ดื่มนมมากเกินวันละ 2 กล่อง กระตุ้นสลายกระดูกในผู้ใหญ่
"นมดี แต่อย่าดื่มเกินวันละ 2 กล่อง"
ข้อมูลจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติระบุว่า นมและผลิตภัณฑ์จากนมอื่น ๆ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงสุด ซึ่งแคลเซียมเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญมากในการเสริมสร้างกระดูก
การดื่มนมประจำช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
ที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง 1 ใน 3 และผู้ชาย 1 ใน 5 ทั่วโลกอายุ 50 ปีขึ้นไป และคาดการณ์ว่าในปี 2050 แถบเอเชียจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 โดย อัตราดื่มนมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศออสเตรเลียดื่มนม 102 ลิตรต่อคนต่อปี มาเลเซีย 50 ลิตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ไทย 13.36 ลิตรต่อคนต่อปี
การเกิดโรคกระดูกพรุนไม่มีสาเหตุ
แต่มาพร้อมวัยเหมือนการเข้าสู่วัยชรา กระดูกมีมวลหรือเนื้อน้อยลง จึงเปราะบางและแตกหักง่าย การป้องกันคือต้องเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา ด้วยการสะสมแคลเซียม โปรตีนและวิตามินดีจากการดื่มนม เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุที่มีส่วนต่อการเจริญเติบโตของกระดูก
ทว่านมอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ต้องมีอย่างอื่นเสริม อาทิ ปลาเล็กปลาน้อย ปลาร้า เป็นต้น มีผู้แนะนำว่าในแต่ละมื้ออาหารต้องโรยด้วยปลาป่นหรือกุ้งแห้งป่น ส่วนในผักแคลเซียมสูง เช่น ผักโขม ไม่สามารถให้แคลเซียมแก่ร่างกายได้เนื่องจากไม่มีตัวดูดแคลเซียม ผักให้แคลเซียมแก่ร่างกายได้ คือผักคะน้า บรอกโคลี ผักกาด เป็นต้น
นมที่ดีสุดคือนมสด มีสารอาหารและโปรตีนจำนวนมาก
ซึ่งโปรตีนเคซิน เป็นโปรตีนเด่นที่สุด จับแคลเซียมเก่งช่วยสร้างความสูงให้ร่างกาย ควรดื่มวันละ 500 ซีซี หรือ 2 กล่อง หากเกินจากนี้ก่อให้เกิดผลเสีย เนื่องจากไปกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ (ต่อมข้างไทรอยด์)
ซึ่งไปสลายกระดูก แต่ในวัยเด็กสามารถดื่มนมได้วันละ 500-800 ซีซี โดยเฉพาะเด็กที่ใช้พลังงานสูงออกกำลังกายเหงื่อออกมาก เพราะฟอสฟอรัสที่เกินจะถูกใช้เป็นพลังงาน ไม่สามารถกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ได้ ส่วนเด็กที่อยู่เฉย ๆ ควรดื่มนมเท่าผู้ใหญ่
ผู้เกิดอาการท้องเสีย ท้องอืดเมื่อดื่มนม
เกิดจากร่างกายขาดน้ำย่อยน้ำตาลในนมหรือน้ำตาลแลคโตส แนะนำว่าควรดื่มวันละอึก ๆ เป็นการกระตุ้นเรื่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง แต่หากไม่สำเร็จแนะนำผสมนมสด 250 ซีซี กับนมเปรี้ยว 250 ซีซี แช่ตู้เย็น 1 คืน ก่อนแบ่งดื่ม
เนื่องจากในนมเปรี้ยวมีแลคโตบาซิลัส
เชื้อโรคที่มีคุณต่อร่างกาย จะกินตัวน้ำตาลแลคโตส นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ยับยั้งการดูดแคลเซียม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน บุหรี่
รวมถึงการรับประทานอาหารไขมันสูงและเกลือสูง และที่ผ่านมาเข้าใจกันว่าดื่มนมแล้วเป็นมะเร็ง ซึ่งองค์การอาหารและยาในประเทศอังกฤษยืนยันว่าการดื่มนม 500 ซีซี ต่อวันไม่เป็นสาเหตุเกิดมะเร็ง นอกจากผู้ดื่มนม แล้วไปกินอาหารทอดในปริมาณมาก คงเป็นไขมันอื่นที่ได้รับเป็นสาเหตุเกิดมะเร็ง.
สนับสนุนข้อคิดนานาสาระโดย: