♣ 6 ต้นตออาการปวดศีรษะที่คุณคาดไม่ถึง ♣
อาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ หลายคนใช้วิธีบรรเทาอาการด้วยการกินยาแก้ปวด ทั้งที่ความจริงมีวิธีร้อยแปด ช่วยให้คุณหายปวดศีรษะเป็นปลิดทิ้ง หากรู้สาเหตุที่แท้จริง |
ตัวกระตุ้นที่ 1 : กิจวัตรวันหยุสุดสัปดาห์
หลายคนทำงานหนักและสะสมความเครียดตั้งแต่จันทร์ - ศุกร์ (บางคนรวมวันเสาร์ด้วย) พอถึงวันเสาร์ - อาทิตย์จึงเอาคืนด้วยการนอนมาราธอน ตื่นซะเที่ยง สิ่งที่เป็นของแถมมาคือ อาการปวดศีรษะตุบๆ เป็นเพราะเมื่อเครียดน้อยลง ฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล (cortisol) และนอราดรีนาลิน (noradrenaline) ก็ลดลงด้วย ส่งผลให้สารสื่อประสาท (neurotransmitter)ไปกระตุ้นหลอดเลือดแดงให้หดและคลายตัวอย่างรวดเร็ว จนเกิดอาการปวดศีรษะได้
วิธีรับมือ
- อย่านอนเยอะไป พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ปวดศีรษะบ่อยๆ นอนหลับมากกว่าคืนละ 8 ชั่วโมง
- ดื่มกาแฟเวลาเดิมทุกวัน คนติดกาแฟที่ปกติดื่มกาแฟตอนเช้าทุกวันก่อนทำงาน ช่วงสุดสัปดาห์ก็ควรดื่มเวลาเดิม เพราะหากร่างกายไม่ได้รับสารกาเฟอีนอย่างที่เคย อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรงได้
- ออกกำลังกายระหว่างสัปดาห์ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วันช่วยลดความถี่ของอาการปวดศีรษะได้กว่าครึ่ง การออกกำลังกายช่วยลดผลกระทบของความเครียด ทั้งยังทำให้ร่างกายหลั่งสารระงับปวดชื่อเอนดอร์ฟิน (endorphin) ออกมา
- นอกจากนี้ กิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆอย่างฝึกโยคะ นั่งสมาธิ ทำให้สามารถควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่มีต่อความเครียดได้ดีขึ้น อย่างเช่นความตึงของกล้ามเนื้อและอัตราการเต้นของหัวใจ พบว่าผู้ที่ปวดศีรษะบ่อยๆ มีอาการทุเลาลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทำกิจกรรมข้างต้น
ตัวกระตุ้นที่ 2 : การรักษาแบบผิดๆ
เมื่อปวดศีรษะหลายคนมักพึ่งยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือนาพร็อกเซน (naproxen) โดยหารู้ไม่ว่า การกินยาแก้ปวดเหล่านี้บ่อยกว่าสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง มีผลต่อศูนย์ควบคุมความเจ็บปวดในสมอง และอาจลดสารเซโรโทนิน (serotonin) ในสมองซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกดีมีความสุข ผลก็คือ ทำให้ปวดศีรษะหนักและถี่ขึ้นจนถึงขั้นปวดทุกวัน ผู้หญิงยิ่งต้องระวัง เพราะ 75 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ปวดศีรษะด้วยสาเหตุนี้เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะที่มีอายุเกิน 30 ปี
วิธีรับมือ
- อย่าใช้ยาบ่อย และอ่านฉลากก่อนใช้ นานๆ ทีคงไม่เป็นไร แต่ต้องมั่นใจว่าปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด หากกินเกินขนาดที่แนะนำ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการปวดศีรษะเรื้อรัง
- หากสงสัยว่าอาการปวดศีรษะเรื้อรังของคุณมีสาเหตุจากการใช้ยาแก้ปวดบ่อยเกิน ไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะแนะนำให้คุณหยุดกินยา หรือลดปริมาณยาอย่างค่อยเป็นค่อยไปการรักษาอาจสร้างความทรมานให้พอสมควร แต่ระหว่างนี้แพทย์อาจจ่ายยาแก้อาการปวดศีรษะบางตัวเพื่อช่วยคุมอาการปวด ด้วย อาการควรดีขึ้นใน 1 - 3 สัปดาห์ แต่บางรายก็อาจใช้เวลานานถึง 3 เดือน
ตัวกระตุ้นที่ 3 : รอบเดือน
จากบรรดาผู้ป่วยไมเกรนเพศหญิงทั้งหมด มีจำนวนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการปวดศีรษะเฉพาะก่อนมีรอบเดือน หรือช่วงวันแรกของรอบเดือน สาเหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน ส่งผลให้สารเซโรโทนินลดลงไปด้วย สังเกตได้ว่าในช่วงตั้งครรภ์ อาการปวดศีรษะจะลดลงเพราะระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนค่อนข้างคงที่นั่นเอง
