เครียดซ้ำซ้อน ระวัง! สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน

เครียดซ้ำซ้อน ระวัง! สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


แนะตั้งสติ มองโลกในแง่ดี

          เมื่อสารในสมองเกิดการหลั่งไม่เท่ากันจะทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้!!

          พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนทกิจ อายุรกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้เกี่ยวกับสารสื่อประสาทให้ฟังว่าในสมองของคนเราจะมีสารสื่อประสาทอยู่หลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน โดยจะทำงานในส่วนต่างๆ ในสมอง

          สารสื่อประสาท เป็นสารเคมีที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง เมื่อเซลล์ประสาทต้นทางถูกกระตุ้น กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะไหลไปตามเส้นประสาท เมื่อกระแสประสาทไปถึงปลายเส้นประสาท ก็จะกระตุ้นให้เซลล์ที่ปลายประสาทหลั่งสารสื่อนำประสาทออกมา

          โดยเซลล์แต่ละชนิดจะผลิตสารสื่อประสาทไม่เหมือนกัน และมีหน้าที่แตกต่างกันไปอาทิ สารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนินจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดมองโลกในแง่ดี ถ้าหากมีระดับสารสื่อประสาทชนิดนี้ต่ำจะส่งผลทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้ามองคุณค่าตัวเองต่ำขณะที่โดปามีนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหว

          สำหรับ อะเซทิลโคลีน เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำในระยะยาว ช่วยให้สมองเก็บความรู้ที่เรียนในเวลากลางวันไปไว้ที่สมองในเวลาที่เรากำลังหลับ รวมทั้งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความฝัน ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้สมาธิสั้นลง กลายเป็นคนขี้ลืม นอนไม่ค่อยหลับ อีกทั้งทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

          ที่รู้จักกันดี คือ เอ็นดอร์ฟิน เป็นสารที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หายเจ็บปวด เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข อารมณ์ดี ถ้าขาดสารชนิดนี้จะทำให้ขาดความสุขแม้จะฟังเพลงที่ชอบก็ตาม ส่วนสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เมลาโทนิน สารชนิดนี้จะทำให้คนเราหลับสบาย

          เมื่อผลิตสารสื่อประสาทออกมาแล้วก็จะเข้าทำงานในส่วนต่างๆ ของสมอง โดยส่วนของสมองที่ชื่อว่าฮิปโปแคมปัส จะเป็นส่วนที่สารสื่อประสาทหลั่งผิดปกติมากที่สุดโดยสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้ คือ อะเซทิลโคลีน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความจำการเรียนรู้ พฤติกรรม ความสุขอารมณ์ขั้นพื้นฐาน ความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดีโกรธ ไม่โกรธ

          สาเหตุที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองหลั่งไม่เท่ากัน พญ.ทวีรักษ์กล่าวว่า เกิดขึ้นได้จากความเสื่อมที่มาจากอายุที่มากขึ้น เช่น คนไข้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนินหลั่งน้อยลง จึงทำให้คนไข้จำอะไรไม่ได้ หรือเกิดอาการความจำเสื่อมขึ้นมาได้โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและชายตั้งแต่อายุ 20 - 30 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

          รวมทั้งเกิดจากกรรมพันธุ์ คือ เคยเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งมีอาการสั่นของมือ เคลื่อนไหวร่างกายช้า โดยพบว่าเซลล์ของสมองไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีนได้อย่างเพียงพอ และพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน


เครียดซ้ำซ้อน ระวัง! สารในสมองหลั่งไม่เท่ากัน


 

          นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยทำให้สารสื่อประสาทหลั่งลดลงซึ่งมีความเครียดเป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะเกิดจาก อกหัก ตกงาน ถูกเจ้านายตำหนิ หรือการสูญเสียคนรัก ก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการหลั่งของสารสื่อประสาทได้ด้วยเช่นกัน เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นสารสื่อประสาทก็จะหลั่งน้อยลงทำให้คนไข้เป็นโรคซึมเศร้าได้

 

          โดยส่วนใหญ่หากกล่าวถึงสารสื่อประสาทในสมองหลั่งไม่เท่ากันจะนึกถึงคนไข้ที่มีอาการซึม ไม่ตอบสนองกับสิ่งรอบข้าง ซึ่งคนไข้จะมาด้วยอาการซึม ไม่พูดคุยกับใคร ไม่อยากไปไหน เก็บตัวอยู่กับบ้าน โดยอาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 6 เดือน จากนั้นก็จะดีขึ้นเอง

 

          เมื่อมีอาการเช่นนี้ การรักษาทำได้โดยการให้ยา โดยยาจะมีฤทธิ์ทำให้คนไข้มีอาการดีเร็วขึ้น จากระยะเวลาที่ใช้ตามธรรมชาติ 6 เดือนมาเป็น 3 เดือน ซึ่งการทานยาส่วนใหญ่จะต้องทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี หากคนไข้คนใดมีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนก็อาจจะต้องทานยาต่อไปอีกประมาณ 1-2 ปี

 

          คนไข้บางรายเกิดอาการเพียงครั้งเดียวก็หายขาด แต่บางคนเป็นแล้วเป็นอีก การทานยาก็จะต้องทานอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในบางรายต้องทานยาไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้อาการของโรคกลับมาเป็นอีก

 

          ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับว่า สารหลั่งในสมองส่วนใดที่หลั่งผิดปกติ ถ้าเป็นในส่วนของ เซโรโทนินก็จะไม่ค่อยรุนแรง แต่จะรุนแรงในกรณีที่คนไข้ควบคุมตัวเองไม่ได้ บางคนถ้ามีความผิดปกติรุนแรงมากๆ จะคิดฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ก็จะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ ถ้าเกิดว่าคนรอบตัวไม่ได้ระวัง หรือไม่ได้เข้ารับการรักษาจากหมออย่างถูกวิธี

 

          ผู้ที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ คือ ผู้ที่มีครอบครัวเคยมีอาการแบบเดียวกันมาก่อน ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น รวมทั้งกลุ่มคนที่เคยใช้ยาเสพติด เพราะว่าการใช้สารเสพติดทำให้สารสื่อประสาทในสมองเกิดความผิดปกติขึ้นได้

 

          การที่เป็นโรคสารในสมองหลั่งไม่เท่ากันนี้ ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง เมื่อเกิดความทุกข์อย่าจมอยู่กับความทุกข์ ตั้งสติให้ดี และตามอารมณ์ตัวเองให้ทัน รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรเป็นอะไรอยู่ โดยมองว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข มีทางออก

 

          ในส่วนของคนรอบข้างต้องคอยดูแล เข้าใจลักษณะของโรคว่า การมีอาการเช่นนี้ไม่ใช่เป็นโรคจิต ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตใจของเขา แต่เกิดจากสารในสมองที่ออกมาหลั่งผิดปกติ จึงทำให้มีอาการเช่นนั้นหากคนรอบข้างช่วยประคับประคองเป็นกำลังใจ ดูแลเอาใจใส่คนไข้ก็จะกลับมาสู่สภาวะปกติได้ไม่ยาก

 

 



 

ที่มา : thaihealth / เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์