ภัยจากบุหรี่มีมากกว่าที่คิด
แทบไม่น่าเชื่อว่าม้วนทรงกระบอกที่ห่อหุ้มด้วยกระดาษขนาดความยาวสั้นกว่า 120 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 มิลลิเมตรจะสามารถมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ถึง 40 ชนิด บุหรี่ประกอบด้วยสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารกดประสาท มีผลต่อหัวใจ ความดันโลหิตและต่อมหมวกไต สารคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนคาร์มอนไนด์ (ก๊าซพิษ) แอมโมเนียและน้ำมันดิน ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดมะเร็งต่างๆ และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ อีกมากมาย
ภัยที่เกิดจากบุหรี่นั้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวผู้สูบ (First-Hand Smoke) เองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อขั้นที่ 2 คือบุคคลรอบข้าง (Second-Hand Smoke) ซึ่งรวมถึงเด็กเล็กๆ คุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ และโดยตรงกับขั้นที่ 3 (Third-Hand Smoke) คือคราบบุหรี่ หรือสารพิษตกค้างต่ออุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ ในรถ พรม เบาะเก้าอี้ และอื่นๆ อีกมากมายอีกด้วย ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้
ขั้นที่ 1 (First-Hand Smoke) หมายถึง การส่งผลโดยตรงต่อตัวผู้สูบ คือทำเกิดมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ ความดันโลหิต และโรคร้ายแรงอื่นๆ อีกมากมายต่อตัวผู้สูบเอง
ขั้นที่ 2 (Second-Hand Smoke) หมายถึง บุคคลที่อยู่รอบข้าง โดยเฉพาะขณะที่ผู้สูบบุหรี่อุ้มเด็กอยู่ขณะที่กำลังสูบบุหรี่ เด็กไม่สามารถช่วยตัวเอง หรือป้องกันตัวเองได้ ถือเป็นการฆ่า และทรมานเด็กโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเด็กจะเกิดการระคายเคืองที่ตา เพราะสารแอมโมเนีย ทำให้หายใจไม่สะดวก เป็นหวัดบ่อย ๆและมีอาการของโรคภูมิแพ้ หากสูบใกล้คนเฒ่าคนแก่ก็จะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและเป็นปอดบวมได้ง่าย เนื่องจากผู้สูงอายุและเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำ ในขั้นที่ 2 นี้อาจถือว่ามีอันตรายพอๆ กับขั้นที่ 1 คือตัวผู้สูบเอง แต่ที่น่าสงสารคือขั้นที่ 2 ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้
ส่วนขั้นที่ 3 (Third-Hand Smoke) หมายถึง คราบจากสารพิษของบุหรี่ จะติดที่ผม เสื้อผ้า พรม เก้าอี้ เบาะที่นั่งในรถ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้สกปรกแล้ว หากเด็กคลานหรือเข้าไปสัมผัสกับสิ่งของที่มีคราบสารพิษเหล่านั้น หรืออาจเข้าไปคลุกคลีกับผู้สูบบุหรี่ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองล่าช้า ร่างกายไม่แข็งแรง จิตใจไม่แจ่มใส ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นสารพิษในระดับต่ำก็ตาม แต่มีอันตรายเช่นกัน ส่วนหากเป็นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ส่งผลให้ลูกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย สมองไม่ได้รับการพัฒนาและคลอดก่อนกำหนดหรืออาจเสียชีวิตได้ และหากอยู่ในภาวะให้นมลูก น้ำนมของแม่ขณะที่ให้ลูกก็จะปนเปื้อนด้วยสารพิษจากบุหรี่ เหมือนลูกสูบบุหรี่ด้วยนั่นเอง
จากงานวิจัยพบว่าครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่จะมีลูกที่มีพฤติกรรมติดบุหรี่ในวัยรุ่นได้ถึง 40% ผลวิจัย ม.มหิดล พบเด็กไทยอายุ 13 ปี กว่า 13% สูบบุหรี่ โดยเกือบครึ่งมีผู้ปกครองสูบบุหรี่ นักวิจัยยังค้นพบอีกว่าวิธีที่ดีที่สุดในการไม่ให้ลูกติดบุหรี่คือการที่ผู้ใหญ่ทำตัวเป็นตัวอย่าง เลิกบุหรี่ก่อน ในสหรัฐอเมริกาที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ วัยรุ่นมีการตื่นตัวต่ออันตรายของบุหรี่ และบุคคลรอบข้าง (Second Hand Smoke) โดยการรณรงค์เรียกร้องการหยุดสูบบุหรี่กันมากขึ้น ทำให้ภาวะการติดบุหรี่ของเด็กวัยรุ่นมีจำนวนน้อยลง
วิธีช่วยเด็กจากการส่งผลขั้นที่ 2 หรือบุคคลรอบข้างสามารถทำได้ดังนี้
- อย่าสูบบุหรี่เมื่ออยู่ใกล้ตัวเด็ก
- ห้ามให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวสูบบุหรี่ในบริเวณบ้าน
- ตรวจสอบบริเวณสนามเด็กเล่น โรงเรียน ศูนย์เลี้ยงเด็กต่างๆ ให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่
- อย่านั่งรถที่มีการสูบบุหรี่
- อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่ เช่น สถานเริงรมย์ ห้องอาหาร หรือโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
วิธีการช่วยให้ลูกเลิกสูบบุหรี่สามารถทำได้ดังนี้
1. ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ลูกถึงผลร้ายจากการสูบบุหรี่
2. บอกลูกว่าการสูบบุหรี่เมื่ออายุต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
3. ให้ความสนิทสนมกับลูกโดยให้โอกาสที่ลูกจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้ในทุกเรื่อง
4. พูดคุยกับลูกถึงสารเสพติดต่างๆ โดยใช้ภาษาที่ลูกสามารถเข้าใจได้ง่าย
5. สังเกตกลุ่มเพื่อนของลูกว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดหรือไม่
6. สร้างค่านิยมใหม่แก่ลูกว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องโก้เก๋หรือเรื่องเท่ห์ แต่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
7. สร้างความมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่เคียงข้างเสมอไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
การสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น จะพัฒนาไปสู่ความรักความอบอุ่นของครอบครัวระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูก หากมีฐานความรักที่มั่นคงลูกก็จะอยู่ห่างไกลจากสารเสพติดต่างๆ อย่างแน่นอน วันนี้หากมีคนใดในครอบครัวสูบบุหรี่ ผู้เขียนอยากบอกว่า หยุดสูบบุหรี่เถอะค่ะเพื่อป้องกันการติดสารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณ และคนที่คุณรัก
ที่มา
สสส