รูเล็กบนกำแพง
เรื่องราวของเด็กชาย Hans Brinker ผู้เอานิ้วอุดรูรั่วของเขื่อน เป็นเรื่องที่ Mary Elizabeth Mapes Dodge (1831 - 1905) นักเขียนชาวอเมริกัน แต่งขึ้น ทว่าเชื่อว่าเขียนขึ้นจากเรื่องจริงจากเหตุการณ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เนื่องจากที่ประเทศเนเธอร์แลนด์สมีอนุสาวรีย์ของเด็กชายผู้อุดนิ้วที่กำแพงกั้นน้ำ
วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ที่เมืองฮาร์เล็ม ประเทศเนเธอร์แลนด์ส เด็กชายวันแปดขวบไปเยี่ยมคนแก่ตาบอดที่รู้จักกันดี เมื่อนำอาหารไปให้แกแล้ว เขาก็เดินกลับบ้าน พ่อของเด็กชายเป็นคนเฝ้าเขื่อนกั้นน้ำ ดูแลการเปิดปิดของเขื่อน เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้ถูกต้อง
พื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์สเป็นน้ำและอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลหลายเมตร (เนเธอร์แลนด์สมาจากคำว่าดัทช์ "neder" แปลว่า "ต่ำ" ปกติหมายถึงพื้นที่ของประเทศเบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์กด้วย) จึงต้องป้องกันด้วยกำแพงกั้นน้ำเกือบทั้งประเทศ
ระหว่างทางกลับ ฝนเทลงมา ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนสูงขึ้น เด็กชายได้ยินเสียงน้ำไหล นึกสงสัยว่าเสียงนั้นมาจากไหน พลันแลเห็นรูเล็ก ๆ ที่กำแพงกั้นน้ำ ทุกชีวิตในเมืองนี้รู้ว่ามันหมายถึงอันตราย แรงดันน้ำมหาศาลสามารถขยายรูเล็ก ๆ นั้นในเวลาอันสั้น เมื่อกำแพงทลายน้ำจะเททะลักเข้าท่วมเมือง ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า และอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตที่อาจต้องสูญสิ้น
เด็กชายตัดสินใจปีนขึ้นกำแพง ยัดนิ้วมือของเขาเข้าไปอุดรูรั่วนั้น เขาหวังว่าจะมีใครสักคนผ่านมาตรงนั้น แต่ไม่มีใครมา
ความมืดโรยตัวคลี่คลุมพื้นที่นั้นอย่างรวดเร็ว อากาศเย็นลงทุกขณะ เด็กชายรู้สึกหนาว แต่ไม่กล้าปล่อยนิ้วจากรูนั้น เขาร้องตะโกน "แม่ พ่อ มีใครได้ยินผมไหม?" แต่ไม่มีใครได้ยิน
เด็กชายรู้ดีว่า เมื่อไม่เห็นเขากลับบ้าน แม่ของเขาคงไม่ออกมาตาม เพราะเชื่อว่าเขาคงนอนค้างคืนในบ้านของคนแก่ตาบอดเช่นที่เคยมา
เด็กชายตัวเปียกหนาวจนตัวสั่นสะท้าน แต่เป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็ไม่กล้าดึงนิ้วออกมาจากรูนั้น ภาพเมืองทั้งเมืองจมน้ำทำให้เขายืนหยัดสู้ต่อไป
ครั้นเวลาเช้าตรู่ บาทหลวงผู้หนึ่งผ่านทางมาพบเด็กชายหนาวตัวสั่น ใบหน้าซีดเผือด เด็กชายรอดมาได้ และเมืองนั้นก็รอดมาได้
วินทร์ เลียววาริณ ผู้เล่าเรื่องและเรียบเรียง ได้กล่าวเชิงเปรียบเทียบต่อการพังทลายของประเทศชาติไว้ว่า
ประวัติศาสตร์ยาวนานของเมืองไทยเราเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ช่วยกันเจาะรูบนกำแพงกั้นน้ำ ไม่ว่าจะมองไปที่ด้านใดของกำแพงประเทศ ก็เห็นรูใหญ่รูเล็กมากมาย แต่ละรูมีน้ำไหลเข้ามาตลอดเวลา จนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากกำแพงนั้นทลายลงมา ตัวอย่างมีมากมายและชัดเจน กำแพงของเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนามใต้ถูกแทะทำลายจากคนภายในจนพังทลาย สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน แม้แต่คนที่เจาะรูบนกำแพงก็ไม่เหลือแผ่นดินให้อยู่
แต่พวกเขาก็ยังคงเจาะรูต่อไป ราวกับไม่มีใครแยแสว่า หากไม่มีใครช่วยเอานิ้วอุดรู วันหนึ่งในเวลาอันสั้น สายน้ำแห่งหายนะจะมาเยือน
ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การยืนตรงเคารพธงชาติวันละสองเวลา แต่อยู่ที่การไม่เจาะรูบนกำแพงกั้นน้ำของเราเอง
บนกำแพงของเรา เต็มไปด้วยซากศพของเด็กชายที่ใช้นิ้วอุดรูรั่ว ทว่าต่อให้มีเด็กชายคนนี้อีกสักกี่ล้านคน ก็ไม่สามารถอุดรูหายนะของเราได้ตลอดไป หากไม่มีคนยอมหยุดสร้างรูบนกำแพง
ขอบคุณบทความจากโกทูโน