ลอมพอกไม่ใช่ของเขมรและไม่ได้มาจากเปอร์เซีย


ลอมพอกไม่ใช่ของเขมรและไม่ได้มาจากเปอร์เซีย


อยากจะเขียนมาหลายวันแล้ว เพิ่งจะมีแรงและเพิ่งจะว่างเขียนเรื่อง "ศึกชิงลอมพอก" เพราะเขมรบางคนบอกว่า "ลอมพอกเป็นของเรา"

ลอมพอกมีอยู่ในวัฒนธรรมเขมรเหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่ารับมาจากไทยแน่นอน ดูจากคำเรียกในภาษาเขมรแล้วกันคือ ลมพก (លំផក) คำนี้ไม่มีความหมาย เพราะรับมาจากคำไทย

รู้ได้อย่างไรว่ารับจากคำไทย? เพราะในพจนานุกรมฉบับสมเด็จพระสังฆราชชวน ณาต แห่งกรุงกัมพูชาธิบดี ท่านกำหนดไว้ว่า លំផក เป็นคำ ស.

ស. ตัวนี้ย่อมาจาก เสียมหรือสยาม หมายความว่ามันเป็นคำภาษาไทย

ลอมพอกนั้นเป็นคำไทยแท้ๆ และมีความหมาย เดิมนั้นมันมาจากคำว่า "ลอม" กับ "โพก" ดังสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์อธิบายไว้ว่า

"ลอมพอก ก็คือ ลอมโพก (สระ โอ กับ ออ สับกันอยู่เสมอไม่ว่าภาษาไร) เดิมเราไว้ผมสูงจึงใช้ผ้าโพกพันสูงขั้นไปตามมวยผม ครั้นเราตัดผมเสียแล้วจึงต้องทำลอมสวมต่างผมสูงขึ้นโพกผ้าแทน"

แต่ก่อนนั้นคนผู้ชายก่อนอยุธยาและถึงยุคกลางอยุธยาไว้ผมมวย จึงต้องโพกผ้า เวลาโพกก็ต้องดึงขึ้นสูงเป็นยอดแหลม ผ้าโพกแบบนี้โบราณท่านว่าวิวัฒนาการมาเป็นสองสิ่งคือ ลอทพอก ๑ ชฏา ๑
ชฎา โดยความหมายแปลว่า รกชัฏ คือทรงผมของพวกฤาษีชีไพร แต่นานเข้าผมทรงชัฏ (รก) ก็เป็นที่นิยมในหมูคฤหัสถ์ เช่น พวกพระราชา ทรงมวยกระโจมให้สวยเข้า แล้วแต่งเติมให้สวยขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

เรื่องนี้หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล สมุหพระราชพิธี แห่งสำนักพระราชวัง ท่านอธิบายไว้อย่างนี้

"ในชั้นต้นไทยเราคงไว้ผมสูง โพกผ้า แล้วมีพวงดอกไม้สวมผม ต่อมาเมื่อไว้ผมสั้นลง ก็ทำผ้าโพกให้เป็นรูปกระโจมอย่างเดิม ซึ่งเรียกกันบัดนี้ว่า "ลอมพอก" ใช้สวมศีรษะแทนผ้าโพก แล้วเอาพวงดอกไม้นั้นไปสวมลอมพอก เช่นที่เคยสวมผมมาแต่ก่อน ครั้นมีหมวกเข้ามา ก็เอาพวกดอกไม้ไปสวมรอบหมวก พวงดอกไม้ที่กล่าวนั้นเรียกว่า "มาลา" และโดยเหตุที่โบราณเอามาลาไปสวมหมวก จึงได้ทำให้เป็นที่เข้าใจกันว่ามาลาแปลว่าหมวก แท้จริงคำว่ามาลานั้นหมายความถึงพวงดอกไม้ที่สวมรอบหมวกอย่างผ้าพันหมวกปัจจุบันนี้ การเอาดอกไม้ไปสวมลอมพอก และหมวกต้องทำกันบ่อยๆ ดอกไม้สดย่อมเหี่ยว จำต้องหาใหม่เสมอ จึงได้เปลี่ยนพวงดอกไม้นั้นเป็นทำด้วยโลหะ เช่น เงินหรือทองอันถาวรอยู่ได้ขึ้นแทน พวงดอกไม้โลหะที่สวมลอมพอกหรือสวมหมวกนั้นมาจากพวกดอกไม้ของเดิม ซึ่งร้อยเอาปลายทั้ง ๒ เกี้ยวกัน จึงเรียกย่อๆ ว่าเกี้ยว ลอมพอกนั้น ต่อมาวิวัฒนาการทำด้วยโลหะ เช่น ทอง ทองลงยา จนถึงทองลงยาประดับเพชร เรียกว่า ชฎา ซึ่งแปลว่ายุ่งหรือรก อันหมายถึงการไว้ผมโหย่งอย่างเดิมหรืออย่างชฎิลนั่นเอง"

และถ้าไปดูจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางจะเห็นลอมพอกที่คล้ายชฎาฤาษีอย่างมาก คือทรงกรวยอ้วนๆ และปลายตัด ต่อมากรวยอวบๆ จะถูกดึงให้ชลูดขึ้น และปลายตัดก็รวบให้มนเข้าและดึงหงายหลังให้โค้งสวยงาม

