ช้างหนังหนาเดินกลางแดด ร้อนหรือไม่?
ในยามที่พื้นที่ป่าลดลงเรื่อยๆ เราได้เห็นสัตว์ใหญ่ช้างมาเดินในเมืองใหญ่มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร เห็นช้างเดินในป่าคอนกรีตแล้วหลายคนก็นึกเห็นใจช้างว่า เมื่อก่อนเดินในป่าดงพงไพร มีหญ้ามีดินคอยรองรับตีนอยู่ แต่ในป่าคอนกรีตนั้น ไม่มี และตีนช้างที่ย่ำลงไปก็น่าที่จะร้อน ดูเป็นการทรมานสัตว์
แต่ช้างร้อนตีนจริงหรือ สัตว์อื่นที่ตีนเปล่าเหมือนกับช้าง เช่น หมาเป็นต้น จะได้รับความทุกข์ทรมานในเรื่องนี้หรือไม่
เรื่องนี้มีคำอธิบายครับ
การที่สุนัขเดินไปในที่ที่ร้อน อย่างผิวถนนยางมะตอยยามเที่ยง สุนัขก็ร้อนได้อย่างที่คนเรารู้สึก เพียงแต่ว่าสุนัขนั้นน้ำหนักเบาและเดินหรือวิ่งเร็ว โอกาสและช่วงเวลาสัมผัสก็น้อยลง ถ้าต้องยืนแช่เมื่อไรก็จะร้อนจนทนไม่ไหวเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน
ส่วนช้างนั้นก็มีความรู้สึกร้อน เดินบนผิวพื้นที่ร้อนหรือสัมผัสความหยาบกระด้าง ก็จะรู้สึกเช่นกัน เพราะพื้นผิวของฝ่าตีนช้างคือหนังที่หนาตัวขึ้นมา คล้ายตาปลาหนาๆ ของเราที่ต้องฝานทิ้งหรือขัดออกไป ฝ่าตีนช้างก็เป็นเช่นกัน สามารถรับความรู้สึกได้ดีเช่นกัน การที่ช้างถูกบังคับให้เดินบนพื้นซีเมนต์หยาบบ่อยๆ ก็เหมือนกับช้างต้องเดินบนกระดาษทราย ทำให้ผิวฝ่าตีนสึกไปโดยปริยาย แต่ปัญหาที่รุนแรงกว่า คือการยืนแช่ในน้ำแฉะ และถูกเศษวัสดุทิ่มตำ เช่น ตะปู เศษแก้ว หินคม เป็นต้น ช้างก็อาจติดเชื้อและเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โตได้
เดี๋ยวนี้เราจึงเห็นช้างเดินในเวลากลางคืนมากขึ้น และเดินบนถนนใหญ่หรือในซอยพื้นผิวเตียน แต่การแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ คือการที่ช้างไม่ต้องมาเดินในสถานที่ ที่ผิดธรรมชาติของตนอีกต่อไป
ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เหล่านี้จะมีกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยทุเลาอาการร้อน หรือความทุกข์ทรมานอันเกิดจากป่าคอนกรีต แต่เราเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐกว่า ต้องมีความเมตตา ไม่ลาก ไม่จูง ไม่บังคับให้สัตว์เหล่านี้ต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทรมานร่างกายและสังขารของเขา
เมตตาธรรมค้ำจุนโลกครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)