โปรตีน ร่างกายต้องใช้โปรตีนสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เมื่อกินโปรตีนแล้วจะเกิดของเสียที่เรียกว่า สารยูเรีย ผู้ป่วยโรคไตจะไม่สามารถขจัดยูเรียได้ตามปกติ จึงกินโปรตีนได้ประมาณวันละ 120-180 กรัม และระวังอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
คาร์โบไฮเดรต เมื่อลดปริมาณโปรตีนลงจึงต้องได้รับพลังงานทดแทนจากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเพื่อป้องกันขาดสารอาหาร โดยหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่มีโปรตีน ได้แก่ ซีเรียล ขนมปัง แป้งเมล็ดธัญพืช แนะนำให้กินคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่มีโปรตีน เช่น วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้ แผ่นแหนมเนือง เป็นต้น กรณีที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคเบาหวานควรปรึกษานักกำหนดอาหารถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
ไขมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไขมันทรานส์ และเลือกกินไขมันชนิดดีเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายแทน
ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยโรคไตจะขจัดฟอสฟอรัสจากเลือดได้ไม่ดี เมื่อระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลกระทบให้แคลเซียมในร่างกายลดลง กระดูกจะเปราะ แตกหักง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เช่น นม เนยแข็ง พุดดิ้ง โยเกิร์ต ไอศกรีม (อาจใช้ครีมเทียมแทนนม) เบเกอรี่ ถั่วต่างๆ และเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำอัดลมสีเข้ม โกโก้ ช็อกโกแลต เบียร์ หากฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปแพทย์จะให้ยาที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมฟอสฟอรัสร่วมด้วย