เพจดังเปิดข้อมูล พร้อมฟาดเดือด กัมพูชาไม่มีวันได้ครอบครองเกาะกูด


เพจดังเปิดข้อมูล พร้อมฟาดเดือด กัมพูชาไม่มีวันได้ครอบครองเกาะกูด


เพจดัง โบราณนานมา โพสต์ข้อความปมประเด็น"เกาะกูด" ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ระบุว่า
[ นอกจากกัมพูชาจะไม่มีวันได้ครอบครอง "เกาะกูด" แล้ว กัมพูชาควรคืน "ประจันตคีรีเขตร (เกาะกง)" อดีตเมืองคู่แฝดประจวบคีรีขันธ์ ให้ประเทศไทย ]
.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ ๒ เมืองที่อยู่ในเส้นรุ้ง (ละติจูด : latitude) เดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งอ่าวไทยให้เป็นเมืองคู่กัน คือ "เมืองนางรมย์" เป็น "ประจวบคีรีขันธ์" ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกกับ "เกาะกง" เป็น "ประจันตคีรีเขตร" ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก ให้มีชื่อคล้องจองกัน โดยมีประกาศ เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๙๘
.
ในสมัยนั้นเมื่อฝรั่งเศสยึดญวน (เวียดนาม) และเขมร (กัมพูชา) ได้แล้ว ก็พยายามรุกเข้าลาว ซึ่งอยู่ในความปกครองของสยาม และพยายามบีบสยามทุกวิถีทาง โดยถือว่ามีอาวุธที่เหนือกว่า เมื่อเกิดกบฏฮ่อขึ้นในแคว้นสิบสองจุไท และสยามกำลังจะยกกำลังไปปราบ ฝรั่งเศสก็ชิงส่งทหารเข้าไปปราบเสียก่อน อ้างว่าเพื่อช่วยสยาม แต่เมื่อปราบฮ่อได้แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารออก ถือโอกาสยึดครอง เพราะมีเป้าหมายจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด
.
ในที่สุดวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะต้องจดจำก็คือ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้ากงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และยังเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนอีก ๑๐ ลำมาร่วมปิดอ่าวไทย ต่อมาได้ส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม จนการค้าขายต้องหยุดชะงักหมด ยื่นเงื่อนไขให้สยามถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดภายใน ๑ เดือน ให้วางเงินทันที ๓ ล้านฟรังก์ ยื่นข้อเรียกร้องให้สยามตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง
.
รัฐบาลสยามรู้ดีว่าข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ พยายามต่อรองบ่ายเบี่ยงแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องยอมลงนามในสัญญาข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในวันที่ ๓ ตุลาคม
.
ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายออกสำรวจปักปันเขตแดนนั้น ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน เพื่อให้สยามปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าจันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งสยามก็ต้องยอมอีก
.
ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ แต่เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ฝรั่งเศสกลับหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลา และบีบคั้นให้สยามเซ็นสัญญาอีกฉบับ ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ โดยฝรั่งเศสจะยอมผ่อนคลายสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้หมายถึงยกให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส
.
สยามในเวลานั้นก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน
.
แต่แล้วชั้นเชิงแบบหมาป่าก็ยังไม่สิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้สยามปฏิบัติตามสัญญานี้ ฝรั่งเศสขอยึดจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมสิงห์ในอำเภอแหลมงอบ รวมทั้งเกาะกงซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดประจันตคีรีเขตของสยาม ให้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจเส้นพรมแดนตามสัญญานี้ให้ฝรั่งเศสเสร็จเสียก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี
.
สยามก็ต้องยอมเช่นเคย การสำรวจเสร็จสิ้นลงในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีในวันที่ ๑๒ มกราคมต่อมา
.
ความอยากได้ดินแดนสยามของฝรั่งเศสยังไม่จบ มีจิตรกรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อองรี อูโมต์ ได้เขียนรูปนครวัดนครธมไปเผยแพร่ ฝรั่งเศสเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยอยากได้ไว้เป็นสมบัติของตัว รวมทั้งอยากได้ทะเลสาบเสียมราฐอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเสนอแลกตราดกับเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณซึ่งเป็นมณฑลบูรพาของสยาม สยามอยากได้ตราด ซึ่งมีคนไทยอยู่คืนมาจึงยอมอีก
.
ในสัญญาฉบับใหม่ที่ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ ไทยต้องยกมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับ อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดตราด ตั้งแต่แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูด แต่ไม่ยอมคืนจังหวัดประจันตคีรีเขตด้วย
.
เป็นอันว่า "จังหวัดประจันตคีรีเขตร" หรือ เกาะกง จึงต้องหลุดไปอยู่กับฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นส่วนหนึ่งของเขมรในขณะนี้ ตอนนั้นมีคนไทยที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้สละบ้านช่องย้ายมาอยู่เกาะกูดและจันทบุรีเป็นจำนวนมาก คนเขมรจากเมืองต่าง ๆ จึงย้ายเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันในเกาะกง ปรากฏว่ามีชาวไทย เพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้น
.
ชาวไทยในเกาะกง จะมีสำเนียงแบบเดียวกับที่จังหวัดตราด แต่เดิมเกาะกงในปี ๒๕๐๖ ได้มีการออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย โดยจะปรับเป็นคำละ ๒๕ เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี ๒๕๐๗ ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๕๐ เรียล แม้ชาวไทยเกาะกงจะถูกจำกัดสิทธิ์ทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณีแต่ก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังรักษาประเพณี และเอกลักษณ์ การใช้ภาษาไทย
.
"ประจันตคีรีเขตร" เมืองคู่แฝดของ "ประจวบคีรีขันธ์" เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น
.
สำหรับคนที่อยากอ่าน วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เพิ่มเติม อ่านได้ที่นี่เลย ไม่ได้เขียนลงโพสต์นี้เพราะมันจะยาวไป (ลิงก์ : https://bit.ly/3BdUG5f)
.
บรรณานุกรม
(๑) โรม บุนนาค. ร.๔ พระราชทานชื่อเมือง ประจวบคีรีขันธ์ กับ ปัจจันตคีรีเขตร ให้คู่กัน! แต่วันนี้อีกเมืองหายไปไหน!!. https://bit.ly/2AfQIsI. (๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔)
(๒) รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพ:บ้านพระอาทิตย์, ๒๕๕๑. หน้า ๓๕



เพจดังเปิดข้อมูล พร้อมฟาดเดือด กัมพูชาไม่มีวันได้ครอบครองเกาะกูด



เครดิตแหล่งข้อมูล : FB โบราณนานมา


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์