อันตรายจากเฟรนช์ฟราย
เฟรนช์ฟราย อาหารโปรดของวัยรุ่นในถึงยุคนี้ ใครๆ ก็คุ้นเคยกับคำว่า “เฟรนช์ฟราย“ หรือมันฝรั่งทอดชนิดแท่ง ที่ขายกันเกร่อตามร้านอาหารจานด่วนติดยี่ห้อฝรั่ง
คงทราบกันแล้วว่ารสชาติของมันไม่มีอะไรมากไปกว่า “มัน” และ “เค็ม” ออกจะไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าไร แต่ก็ดูจะเป็นอาหารที่ถูกใจวัยรุ่นอยู่ไม่น้อย
ไม่ใช่กล่าวหากัน อย่างเลื่อนลอย แต่มีข้อมูลจากการเก็บตัวอย่างทดสอบของ โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟราย 3 ครั้ง จำนวน 30 ตัวอย่าง ในเดือนพฤศจิกายน 2552-เมษายน 2553 ผลทดสอบรายงานใน วารสารฉลาดซื้อ เดือนสิงหาคม 2553 พบว่าในการทดสอบปริมาณ เกลือหรือโซเดียม ในเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ ที่เก็บเมื่อเดือนมีนาคม พบว่ามีปริมาณเกลือในระดับสูงและจัดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิด อันตรายได้ หากบริโภคติดต่อกันในระยะยาว
การทดสอบ ไขมันทรานส์ ที่เป็นตัวเพิ่มระดับคอเลสเทอรอลชนิดไม่ดี (LDL : low-density lipoprotein) ในเลือด และลดระดับคอเลสเทอรอลชนิดดี (HDL : high-density lipoprotein) ในเลือด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค
ส่วนการทดสอบค่าของกรด (Acid Value) ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหารนั้น โดยหากค่าของกรดต่ำหมายความว่าน้ำมันที่ใช้มีคุณภาพดี และหากค่าของกรดสูงหมายความว่าน้ำมันผ่านการใช้ซ้ำมาหลายครั้ง ผลออกมาว่ายังอยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับรับได้ แต่ บางร้านต้องระวัง
งานทดสอบครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าห้ามกินเฟรนช์ฟราย แต่ถ้าดูภาพรวมกล่าวได้ว่าหากมีการ กินเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไต เนื่องจากได้รับโซเดียมเกินความ ต้องการของร่างกาย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และหลอดเลือดหัวใจ อันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ
ข้อแนะนำ
ควรหลีกเลี่ยงการกินเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่เพราะยากที่จะกินให้หมด และเมื่อเสียดายก็จะกินมากเกิน ควรเลือกกินขนาดเล็ก และไม่ควรกินติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ควรบอกให้ เจ้าของร้านเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารบ่อยๆ และใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง ที่สำคัญอันสุดท้ายคือทำกินเองที่บ้านก็ได้ เพราะเราควบคุมทุกอย่างได้ทั้งปริมาณเกลือ คุณภาพน้ำมัน และอุณหภูมิในการทอด