ลอมพอกหรือลอมโพก น่าจะได้ได้คำว่าลอมมาจากกริยาการโน้มเข้ามารวบเป็นจอมหรือยอด ดูแล้วเมื่อผสมกันเข้าคำว่า "ลอม" และ "โพก" เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย

ดังนั้นทั้งที่มาและความหมายมันเป็นไทยแท้ๆ ไม่ใช่ของเขมรที่ยืมกระทั่งศัพท์ไทยไป
และผมเชื่อว่าลอมพอกไม่ได้มาจากเปอร์เซียด้วย แม้มันจะคล้ายหมวกเปอร์เซีย คือ Qizilbash แต่โดยรายละเอียดมันต่างกันมาก Qizilbash ของเปอร์เซียนั้นมีลอมเป็นยอดก็จริง แต่ลอมนั้นเป็นส่วนต่างหาก สวมไว้แล้วใช้ผ้าเคียนอีกชั้นจนโป่ง ต่างจากลอมพอกของเราที่เป็นผ้าเคียนที่ดึงขึ้นเป็นจอมคลุมกระโจม และดูเรียบเสมอกัน

เรื่องครุยก็เหมือนกัน ผมไม่เชื่อว่ามาจากเปอร์เซีย แต่จะขอยกยอดไปวันหลัง เพราะน่าจะยาว เอาเป็นว่าครุยนี้เขมรก็อ้างว่าเป็นของตน


แต่ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาฉบับแปลไทย เขียนไว้ว่าครุยนั้นเขมรรับมาจากไทย ดังกล่าวไว้ว่า "ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระศรีสุริโยพรรณ) นั้น (การแต่งกาย) พระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ส่วนขุนนางข้าราชการใหญ่น้อยให้ใส่ครุยตามตำแหน่งยศ (อย่างแบบที่ใช้อยู่ในกรุงศรีอยุธยา)" และยังให้ขานรับสั่งอย่างอยุธยาด้วย

ในพงศาวดารเขมรฉบับแปลฝรั่งเศส คือ Le Cambodge des Chroniques ก็บอกชัดว่า ครุย (เขมรเรียก อาวผาย) นั้น "le roi adopta la longue tunique jaune des Siamois" คือ กษัตริย์ทรงรับแบบเสื้อคลุมยาวของชาวสยามมา" แต่เสริมด้วยว่าเป็นครุยยาวสีเหลือง (tunique jaune)

รัชกาลพระศรีสุริโยพรรณนั้นตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังนั้นครุยที่เขมรรับมาจากอยุธยา ไม่ควรมาจากเปอร์เซีย เพราะเปอร์เซียเพิ่งจะมาถึงอยุธยาปลายสมัยพระนเรศวร ไม่น่าจะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนไทยมากนัก

ผมเชื่อว่าเขมรทั้งปวงก็ลืมไปแล้วว่าครุยรับมาจากอยุธยา แต่คนไทยเราอย่าลืม จงจำไว้ว่าเราส่งต่อไปให้ และควรตรึกตรองให้ดีก่อนจะด่วนสรุปว่าทั้งลอมพอกและครุยนั้นน่าจะรับมาจากแขก แต่เราคิดขึ้นมาเองหรือเปล่า?

ดังในบันทึกสมัยราชวงศ์หมิงก็บอกว่า "คนเซียนหลัว" ไว้ผมเกล้ามวยและใช้ผ้าขาวโพกศีรษะ ตอนแรกผมนึกว่าคงจะโพกอย่างคนล้านนาหรือคนไทขึนกระมัง? แต่มาถึงจุดนี้ผมสงสัยว่าน่าจะโพกแบบลอมพอกเสียแล้ว

ลอมพอกเขมรนั้นวิธีใช้ก็คล้ายไทย คือให้ขุนนางใส่ในงานพระราชพิธี ให้นาคใส่เวลาจะเข้าบวช
แต่เขมรจะรับจากไทยเมื่อไร อันนี้ยังค้นไม่เจอ แต่เจอว่าเขมรยุคนี้อ้างเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเสียแล้ว
อันที่จริงขนบธรรมเนียมใช้ร่วมกันไม่เป็นปัญหาหรอกครับ ดีเสียอีก ยิ่งเขมรกับภาคกลางของไทยนั้นสนิทสนมเป็นญาติในทางวัฒนธรรม จะแยกของข้าแยกของเอ็งมันหาควรไม่ เพราะเท่ากับตัดญาติกัน และยังยืมกันไปให้กันมาจนนานนม บางอย่างไม่รู้ใครเป็นต้นตำรับ

แต่ไอ้ของที่รู้ว่าต้นตำรับมาจากไหนอย่างกรณีของลอมพอก ก็ควรรับทราบไว้และให้เครดิตเขาด้วย ไม่ใช่โมเมมั่วๆ เสียประวัติศาสตร์หมด

ป.ล. ภาพประกอบ คือขุนนางสวมลอมพอกเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วาดครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก



ลอมพอกไม่ใช่ของเขมรและไม่ได้มาจากเปอร์เซีย


เครดิตแหล่งข้อมูล :
FB Kornkit Disthan


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์