ตัวตนของ “พระคลังชาวจีน” ผู้ถูกแขกสังหารในผ้าเหลือง


ตัวตนของ “พระคลังชาวจีน” ผู้ถูกแขกสังหารในผ้าเหลือง


   ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276) เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคต เกิดสงครามชิงราชสมบัติระหว่างฝ่ายวังหน้าของเจ้าฟ้าพรพระอนุชาผู้เป็นพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) กับฝ่ายวังหลวงของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ พระมหาอุปราชเป็นฝ่ายชนะ ขุนนางที่เข้ากับฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยถูกกำจัดหลายคน

ในหลักฐานร่วมสมัยของมิชชันนารีฝรั่งเศสคือเมอซิเออร์โอมงต์ (M. Aumont) เมอซิเออร์เลอแมร์ (M. Le Maire) รวมถึงรายงานของ ปีเตอร์ ไซเอ็น (Pieter Sijen) หัวหน้าสถานีการค้า (opperhoofd) บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Verenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำสยามในเวลานั้น ได้กล่าวถึงเสนาบดีพระคลังชาวจีน เป็นหนึ่งในแกนนำขุนนางที่เข้ากับฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์

โอมงต์บันทึกว่า หลังจากฝ่ายวังหลวงพ่ายแพ้ พระคลังชาวจีนผู้นี้ได้หลบหนีราชภัยโดยบวชเป็นพระภิกษุ แต่พระมหาอุปราชได้ส่งชาวมลายูประมาณ 30 คนไปจับกุมตัวมา ชาวมลายูแทงพระคลังชาวจีนด้วยดาบแต่ไม่ได้สังหารให้ตาย เนื่องจากพระมหาอุปราชมีพระประสงค์จะสังหารจะสังหารเขาด้วยวิธีการอันโหดร้ายในภายหลัง โดยทำเป็นการลับเนื่องจากพระคลังไม่ยอมสึก

อ้างอิงรายงานของปีเตอร์ ไซเอ็น ถึงเมืองปัตตาเวีย ใน ค.ศ. 1633 และรายงานของชาวดัตช์ชื่อ วิลเลิม เดอ ไค (Willem de Ghij) ใน ค.ศ. 1634 (พ.ศ. 2277) ระบุว่าตอนแรกพระคลังชาวจีนได้รับการไว้ชีวิตเนื่องจากมีผ้าเหลืองคุ้มกายอยู่ แต่กล่าวกันว่าสาเหตุหนึ่งเพราะยังมีเครือข่ายอิทธิพลในราชสำนัก พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศต้องการจะสังหารพระคลังชาวจีนแต่เพราะทรงถูกกดดันจึงโปรดให้คุมขังไว้ในวัดแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่กี่เดือนพระคลังชาวจีนผู้นี้ถูกพาตัวออกมาจากวัดและถูกชาวมลายู สองคนสังหารทิ้ง โดยดัตช์ได้ยินว่าพระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร) เป็นผู้ออกคำสั่ง แต่เชื่อกันว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรู้เห็นด้วยแต่ทรงเกรงว่าจะทำให้เหล่าพระสงฆ์ไม่พอใจที่สังหารพระ ภายหลังจากถวายพระเพลิงพระเจ้าท้ายสระแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้พระราชทานอภัยโทษให้ข้าราชการชาวมลายูสองคนที่สังหารพระคลังชาวจีน
.
หลายแห่งอ้างว่าพระคลังชาวจีนที่ถูกประหารทั้งผ้าเหลืองคนนี้คือ "พระยาโกษาธิบดีจีน" ที่เป็นแม่ทัพเรือไปทำสงครามในเขมรช่วง ค.ศ. 1717-1718 (พ.ศ. 2260-2261) แต่พิจารณาจากจดหมายเหตุเรื่องการกดขี่มิชชันนารีในสยามใน ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273) ของสังฆราชฌ็อง-ฌัก เตสซีเย เดอ เกราแล (Jean-Jacques Tessier de Quéralay) ประมุขมิสซังสยามในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้บันทึกถึงเสนาบดีกรมพระคลังในช่วงปลายรัชกาล ระบุว่า "พระคลังเป็นคนอายุน้อย ไม่คุ้นเคยเรื่องในอดีต" (Le barcalon qui est jeune et peu courant des affaires passées) ในขณะที่จดหมายเหตุของโอมงต์ระบุว่าสังฆราชเตสซีเย เดอ เกราแล ได้ไปเข้าร่วมในที่ประชุมเรื่องคริสต์ศาสนาที่มีพระเจ้าท้ายสระ พระมหาอุปราช จักรี (สมุหนายก) และพระคลัง เจ้านายเชื้อพระวงศ์เก่าองค์หนึ่ง และข้าราชการอื่นๆ โดยระบุว่า "พระคลังเป็นคนที่หนุ่มที่สุด" (Le barcalon étant le plus jeune) ในที่ประชุม

พิจารณาจากอายุของพระคลังคนนี้ที่ยังหนุ่ม อายุน้อยกว่าทั้งพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงไม่ควรเป็นบุคคลเดียวกับพระยาโกษาธิบดีจีนที่หลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศสรายงานไว้ตั้งแต่ใน ค.ศ. 1714 (พ.ศ. 2257) ว่าเป็นเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลมากและได้รับการโปรดปรานนับถือมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระก็ทรงโปรดปรานนับถือเช่นเดียวกัน
.
หลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศสรายงานว่า "พระคลัง" ช่วงปลายรัชกาลคนนี้เป็นศัตรูกับศาสนาคริสต์และมิชชันนารีอย่างเปิดเผย และพยายามกดขี่ข่มเหงขูดรีดมิชชันนารีด้วยวิธีการต่างๆ และเป็นคนนำหลักศิลาประกาศพระราชโองการห้ามมิชชันนารี 4 ข้อคือ

1. ห้ามใช้ตัวหนังสือไทยและขอมเขียนหนังสือสอนศาสนาคริสต์

2. ห้ามเทศน์สอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย

 3. ห้ามคนไทย มอญ ลาว ขอสิ่งของจากมิชชันนารีและห้ามเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์

4. ห้ามเขียนหนังสือติเตียนคัดค้านศาสนาพุทธ ไปตั้งไว้หน้าโบสถ์นักบุญยอแซฟ ใน ค.ศ. 1731 (พ.ศ. 2274)


เลอแมร์ รายงานว่า ใน ค.ศ. 1732 (พ.ศ. 2275) มิชชันนารีฝรั่งเศสจากเมืองจีนได้ส่งเด็กชาวจีน 4 คนโดยสารเรือมาให้มิชชันนารีที่สยาม แต่กัปตันเรือไม่ได้รับค่าจ้างจึงนำเด็กทั้ง 4 คนไปมอบให้เสนาบดีพระคลัง พระคลังซึ่งต้องการรังแกชาวคริสต์จึงให้เอาเด็กไปให้ขุนนางจีนคุมตัวไว้ ต่อมาจึงให้ไปที่วัดจีนและบังคับให้กราบรูปเคารพ เด็กทั้ง 4 คนไม่ยอมจึงถูกแขวนโยงและเฆี่ยนตี แล้วถูกส่งตัวให้ขุนนางจีน 2 คนคุมตัวโดยมีสภาพไม่ต่างจากอยู่ในคุกอยู่ประมาณปีหนึ่ง จนกระทั่งเปลี่ยนรัชกาลและเปลี่ยนเสนาบดีกรมพระคลัง มิชชันนารีจึงไปขอตัวเด็กเหล่านี้ออกมาได้

เลอแมร์ยังระบุว่าช่วงสงครามชิงราชสมบัติ พระคลังคนนี้ให้เตรียมคน 200 คนซุ่มไว้ในป่ารอบบ้านเรือนมิชชันนารี หากกองทัพของพระมหาอุปราชพ่ายแพ้จะให้คนที่ซุ่มไว้ไปเผาบ้านเรือนและสังหารมิชชันนารีทั้งหมด แต่ไม่เกิดเหตุขึ้นเพราะพระมหาอุปราชชนะสงคราม
.
เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงขุนนางฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยสองคนที่หนีไปบวชและถูกแขกจามแทงตายในวัดทั้งผ้าเหลืองเช่นเดียวกัน แต่ระบุชื่อว่า พระยาพิชัยราชา (เสม) กับพระยายมราช (พูน) (พระยาพิชัยราชาเอกสารบางฉบับเรียกว่า ‘พระยาอภัยราชา' คำว่า ‘พิชัย' กับ ‘อภัย' มักสะกดสลับกันในเอกสารสมัยอยุทธยาและต้นรัตนโกสินทร์)

"เสม พิชัยราชา พูน ยมราช หนีไปบวช จับมาได้ ณ เมืองสุพรรณ เอามาคุมไว้ที่วัดฝาง สังข์ ราชาบริบาล หนีไปบวช เป็นเถร จับได้ณแขวงเมืองบ่อชุม เจ้าทั้งสองพระองค์นั้นให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทน์ เสม พิชัยราชา พูน ยมราช นั้น แขกจามแทงเสียนอกประตูวัดฝาง สังข์ ราชาบริบาล สึกออกเอาไปล้างเสีย ณ ตะแลงแกงนั้น" - พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

"ส่วนนายเสมพญาพิไชยราชา แลนายพูนพญายมราช คนทังสองนี้ ครั้นเจ้าหนีไปแล้ว ก็ภากันหนีไปบวดเปนภิกษุอยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบูรีย ข้าหลวงทังหลายติดตามไปได้ตัวภิกษุทั้งสองนั้นมา ให้รักษาคุมตัวไว้ในวัดฝาง นายสังราชาบริบาล หนีไปบวดอยู่แขวงเมืองบัวชุม ข้าหลวงติดตามไปได้ตัวมา ศึกออกแล้วให้ประหารชีวิตรเสียที่หัวตะแลงแกง พระมะหาอุปราชให้แขกจามมาแทงภิกขุสองรูปอันอยู่ที่วัดฝางนั้นตายเพลากลางคืน"
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน

"อันพระยาอภัยราชา กับพระยายมราชหนีไปบวชเป็นสงฆ์ เป็นกรรมที่จักตายนั้น จึ่งแต่งแขกอาสาออกไป ครั้นเวลาค่ำแขกอาสาจึ่งเข้าไปแทงเสียทั้งสองคน อันพระยาอภัยกับพระยายมราชก็ถึงแก่ความตาย" - ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม
.
พระยายมราชเป็นตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล ส่วนตำแหน่ง "พิชัยราชา" หรือ "อภัยราชา" ไม่ปรากฏในทำเนียบขุนนางในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนหรือนาทหารหัวเมืองสมัยอยุทธยา แต่ปรากฏในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าว่า "พระยาอภัยราชา" เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าราชทินนาม "พิชัยราชา" ในสมัยอยุทธยาใช้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยราชการในกรมพระคลัง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าอ้างอิงจากหลักฐานใด) ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศมีชาวจีนคนหนึ่งเป็น "หลวงพิชัยราชา" ซึ่งได้ติดตามพระยาตาก (สิน) ฝ่าทัพพม่าออกจากพระนคร ในสมัยธนบุรีได้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลก

หากสันนิษฐานตำแหน่งราชการพิจารณาเทียบกับหลักฐานชั้นต้นของดัตช์และฝรั่งเศส มีความเป็นไปได้ว่าพระยาพิชัยราชา (เสม) (ถ้าเชื่อว่าเป็นตำแหน่งผู้ช่วยราชการในกรมพระคลัง) อาจเป็นบุคคลเดียวกับ "พระคลังชาวจีน" ในหลักฐานฝรั่งเศสและดัตช์ที่ถูกแขกสังหารในผ้าเหลืองเหมือนกัน โดยขุนนางผู้นี้อาจได้ว่าราชการเป็นที่ "พระคลัง" หรือ "โกษาธิบดี" อยู่ในเวลานั้น จึงทำให้ชาวต่างประเทศเรียกว่า "พระคลัง" (barcalon) เพราะบ่อยครั้งที่หลักฐานยุโรปมักเรียกขุนนางที่มีอำนาจตัวจริงในกรมพระคลังว่า "พระคลัง" แม้ว่าจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นโกษาธิบดีเสนาบดีกรมพระคลังโดยตรงก็ตาม
.
ไม่มีหลักฐานที่ระบุอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "พระคลังชาวจีน" กับพระยาโกษาธิบดีจีนที่ไปรบที่เขมร แต่สันนิษฐานว่า "พระคลังชาวจีน" อาจเป็นคนจีนฮกเกี้ยนในเครือข่ายอิทธิพลของพระยาโกษาธิบดีจีนซึ่งมีหลักฐานว่ามีเครือญาติเป็นขุนนางเมืองเซี่ยเหมินในมณเกี้ยนฮกเกี้ยนและสนับสนุนชาวจีนให้มาดำรงตำแหน่งราชการจำนวนมาก และพิจารณาจากการได้เป็นที่เสนาบดีพระคลังที่มีอิทธิพลตั้งแต่อายุน้อย ก็มีโอกาสที่ "พระคลังชาวจีน" จะเป็นเครือญาติของพระยาโกษาธิบดีจีนที่อาศัยบารมีของครอบครัวจนเป็นใหญ่ในราชการ

การประหาร "พระคลังชาวจีน" พร้อมข้าราชการสมัยพระเจ้าท้ายสระอีกหลายคนในช่วงผลัดแผ่นดิน น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะของชาวจีนในสยามพอสมควร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้าราชการที่ดูแลพระคลังสินค้าและการต่างประเทศไปจากชาวจีนเคยถือครองอยู่ ตำแหน่ง "โกษาธิบดี" ตกเป็นของขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ขุนนางเชื้อสายพราหมณ์ซึ่งเป็นคนวังหน้าของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี และพบหลักฐานว่าเครือญาติได้มาดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกรมพระคลังในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลายคน บุตรชายชื่อสว่างเป็นพระยาราชภักดี จางวางพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชภักดีว่าที่สมุหนายก บุตรเขยชื่อฉิมได้เป็นพระยาสมบัติบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา ภายหลังเจ้าพระยาราชภักดีเสียชีวิตได้เลื่อนเป็นพระยาราชภักดี ได้เป็นที่จตุสดมภ์กรมพระคลัง (บางฉบับว่าเป็นพระยาพิพัทโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง) และเลื่อนเป็นพระยาพระคลังหลังเจ้าพระยาชำนาญฯ ถึงแก่อสัญกรรม

จดหมายของดัตช์เขียนโดยปีเตอร์ ไซเอ็น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276) ระบุว่ามีการแต่งตั้ง "ออกพระโชฎึก" เจ้ากรมท่าซ้ายซึ่งเป็นผู้ดูแลชาวจีนในสยามและการค้าฝั่งตะวันออกของสยามคนใหม่ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของราชสำนักติดต่อเรื่องการค้ากับ VOC (กิจการการค้าของดัตช์หรือวิลันดาอยู่ในการดูแลของกรมท่าซ้าย มีหลวงเทพภักดีเป็นเจ้าท่าวิลันดาในสังกัดกรมท่าซ้าย เพราะดัตช์มีคู่ค้าสำคัญคือญี่ปุ่นโดยเป็นชาติยุโรปชาติเดียวที่ค้าขายกับญี่ปุ่นในช่วงปิดประเทศได้ และได้รับสิทธิการผูกขาดการค้าหนังสัตว์ในสยามเพื่อส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น)
.
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการสิ้นอำนาจของ "พระคลังชาวจีน" อาจสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยน โดยใน ค.ศ. 1634 (พ.ศ. 2277) ชาวจีนย่านนายก่ายซึ่งเป็นชุมชนจีนฮกเกี้ยนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงศรีอยุทธยาจำนวนกว่า 300 คนได้ก่อกบฏบุกยึดพระราชวังหลวงระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปล้อมช้างที่แขวงเมืองลพบุรี แต่ล้มเหลว

"ครั้น ณ เดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำ ผู้อยู่รักษากรุงเทพมหานคร บอกหนังสือขึ้นไปให้กราบทูลพระกรุณาว่า จีนนายไก้ คบคิดกันเพลาค่ำยกขึ้นมา จะเข้าปล้นเอาพระราชวังหลวงประมาณ ๓๐๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงชวนกันออกไล่ตีจีนแตกหนีกระจัดกระจายไป ทรงทราบแล้ว เพลาตี ๑๑ ทุ่มจะรุ่งขึ้นวันแรม ๑๑ ค่ำ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมา ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ครั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงกรุงแล้ว จึงทรงพระกรุณาสั่งให้สืบสาวจับจีน ซึ่งคบคิดกันจับได้ ๒๘๑ คน ทรงพระกรุณาสั่งให้ลงพระราชอาญาขับเฆี่ยนโบยตี ที่เป็นต้นเหตุ ๑๐ คน ให้ประหารชีวิตเสีย ที่ปลายเหตุนั้น ให้จำไว้ ณ คุก" - พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
.
รายงานของสังฆราชเตสซีเย เดอ เกราแล ระบุว่า
กบฏชาวจีนไม่ได้มีจุดประสงค์ในการปกครองแผ่นดินเอง แต่มีต้องการตั้งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่จะให้คุณประโยชน์แก่พวกตนมากขึ้น นอกจากชาวจีนยังมีชาวสยามเข้าร่วมกับกบฏด้วย แต่สุดท้ายเมื่อปราบปรามจีนกบฏลงได้ มีรายงานว่ามีชาวจีนและชาวสยามจำนวนมากถูกประหารชีวิต มีชาวสยามอีกนับพันคนหลบหนีไปอยู่บนหุบเขา ชาวจีนบางคนหลบหนีไปถึงกัมพูชาและเวียดนาม ทรัพย์สินของกบฏถูกริบเข้าหลวง ชาวจีนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับกบฏที่ได้ละเว้นชีวิตต้องโทษให้ไปทำงานโยธาโดยถูกล่ามตรวนที่เท้า

ในรายงานของเมอซิเออร์เลอแมร์ ระบุว่าพบจีนเหล่านี้ในเรือสำเภาทั้งสามลำที่เข้ามาในสยามในปีนั้น (ค.ศ.1734) และสงสัยว่าราชสำนักต้าชิงที่ปักกิ่งจะมีท่าทีอย่างไรเมื่อทราบข่าวเรื่องนี้ โดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเตรียมส่งสำเภาสองลำไปเมืองจีนพร้อมส่งพระราชสาส์นแจ้งเหตุการณ์ในสยามให้จักรพรรดิต้าชิงทราบ โดยหลักฐานของ VOC เมื่อ ค.ศ. 1737 (พ.ศ. 2280) ระบุว่าสำเภาหลวงที่ส่งไปยังราชสำนักต้าชิงสองลำกลับมาเพียงลำเดียวและว่างเปล่าเพราะสินค้าถูกยึดที่กวางตุ้ง คณะทูตของพระเจ้าอยู่บรมโกศได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย สันนิษฐานว่าอาจเพราะทางการจีนที่กวางตุ้งจะไม่พอใจต่อเหตุการณ์ปราบปรามกบฏจีนในสยาม

แต่สยามกับต้าชิงคงไม่ได้มีปัญหากันมาก ในหลักฐานของราชวงศ์ชิงคือชิงสือลู่ (清實錄) ระบุว่า ราชสำนักต้าชิงที่ปักกิ่งให้การรับรองคณะทูตสยามที่มาจิ้มก้องถวายบรรณาการใน ค.ศ. 1736 (พ.ศ. 2279) ตามสมควร นอกจากนี้เมื่อคณะทูตสยามได้ขอซื้อทองแดง 700-800 ชั่งจากมณฑลกวางตุ้งซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของจีนที่ห้ามนำทองแดงออกนอกอาณาจักร แต่จักรพรรดิเฉียนหลงก็โปรดพระราชทานทองแดง 800 ชั่งให้เป็นกรณีพิเศษในครั้งนี้

หลังจากนี้ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็พบว่ามีการทำการค้าขายเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนเป็นประจำ โดยต้าชิงยังมีนโยบายในการนำเข้าข้าวจำนวนมากจากสยามอย่างต่อเนื่อง การค้าระหว่างสยามกับจีนในสมัยอยุทธยาตอนปลายจึงอยู่ในภาวะเฟื่องฟู



ตัวตนของ “พระคลังชาวจีน” ผู้ถูกแขกสังหารในผ้าเหลือง


เครดิตแหล่งข้อมูล :
FBวิพากษ์ประวัติศาสตร์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์