นิทาน.....อาหารสมองของลูกรัก
"อาหารอย่างเดียวไม่ช่วยให้สมบูรณ์"
อาหาร อาจเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้เด็กเติบโตขึ้นมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่อาหารเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้จิตใจน้อย ๆ ของลูกคุณเติบใหญ่ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ได้หากปราศจากการต่อเติมด้วยเรื่องราวชวนคิดที่มีอยู่มากมายใน "นิทาน"
เด็กๆ อ่านหนังสือที่ผู้ใหญ่เขียน ฟังนิทานที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง
เด็กๆมีโลกของเขาซึ่งแตกต่างจากโลกของผู้ใหญ่ โลกของเด็กบริสุทธิ์สดใสเต็มไปด้วยความสนุกสนานเริงร่า และไร้เดียงสา โลกในความรู้สึกของเด็กนั้นกว้างใหญ่เต็มไปด้วยมิตรภาพความสื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา และความดีงามวัยเด็กจึงเป็นวัยที่ควรได้รับอาหารสมองที่เพียงพอเช่นเดียวกับอาหารกาย เพื่อเด็กๆ จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงพร้อมทั้งกายและจิตใจ อาหารใจที่เด็กต้องการมากคือ นิทานดีๆ สำหรับเขาเพื่อจะได้ฟัง อ่าน และศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิตด้วยตัวของเขาเอง เนื่องจากระยะวัยเด็กเป็นระยะเริ่มเรียนรู้ การวางรากฐานจำเป็นต้องยอมรับอย่างที่ดี นิทานจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และมีบทบาทในการพัฒนาเด็กให้เจริญงอกงามทั้งด้านจิตใจ สติปัญญาความรู้และจินตนาการ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ให้ความบันเทิงหล่อหลอมจิตใจของเด็กนิทานเป็นสื่อในการให้ประสบการณ์ที่ดีแก่เด็กๆ
เด็กๆ อ่านหนังสือมีจุดประสงค์หลายอย่าง โดยทั่วไปเด็กอ่านหนังสือเพราะความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของเด็กซึ่งมักสนใจใคร่รู้ความเป็นไปของสิ่งรอบๆตัว เพื่อทราบเรื่องราวและเหตุการณ์ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อช่วยในการดำเนินชีวิตในสังคมเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยดี
ปัจจุบันเด็กๆ สามารถเลือกนิทานได้อย่างกว้างขวาง การเลือกนิทานให้กับเด็กๆ สักเรื่องควรศึกษาว่าเรื่องใดเด็กอ่านแล้วสนุกและชื่นชอบ หรือเด็กอ่านอะไรจึงสนุกไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าเด็กควรอ่านอะไรเท่านั้น เพราะบางครั้งเรื่องที่คิดว่าเด็กควรอ่านอาจไม่ถูกใจเด็กก็ได้
สิ่งที่น่าสนใจทีคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญในการเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็ก
ลักษณะนิทานที่ดีสำหรับเด็ก
นิทานสำหรับเด็กมีมากมาย คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่พิจารณา และคัดสรรนิทานที่ดี และเหมาะสมเพื่อนำนิทานเหล่านี้ไปเล่าให้ลูกน้อยของคุณฟัง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงในการเลือกสรรนิทานสำหรับลูกน้อยมีดังนี้ ค่ะ
- ตรงกับความสนใจ และความต้องการของเด็ก
- เป็นเรื่องที่สนุกสนานเพลิดเพลิน แต่แฝงด้วยคุณธรรม
- ส่งเสริมจินตนาการความคิดสร้างสรรค์เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่มีจินตนาการและชอบสร้างจินตนาการ ถ้านิทานเรื่องใดช่วยเสริมสร้างจินตนาการของเขาเรื่องนั้นเด็กๆ จะอ่านซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จักเบื่อ
- ส่งเสริมความมั่นใจเนื่องจากเด็กคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครในเรื่องและคิดว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จเหมือนตัวละครในนิทานทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจและประทับใจ
- สนองอารมณ์ความปรารถนาต่างๆ เช่น อยากเป็นคนเก่ง อยากได้รับความรัก นิทานที่มีเนื้อเรื่องสนองอารมณ์ต่างๆ ตามที่เด็กปรารถนา ไม่เน้นความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่ง เรื่องเช่นนี้มักเป็นที่พอใจของเด็กๆ แทบทั้งนั้น
- ส่งเสริมความรู้ เป็นเรื่องที่ให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ของเด็กเอง เช่น การแต่งตัว อาบน้ำไปโรงเรียน
