผู้สร้างยอมสละเวลาศึกษาสักเล็กน้อยมากจะใช้ความเข้าใจของตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และธรรมเนียมราชสำนักอื่นๆ ที่ศรีอโยธยาได้นำเสนอมาแล้ว ก็น่าจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมมากกว่าที่เป็นอยู่ครับ

เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย

ภาพประกอบจาก ภาพยนต์ซีรี่ย์ ศรีอโยธยา 
ที่มา FB วิพากษ์ประวัติศาสตร์

เรื่องราวของ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สืบเนื่องจาก ศรีอโยธยาตอนสุดท้าย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์