เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยต้องใช้ “มะยงชิด”
ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นตำบลที่โดดเด่นด้านการจัดการน้ำ มีการจัดตั้งทีมวิจัยร่วมมือกับชาวบ้าน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บข้อมูลและสืบค้นปัญหา นำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวร จนกลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
นอกจากการจัดการเรื่องน้ำที่โดดเด่นแล้ว เรื่องของ “มะยงชิด” ก็ดังไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่เป็นช่วงออกผล เราจะเห็นมะยงชิดห้อยระย้าเหลืองอร่ามล้อแสงไฟร้านค้าสองข้างทาง สอบถามราคากันคร่าวๆ ถ้าลูกใหญ่เท่าไข่เป็นกิโลกรัมละ 200 บาท และลดหลั่นกันลงไป
ส่วนรสชาติที่ตี๋อ้วน 84 ตำบล ได้ลิ้มชิมรสแล้วขอบอกว่าคล้ายกับมะม่วงสุก ตามตำราของหลายสำนักแจ้งว่า มะยงชิดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะปราง ถ้าแบ่งตามรสชาติ จะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ ถ้ามีรสเปรี้ยวจะเรียกว่า “มะปรางเปรี้ยว” ถ้ามีรสหวานก็เรียกว่า “มะปรางหวาน” และถ้ามีรสเปรี้ยวอมหวานในผลเดียวกันจะเรียกว่า “มะยง”
ส่วนจะหวานมากกว่าเปรี้ยว หรือเปรี้ยวมากว่าหวานนั้น จะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ถ้าหวานมากกว่าเปรี้ยวเรียกว่า “มะยงชิด” ถ้าเปรี้ยวมากกว่าหวานเรียกว่า “มะยงห่าง”
ส่วนของราก มีรสเย็น ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ พิษสำแดง แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ ไข้มีพิษร้อน ส่วนใบใช้พอกแก้ปวดศีรษะ ผลใช้รับประทานแก้เสมหะ น้ำลายเหนียว และน้ำจากต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอ
เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยในช่วงนี้ มะยงชิดจึงขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ด้วยสรรพคุณเพียบกับราคาที่สมน้ำสมเนื้อ ลองปลูกไว้หน้าบ้านหลังบ้านกันบ้างก็มีรายได้เสริมทุกปี แถมสุขภาพดีกันทั่วหน้าจ้า
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารจดหมายข่าว รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง
และ วิชาการ.คอม