- เค้าโครงเรื่องไม่วกวน เด็กเข้าใจง่ายกระชับ ตัวละครไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ หมี สุนัข กระต่าย ฯลฯ มีวัยใกล้เคียงกับเด็ก เป็นเรื่องที่เด็กๆ ได้มีประสบการณ์ร่วม
- ภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา คำบรรยาย มีเท่าที่จำเป็นส่วนใหญ่เด็กจะพอใจติดตามรูปภาพประกอบมากกว่า
- ภาพประกอบนับเป็นหัวใจของนิทาน เด็กๆชอบอ่านด้วยภาพมากกว่าตัวหนังสือ ภาพประกอบจึงเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกมีชีวิต มีความสำคัญสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
- รูปแบบหนังสือของนิทานต้องกะทัดรัดเหมาะกับมือเด็กทนทานต่อการหยิบจับ มีตัวหนังสือที่ขนาดใหญ่ชัดเจนข้อความแต่ละบรรทัดไม่ยาวเกินไป
เด็กๆ ได้อะไรจากนิทาน
การนำเอาประสบการณ์รอบๆ ตัวเด็กๆ มาเล่าเป็นเรื่องราว เป็นนิทานที่จะสะกดเด็กๆ ให้จดจ่ออยู่กับการเล่านิทาน เด็กๆจะเพลิดเพลินสนุกสนานและมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่ได้ยิน ได้เห็นสามารถสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ เด็กๆ ที่ฟังได้อ่านนิทานเป็นประจำเขาจะได้อะไรบ้าง
- เด็กๆ เกิดความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อนๆ และสังคม
- เด็กเกิดความรู้สึกร่วมขณะฟังนิทานทำให้เขาเกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลายและสดชื่นแจ่มใส
- เด็กๆ เกิดสมาธิหรือความตั้งใจในการทำงานที่มีระยะเวลายาวนาน
- เด็กๆ เกิดความรู้สึกดีงาม เนื่องจากถูกกล่อมเกลาด้วยนิทานที่มีเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
- เด็กๆ เกิดความละเอียดอ่อนรู้จักยอมรับ และมองโลกในแง่ดี
- เด็กๆ เกิดกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีเหตุผล
- เด็กๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการอันกกว้างไกลไร้ขอบเขต
คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นนักเล่านิทานสำหรับลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักประสบปัญหาการเล่านิทานให้ลูกๆ ฟังไม่รู้ว่าจะเล่าแบบไหน เริ่มต้นอย่างไร วิธีไหนที่จะทำให้ลูกๆสนใจสนุกไปกับนิทาน เรามีเคล็ดไม่ลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่นักเล่านิทานมือสมัครเล่นมาฝากกันค่ะ
ใช้น้ำเสียงคำพูดที่สื่อความหมายเหมาะสม เด็กๆ สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ และออกเสียงให้ชัดเจน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องดัดเสียงเป็นตัวละครในนิทาน แค่ใช้เสียงธรรมดาเล่าเรื่องต่อเนื่องไม่สะดุด ก็สามารถทำให้ลูกๆ ของคุณสนุกได้เหมือนกัน
ขณะทำการเล่าต้องใช้ท่าทางมือ ลำตัว ศีรษะ ฯลฯ ประกอบการเล่าให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องหากคุณพ่อคุณแม่มีความสามารถในการวาดรูปอาจใช้วิธีการวาดไปเล่าไป หากมีความสามารถในงานประดิษฐ์ เช่น การทำหุ่น การทำตุ๊กตาผ้า ยิ่งทำให้การเล่นนิทานของคุณมีสีสัน สร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ให้กับลูกรักของคุณได้มากทีเดียวค่ะ
สบสายตากับลูกขณะเล่านิทาน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับลูก ลูกจะรู้สึกว่าจะได้รับความรักความอบอุ่น ปลอดภัยเกิดความรู้สึกร่วม เกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลาย
สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นแนวทางคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น นิทานที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ลูกฟังไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามทั้งหมดแต่ขอให้การเล่านิทานของคุณพ่อคุณแม่เกิดจากความตั้งใจ ความรัก ความห่วงหาอาทร ความเข้าใจไม่จำเป็นต้องดัดเสียง แปลงกาย มีอุปกรณ์ประกอบมากมายแค่นี้ลูกน้อยของคุณก็จะได้รับนิทานเป็นอาหารสมองทั้งกาย และใจ
แหล่งข้อมูล : ดลนภา โง่นใจรักษ์
นิตยสาร "บันทึกคุณแม่"