ภาษารัก...ทำได้แต่ (บางคน)ไม่ทำ!!
การที่คนสองคนมีความรักและความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น บางคนเชื่อว่า "การกระทำสำคัญมากกว่าคำพูด" ในขณะที่หลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงกลับมองว่า บางครั้งก็อยากได้ยินจากปากบ้าง
หากเอ่ยถึง "ภาษารัก" ภาษาที่นำไปสู่ความเข้าใจ ความอบอุ่นระหว่างคนสองคนไปจนถึงทุกคนในครอบครัวนั้น อาจจำแนกภาษารักได้ถึง 9 ภาษาด้วยกัน ซึ่งเป็นระบบการสื่อสัมพันธ์ของคนทั้งสองให้ตรงตามจริงและตามวัตถุประสงค์มุ่งหวัง เป็นภาษาที่ต้องรู้ เข้าใจ ฝึกให้ดี ใช้ให้เป็นและบริหารให้เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ คนสองคนจะเข้าใจและทำให้ครอบครัวอบอุ่นได้นั้น ต้องเข้าใจภาษารักทั้ง 9 ดังนี้
1. ภาษาใจ
ภาษาที่ว่าด้วยเรื่องการส่งรับด้วยจิตนิ่งเป็นหนึ่ง เมื่อจิตว่าง การรับรู้จะชัดเจน แจ่มใส และแม่นยำ การส่งการรับภาษาใจนี้จะก่อให้เกิดความเข้าใจ และความประทับใจในความสัมพันธ์กันมากซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของคนสองคนที่จะเป็นคู่ชีวิตใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
2. ภาษาสายตา
ภาษาที่ลึกซึ้งและเที่ยงตรงที่สุดเพราะหลอกกันไม่ได้ ซึ่งวิธีการส่งภาษาใจออกมาเป็นภาษาตานั้น เพียงแค่ส่งความรู้สึกลึกๆในใจออกมา คนๆนั้นก็จะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกได้ทันที เพราะแววตาของมนุษย์สามารถบอกสิ่งต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นที่มาขอคำว่า "ดวงตา คือหน้าต่างของหัวใจ"
3. ภาษายิ้ม
ยิ้มเป็นสิ่งที่บ่งบอกและแสดงความเป็นไปของผู้ยิ้ม การกำหนดยิ้ม เกิดจากสภาวะทั้งภายใน ภายนอก และจากอุปนิสัย โดยแบ่งเป็น 3 แบบของยิ้ม คือ ยิ้มแบบมีความสุข ยิ้มแบบเหนื่อยๆ และยิ้มแบบขอไปที การยิ้มมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นเราจึงควรฝึกยิ้มให้มีเสน่ห์ และมีความสุขโดยการ ยิ้มจากใจ ยิ้มให้หมด ยิ้มเปล่งประกาย ยิ้มให้พอดี ยิ้มให้ปรากฎ ยิ้มให้ถูกกาละเทศะ ยิ้มให้ถูกวัตถุประสงค์ ยิ้มอย่างทรงพลัง และยิ้มทั้งตา
4. ภาษาวาจา
คำพูดทุกคำที่เปล่งออกมาจะมีพลังอยู่ในตัว และซึมซาบเข้าสู่ผู้ฟัง สามารถใช้สร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้ ซึ่งพลังแห่งคำพูดมี 2 องค์ประกอบ คือ พลังแห่งเสียงและพลังแห่งความหมาย ดังนั้นจึงต้องกลั่นกรองวาจาก่อนเจรจาใดๆ ทุกครั้งที่พูดให้ใคร่ครวญในสิ่งที่พูดว่าเป็นจริงหรือเปล่าเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงเท่านั้น การพูดเท็จจึงเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และเป็นการทำลายระบบสัจจะ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา
ทั้งนี้อย่าคิดว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจความหมายได้เอง ภาษาวาจามีอานุภาพมาก มีทั้งประโยชน์และโทษถ้าไม่ระมัดระวังคำพูด ดังนั้นทุกครั้งที่พูดควรกลั่นกรองคำพูด เพื่อจรรโลงใจยังความรักให้งอกงามสถาพร
5. ภาษาท่าทาง
ท่าทางอันจรรโลงรักให้ภาคภูมิ งดงาม และยังความมั่นใจในสัมพันธภาพ คือ บุคคลิกอันงามสง่า กิริยาที่สำรวม อิริยาบถอันสมดุล ท่วงท่าอันมั่นคง และท่าทีจริงจังที่ปล่อยวาง จึงจะได้ความมั่นคงอันอบอุ่น และความสบายใจอันเป็นรากฐานแห่งความสุข
6. ภาษาสัมผัส
นับเป็นอีกระบบภาษาหนึ่งที่คู่รักชอบใช้กันเช่นการโอบกอด การจับมือ ฯลฯ เพราะภาษาสัมผัสเป็นการถ่ายทอด หรือแลกเปลี่ยนพลังระหว่างบุคคล
อย่างไรก็ตาม การสัมผัสนั้นควรมีความพิถีพิถันบรรจง อ่อนโยน ทะนุถนอม นุ่มนวลและหนักแน่นเป็นการเกื้อกูลกันให้เกิดพลังมาก และยังสมานสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่คนกอดกันบ่อยๆ จับมือเดินไปด้วยกันมักมีความรักที่ไม่เคยเก่าไปสักวัน
7. ภาษาพฤติกรรม
รักแท้ที่จริงมิใช่คำพูด แต่ต้องฉายออกมาจริงทุกระดับทั้งใจ แววตา ยิ้ม วาจา ท่าทาง สัมผัส และพฤติกรรม ดังนั้นภาษา พฤติกรรมจึงเป็นภาษารักแห่งยั่งยืน
8. ภาษาสัมพันธ์
สิ่งนี้คือ การจัดสมดุลให้แก่ชีวิตคู่ให้สัมพันธภาพคงอยู่เสมออย่างบริสุทธิ์ใจ มั่นคง ลงตัว เข้ากันได้อย่างดี ให้คู่รักทั้งสองร่วมกันพัฒนายิ่งๆขึ้น จนกว่าสัมพันธภาพนั้นนิรันดร
9. ภาษาแห่งความสงบ
ในบรรดาภาษาทั้งหลาย ภาษาแห่งความสงบเป็นภาษาที่ทรงอานุภาพสูงสุด เมื่อใดที่เข้าถึงความสงบได้ ความสุขจึงปรากฎ ความเข้าใจเที่ยงตรงตามจริงจึงแจ่มชัด ความตั้งใจเชิงสร้างสรรค์จึงพรั่งพรู จรรยามารยาทอันงดงามจึงส่องแสง ความอ่อนโยนจึงยังความอบอุ่นให้บังเกิดสัมผัสจึงทราบซึ้ง สัมพันธภาพจึงมั่นคง ดังนั้นภาษาแห่งความสงบจึงเป็นที่สุดแห่งภาษารักทั้งมวล
ท้ายนี้ หากไม่อยากให้ความรักนั้นจืดจาง ยิ่งนานวันยิ่งเก่า รู้สึกเฉากับชีวิตคู่ ก็ควรเข้าใจ ใส่ใจ มีความละเอียดอ่อน และดูแลซึ่งกันและกันเฉกเช่นวันแรกที่รักกันใหม่ๆ โดยการใช้ภาษารักทั้ง 9 ให้เป็นประโยชน์ แล้วในที่สุดมั่นใจเถอะว่า "คู่แท้"และ"รักแท้" อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม