ความจำสร้างได้ ไม่ยากเลย
การจะสร้างความทรงจำให้ลูกนั้น ต้องอาศัยการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เป็นเด็กเท่านั้น แต่ต้องสร้างตลอดช่วงชีวิตของเค้า
การสร้างความจำของทารกน้อย ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างเนื้อเยื่อให้กับร่างกายเช่นเดียวกับการสร้างทักษะทางความคิด โดยสามารถเสริมสร้างให้เจริญเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของสมองคือ
1. สมองของลูกน้อยจะจดจำสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีการเชื่อมโยงอย่างเหมาะสม ความจำแต่ละลักษณะจะเชื่อมโยงกับความเข้าใจและการเรียนรู้ของลูก หากความจำลักษณะต่างๆ เหล่านี้ถูกใช้ไปในการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างมากเท่าใด ลูกน้อยจะจดจำสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
2. สมองของลูกน้อยจะจดจำก็เมื่อสิ่งนั้นมีความโดดเด่น พิเศษ เช่น ลูกน้อยจะจดจำประสบการณ์ในการเดินทางด้วยเครื่องบินครั้งแรกได้ดี รางวัลที่เคยได้ครั้งแรก ซึ่งการที่เด็กจดจำเหตุการณ์ครั้งแรกได้ดีนั้น ส่งผลให้เด็กมีความทรงจำในวัยเด็กมากกว่าตอนโต
3. สมองของลูกน้อยจะมีการจดจำ เมื่อมีการทำซ้ำ หรือกล่าวซ้ำในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะเด็กจะเรียนรู้และจดจำจากการทำซ้ำ โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก คุณแม่อาจจะต้องทำสิ่งนั้นซ้ำไปซ้ำมา ทั้งการอ่านหนังสือ การเรียนรู้ภาษา จนกว่าลูกจะจดจำได้
เทคนิคช่วยลูกสร้างความจำ
กระตุ้นการรับรู้ของเด็กในหลากหลายด้าน เพื่อให้ลูกมีความจำเพิ่มมากขึ้น เช่น กระตุ้นการรับรู้จากภาพ การจดจำเสียง จดจำคำ จดจำการเคลื่อนไหว เหล่านี้เป็นต้น
สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในช่วงที่ลูกยังเป็นเด็ก การมีประสบการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง จะเพิ่มความทรงจำให้ลูกมากขึ้น เช่น การเรียนรู้วิชาใหม่ ๆ ไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป พบปะผู้คนใหม่ ๆ ได้ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ดี คือเป็นภาพเชิงบวก เพราะถ้าสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นความทรงจำที่ไม่ดี ความจำนั้นจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต
พยายามทบทวนความจำของลูก เช่น บางครอบครัวจะมีการทบทวนความจำของลูก โดยไม่จำเพาะเจาะจงแค่เพียงการเรียนรู้เท่านั้น แต่จะทบทวนกิจวัตรประจำวันของลูกว่าวันนี้หนูทำอะไรมาบ้าง ให้คนในบ้านผลัดกันเล่าเรื่องที่ไปเจอมา และอย่าลืมทบทวนความจำของลูกตามกฎทบทวนความจำ(ตามข้างล่าง)
เล่นเกม ให้เล่นเกมที่สามารถสร้างความทรงจำให้ลูกได้ มีหลายเกม เช่น เกมทายสิ่งของ โดยให้เปิดดูภาพสิ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ จากนั้นเปิดให้ลูกดู และให้ลูกบอกสิ่งของที่เห็นให้มากที่สุด ต่อมาก็เล่นเกมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เกมจับคู่ภาพ โดยการคว่ำภาพเอาไว้ทั้งหมดก่อนจากนั้น ให้ลูกเปิดดูจับคู่ภาพที่เหมือนกัน
สร้าง Mind Map เพิ่มทักษะความจำ โดยอาศัยหลักการเชื่อมโยงทางความคิดเกิดความสนุก โดยให้ลูกวาด Mind Map ตามแบบฉบับของเค้าเอง หัวข้อที่ใช้ในการวาด Mind Map เช่น ครอบครัวของฉัน,สัตว์เลี้ยงของฉันและครอบครัวของฉัน เหล่านี้เป็นต้น