แนะตั้งสติ มองโลกในแง่ดี
เมื่อสารในสมองเกิดการหลั่งไม่เท่ากันจะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้!!
พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนทกิจ อายุรกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้เกี่ยวกับสารสื่อประสาทให้ฟังว่าในสมองของคนเราจะมีสารสื่อประสาทอยู่หลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน โดยจะทำงานในส่วนต่างๆ ในสมอง
สารสื่อประสาท เป็นสารเคมีที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง เมื่อเซลล์ประสาทต้นทางถูกกระตุ้น กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะไหลไปตามเส้นประสาท เมื่อกระแสประสาทไปถึงปลายเส้นประสาท ก็จะกระตุ้นให้เซลล์ที่ปลายประสาทหลั่งสารสื่อนำประสาทออกมา
โดยเซลล์แต่ละชนิดจะผลิตสารสื่อประสาทไม่เหมือนกัน และมีหน้าที่แตกต่างกันไปอาทิ สารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนินจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดมองโลกในแง่ดี ถ้าหากมีระดับสารสื่อประสาทชนิดนี้ต่ำจะส่งผลทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้ามองคุณค่าตัวเองต่ำขณะที่โดปามีนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหว
สำหรับ อะเซทิลโคลีน เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำในระยะยาว ช่วยให้สมองเก็บความรู้ที่เรียนในเวลากลางวันไปไว้ที่สมองในเวลาที่เรากำลังหลับ รวมทั้งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความฝัน ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้สมาธิสั้นลง กลายเป็นคนขี้ลืม นอนไม่ค่อยหลับ อีกทั้งทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
ที่รู้จักกันดี คือ เอ็นดอร์ฟิน เป็นสารที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หายเจ็บปวด เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข อารมณ์ดี ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้ขาดความสุขแม้จะฟังเพลงที่ชอบก็ตาม ส่วนสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เมลาโทนิน สารชนิดนี้จะทำให้คนเราหลับสบาย
เมื่อผลิตสารสื่อประสาทออกมาแล้วก็จะเข้าทำงานในส่วนต่างๆ ของสมอง โดยส่วนของสมองที่ชื่อว่าฮิปโปแคมปัส จะเป็นส่วนที่สารสื่อประสาทหลั่งผิดปกติมากที่สุดโดยสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้ คือ อะเซทิลโคลีน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความจำการเรียนรู้ พฤติกรรม ความสุขอารมณ์ขั้นพื้นฐาน ความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดีโกรธ ไม่โกรธ
สาเหตุที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองหลั่งไม่เท่ากัน พญ.ทวีรักษ์กล่าวว่า เกิดขึ้นได้จากความเสื่อมที่มาจากอายุที่มากขึ้น เช่น คนไข้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนินหลั่งน้อยลง จึงทำให้คนไข้จำอะไรไม่ได้ หรือเกิดอาการความจำเสื่อมขึ้นมาได้โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและชายตั้งแต่อายุ 20 - 30 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
รวมทั้งเกิดจากกรรมพันธุ์ คือ เคยเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งมีอาการสั่นของมือ เคลื่อนไหวร่างกายช้า โดยพบว่าเซลล์ของสมองไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีนได้อย่างเพียงพอ และพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน