จิต…กับใจ ต่างกันอย่างไร?
คำถามข้างต้นมักจะได้ยินบ่อย ๆ เมื่อไปบรรยายตามสถาบันต่าง ๆ ก็เลยอยากจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ้างเพื่อเป็นการทำความเข้าใจ
จิตคืออะไร? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตรงนี้เสียก่อน กับความหมายของคำว่าจิต...
จิตคือธาตุรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มแรก รวมอยู่ในหมวดวิญญาณธาตุอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธาตุ 6 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องมี...
มนุษย์ประกอบด้วย
1. ธาตุดิน 2. ธาตุน้ำ 3. ธาตุลม 4. ธาตุไฟ 5. อากาศธาตุ และ 6. วิญญาณธาตุ...
ธาตุดิน คือเนื้อหนังมังสา กระดูกทั้งหลายที่เป็นอวัยวะของเรา
ธาตุน้ำ คือกลุ่มเลือด น้ำลาย น้ำเหลือง ฯลฯ
ธาตุลม ก็คืออากาศที่เราสูดเข้าทางระบบหายใจ และซ่านไปตามทุกอณูของเซลล์ในร่างกาย
ธาตุไฟ คือธาตุที่เกิดจากลมเข้าไปทำการสันดาป ให้ร่างกายสามารถประกอบธาตุอื่น ๆ ให้ดำรงอยู่เป็นตัวตนเป็นรูปร่างอย่างเรา ๆ ที่เห็นกันอยู่.. ถ้าหากลมหายใจหยุด ธาตุไฟในร่างกายดับก็เท่ากับ ‘ตาย’ ดินและน้ำในตัวเราก็จะสลายลง เนื้อหนังกระดูกจะกลายเป็นดิน... น้ำในตัวก็จะละลายออกเป็นน้ำหนองน้ำเหลืองไปตามลำดับ...
อากาศธาตุ บางท่านพอได้ยินคำว่าอากาศธาตุ ก็นึกถึงอากาศที่เป็นก๊าซหรือ...พวกแก๊สทั้งหลาย หากความจริงหมายถึง ‘ความว่าง’ ที่อยู่ในร่างกายของพวกเรา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อเรามองผิวหนังของตัวเองด้วยตาเปล่า เราจะเห็นว่า ‘ทึบตัน’ แต่ถ้าเราเอากล้องจุลทรรศน์ขยายขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหมื่นเป็นแสนเท่า เราจะเห็นว่าความจริงส่วนประกอบของผิวหนังหรือกล้ามเนื้อทั้งหมด ประกอบขึ้นจากเซลล์ทั้งสิ้น และเซลล์ทั้งหมดจะมีช่องว่างพรุนคล้ายลอยตัวเรียงกันเป็นระเบียบ...โดยยึดโยงกันด้วยพลังงานที่เราจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป
วิญญาณธาตุ ในข้อสุดท้ายเป็นส่วนสำคัญที่จะกล่าวเนื่องไปจนถึงหัวข้อซี่งจั่วหัวไว้ตั้งแต่ต้น วิญญาณธาตุ คือ ‘ธาตุรู้’ ดั้งเดิม เป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์
วิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่กำหนดวิถีของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ยศศักดิ์ รวมทั้งผลกรรมทั้งหมดของแต่ละภพชาติจะถูกบันทึกอยู่ในวิญญาณทั้งสิ้น และเมื่อเราตายลง วิญญาณจะ ‘จุติ’ หรือที่เรียกว่า การเคลื่อนที่ไปหาผลกรรมที่กระทำ...ผลกรรมที่ปนอยู่ในวิญญาณนั้นเราเรียกว่า... ‘ภวังคจิต’ ล้วน ๆ...
และภวังคจิตตัวนี้แหละเป็นตัวกำหนดรูปร่างสูงต่ำดำขาว โง่เขลาหรือฉลาดของมนุษย์ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร จนกว่าจะถึง ‘นิพพาน’
ฉะนั้น! ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงสอนมนุษย์ให้รู้จัก การควบคุมจิตของตนไม่ให้มุ่งกระทำความชั่ว...หากให้ทำแต่กรรมดี และเมื่อจิตถูกอบรมให้อยู่ในความดีเป็นนิจแล้ว จิตจึงสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อดับขันธ์ลงจิตจะไปปฏิสนธิในภพภูมิที่ดี...มีรูปร่างและสติปัญญางดงาม
หรือถ้าสามารถอบรมจิตให้อยู่ในสภาวะเป็นกลางปราศจากกิเลสตัณหาราคะครอบงำ ก็จะหลุดการเวียนว่ายตายเกิด อันเรียกว่าสภาวะนิพพานได้
...ในความคิดของภูเตศวรจึงมั่นใจว่า...
ธรรมะของศาสนาพุทธสอนคนให้รักษา ‘จิต’ มิให้ปรุงแต่งไปตามสิ่งเร่งเร้าของตัณหาทั้งหลายทั้งสิ้นทั้งปวงเป็นหลัก...
เซียนสู เชยพรหมธีระ...ที่เป็นอาจารย์ของ ‘ทมยันตี’ คนหนึ่ง ซึ่งคุณทมยันตีเรียกว่า ‘อาเตีย’ อย่างสนิทปาก เคยบอกไว้ว่า...
‘จิตเดิมแท้ของมนุษย์บริสุทธิ์...ไม่มีอะไร’ แต่ รูป...รส...กลิ่นเสียงทั้งหลายที่กระทบวิถีวิญญาณทาง หูตาปากลิ้นจมูกกายใจ ที่เรียกว่า อายตะนะ 6...และเข้าไปปรุงแต่งในจิต...ทำให้เกิดความหมองทางวิญญาณ...
...อาการที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิตเรียกว่า ‘ใจ’ ยกตัวอย่างเช่น...มีคนนินทาว่าร้ายเรามาแล้วถึงสองสามวัน แต่เราไม่รู้...เราก็ไม่โกรธ...แต่พอมีคนมาเล่าให้ฟังว่า นาย ก. นินทาด่าว่าเรา... พอได้ยินก็เกิดความโกรธขึ้น... ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว และถ้าไม่ได้ยินจะเอาตัวโกรธมาจากไหน...จริงไหม?
ฉะนั้น...‘จิต’ จึงเป็นสภาวะกลาง ๆ ถ้าไม่มีอะไรมากระทบ... ถ้าไม่เห็น... ก็ไม่รู้ว่าสวยหรือน่าเกลียด ไม่ได้ยินก็ไม่รู้ว่า เสียงไพเราะหรือไม่ไพเราะ ถ้าไม่กินก็ไม่รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย...
อาการนั้นคือ อาการของ ‘จิต’ ที่ยังไม่กระทบและปรุงแต่ง...
แต่ถ้าจักษุวิญญาณมองเห็น... รายงานเข้าไปในจิต... และจิตปรุงแต่งแล้วรายงานออกมาว่า ‘สวย’ พอเห็นว่าสวยก็เกิดความชอบ... อาการเช่นนี้เรียกว่า ‘ใจ’
สรุป ก็คือ จิตคือธาตุรู้เดิม... ใจคืออาการของจิตที่ถูกกระทบแล้วนำมาปรุงแต่ง
ก็คงต้องเอวังลงตรงนี้... ด้วยประโยคที่ว่า...“อยากพ้นทุกข์ พ้นกรรม ต้องรักษา... จิต ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปตาม รูป...รส...กลิ่น เสียงที่กระทบอายตะนะ 6 อันมี หู ปาก ลิ้น ตา กาย ใจ... เป็นสื่อ...”
และถ้าทำลำบากก็ต้องขอแนะนำง่าย ๆ
“ใช้สมาธิช่วยสิครับ”
ที่มา : dhamma5minutes