วิธีรับมือ
- พบแพทย์ แพทย์มักจ่ายยากลุ่มทริปแทน (triptan) โดยอาจแนะนำให้กินติดต่อกัน 2 วันก่อนมี ประจำเดือน หรือกินต่อเนื่องระหว่างมีประจำเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของอาการปวด นอกจากนี้ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์อย่างไอบูโพรเฟน ถ้ากินทุกวันช่วงก่อนมีประจำเดือน 5 - 7 วัน จะช่วยลดความถี่ของอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน
- รักษาระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนโดยใช้ยาคุมกำเนิด เคยเชื่อกันว่าการกินยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลง แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ตรงกันข้าม การกินยาเม็ดคุมกำเนิดขนานใหม่ๆ ที่มีระดับฮอร์โมนไม่สูงนักต่อเนื่องกันทุกวัน อาจบรรเทาอาการปวดได้ เพราะช่วยรักษาระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนไม่ให้เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจน ดังนั้นหากคิดจะกินยาเม็ดคุมกำเนิดแบบต่อเนื่องเพื่อลดอาการปวดไมเกรนควร ปรึกษาแพทย์ก่อน
ตัวกระตุ้นที่ 4 : การเก็บกดความโกรธ
การพยายามเก็บความโกรธไว้คนเดียวไม่ส่งผลดีทั้งต่อคุณเองหรือต่อใครๆ เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงกว่า และมากกว่าโรคเครียดและโรคจิตกังวลเสียอีก เมื่อเราโกรธกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายจะตึง รวมถึงบริเวณแผ่นหลังลำคอ และใต้หนังศีรษะ ทำให้ปวดศีรษะและมีอาการคล้ายมีอะไรรัดศีรษะจนแทบจะระเบิดออกมา
วิธีรับมือ
- ครั้งต่อไปที่เริ่มรู้สึกเดือดปุดๆ ให้สูดหายใจเข้าลึกๆโดยใช้เวลานานกว่าปกติ กลั้นไว้ 3 - 5 วินาที ขณะใช้นิ้วโป้งจรดกับนิ้วชี้วางไว้บนหน้าตักให้เหมือนกันสองข้างคล้ายนั่ง สมาธิ แล้วหายใจออกทางปากช้าๆ จนรู้สึกว่าลมระบายจากปอดทั้งหมด ทำซ้ำ 2 - 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการตึงของกล้ามเนื้อคอและไหล่ ป้องกันอาการปวดศีรษะได้
- คิดทบทวน เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว คิดทบทวนว่า จำเป็นต้องโกรธขนาดนั้นหรือไม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หน้าตาน่าเกลียดแค่ไหนในตอนนั้น เรื่องที่โกรธสำคัญขนาดต้องจดจำไปเป็นเดือนๆ ไหม วิธีนี้ช่วยให้คุณคิดบวกและหาทางออกได้ดีขึ้น พบว่าคนที่ปล่อยวางความโกรธในช่วงแรกสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นในเวลา ต่อมา ตรงกันข้ามถ้าเลือกที่จะโกรธ คุณจะหงุดหงิดจนปวดศีรษะตลอดทั้งวัน
- ถ้าโกรธจนปวดศีรษะไปแล้วหาผ้าชุบน้ำอุ่นประคบต้นคอบริเวณท้ายทอยสัก 2 - 3 นาที ช่วย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอ (sternocleido-mastoid muscles) ซึ่งเป็นจุดหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียด
ตัวกระตุ้นที่ 5 : อาหารบางชนิด
หากคุณรับประทานชีส ช็อกโกแลต และน้ำอัดลมประเภทไม่ผสมน้ำตาล แล้วเกิดอาการปวดศีรษะก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะพบว่าสารเคมีในอาหารเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรนเช่น ไทรามีน (ในชีส) ทีโอโบรมีน (ในช็อกโกแลต) และแอสปาร์แตม (ในเครื่องดื่ม) ผงชูรสและไนเตรต (ในเนื้อปลาปรุงรสหรือไส้กรอก) นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสนับสนุนว่า เพียงเลิกน้ำอัดลมก็สามารถทำให้อาการปวดศีรษะลดลงได้
วิธีรับมือ
- จดรายการอาหารที่รับประทานเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดศีรษะ อะไรที่กินเป็นประจำแล้วปวดศีรษะก็พยายามเลี่ยง จากนั้นสังเกตดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
- อย่าอดอาหาร การงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดิ่งลง จนอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
ตัวกระตุ้นที่ 6 : กลิ่นน้ำหอม
- กลิ่นหอมอ่อนๆ อาจน่าหลงใหลแต่กับบางคน นั่นอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ กลิ่นต่างๆ ที่เราสูดเข้าไปล้วนมีผลต่อสารต่างๆ ในสมอง พบว่าคนที่ปวดไมเกรนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แพ้กลิ่นฉุน เช่น กลิ่นน้ำยาถูพื้นและกลิ่นน้ำหอม
วิธีรับมือ
อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท แน่นอนว่าคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงกลิ่นฉุนๆได้เสมอไป แต่สิ่งที่ทำได้คือ พยายามจัดบ้านและที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทสะดวก อาจใช้วิธีติดตั้งพัดลมระบาอากาศ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
คุณปวดศีรษะแบบไหน : การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องเป็นขั้นแรกสู่การรักษาที่ได้ผล คุณเป็นโรคปวดศีรษะ
ไมเกรน : ปวดศีรษะตุบๆ รุนแรงบริเวณขมับหน้าผาก เบ้าตา หรือท้ายทอย และมักปวดศีรษะข้างเดียวทั้งยังอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ไวต่อเสียงและแสงผิดปกติ มักเป็นซ้ำๆ แบบเดิม
วิธีการรักษาที่ได้ผล : รับประทานแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น เอกซ์เซดริน (excedrin) หากอาการไม่ดีขึ้นหรือปวดมากกว่าเดิม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการป้องกันด้วย
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงเครียด : รู้สึกว่าเส้นตึง ปวดบริเวณท้ายทอยต้นคอ หรือปวดทั่วทั้งศีรษะคล้ายมีอะไรมาบีบรัด มักไม่ปวดบ่อยๆ และไม่มีรูปแบบซ้ำเดิม แต่บางคนอาจปวดเรื้อรัง
วิธีการรักษาที่ได้ผล : ไม่ว่าจะเป็นแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือพาราเซตามอล ก็ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงเครียดได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าคุณปวดศีรษะเรื้อรัง ปรึกษาแพทย์ดีที่สุด
ไซนัส : ปวดบริเวณแก้ม ระหว่างหัวคิ้ว และกลางหน้าผาก และมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น น้ำมูกไหลลงคอและเจ็บคอ
วิธีการรักษาที่ได้ผล : ใช้แอสไพรินไอบูโพรเฟน หรือนาพร็อกเซน ที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดและต้านอาการอักเสบร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก ซึ่งทำให้อาการปวดลดลง คุณยังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
เทคนิคง่ายๆ แก้ปวดศีรษะ
- ร่างกายแข็งแรง และอารมณ์ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะไทชิเน้นการผ่อนคลาย การกำหนดลมหายใจและการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนสัมพันธ์กัน จึงช่วยลดอาการปวดศีรษะได้
- กินแมกนีเซียม : พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไมเกรนมีระดับแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ ผู้หญิงส่วนหนึ่งมีแมกนีเซียมในร่างกายค่อนข้างต่ำและยิ่งต่ำลงอีกในช่วง เครียด การรับประทานวิตามินเสริมแมกนีเซียมวันละ 400 มิลลิกรัม จึงเป็นอีกวิธีช่วยลดอาการปวดศีรษะ
- กินวิตามินเสริมโคเอนไซม์ Q10 : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีในร่างกายคนเรา พบว่าผู้ที่รับประทานโคเอนไซม์ Q10 เป็นอาหารเสริมครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3 เวลา มีอาการปวดไมเกรนน้อยลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะสารนี้อาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆ ที่รับประทาน