หน้าหนาวเป็นฤดูกาลที่น่าท่องเที่ยวเสียจริงๆ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ ลงใต้ หรือไปอีสาน ก็แล้วแต่ชอบ หน้าหนาวปีนี้เราไปรับลมหนาวเย็นฉ่ำกันได้ทุกภาคทั่วประเทศเลยน่ะค่ะ แต่เมื่อจะไปเที่ยวสิ่งสำคัญนอกจากแผนการท่องเที่ยวแล้ว อีกอย่างคือการจัดกระเป๋า เพราะสัมภาระพะรุงพะรังทำให้เราเที่ยวไม่สนุก เราก็ควรเลือกแต่ของที่จำเป็นไปดีกว่าน่ะค่ะ
เอ...ว่าแต่เพื่อนๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนที่คิดไว้ว่าวันหยุดสิ้นปีนี้จะไปท้าลมหนาวกันรึยังเอ่ย!!! ถ้ายังไม่มี เรามีสถานที่ท่องเที่ยวมาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้สัมผัสไอหมอกยามเช้าด้วยน่ะค่ะ พร้อมกันรึยัง ถ้าพร้อมแล้วลองมาดู สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตติดอันดับ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กันเลยค่ะ
ท่องเที่ยวหน้าหนาวที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
'' อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา ''
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 และได้รับสมญานามว่าเป็น "อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน"
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ปกคลุม 2,168 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณมี 3,000 ชนิด,นกมี 250 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป
ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ผู้ใหญ่ คนละ 20-80 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
เด็ก คนละ 10-40 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
กรณีเป็นเด็กอายุต้องต่ำกว่า 14 ปี แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ปี จักไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม
กรณีเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสำหรับเด็ก
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ
1.ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
2.ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
3.ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
4.ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
ประวัติ
ในสมัยก่อน การเดินทางติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนั้น มีอุปสรรคคือจะต้องผ่านป่าดงดิบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งสัตว์ร้ายและไข้ป่า ผู้คนที่เดินทางผ่านป่านี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า ดงพญาไฟ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อดงพญาไฟนี้ ฟังดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นตั้งแต่นั้นเป็นมา
เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขา โดยถางป่าเพื่อทำไร่ และในปี 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบากห่างไกลจากการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย จนกระทั่งปี 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่สุดท้ายปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบันนี้
หลังจากปราบโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากแก่การปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันคือยังมีร่องรอยให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ บนเขาใหญ่นั่นเอง
ปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล็งเห็นว่าบริเวณเขาใหญ่นี้ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม เหมาะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่มีปัญหาคือมีการตัดไม้ทำลายป่า จึงได้ให้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่เดิมและบริเวณโดยรอบและได้ตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้น ตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2505 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย และได้ตัดถนนธนะรัชต์แยกออกมาจากถนนมิตรภาพมายังตัวเขาใหญ่ โดยถนนนี้ขึ้นมาบนเขาใหญ่แล้วจะแยกเป็นสองสาย คือไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัตสายหนึ่ง และไปสิ้นสุดที่เขาเขียวอีกสายหนึ่ง ซึ่งก่อนปี 2525 ถนนธนะรัชต์นี้เป็นเพียงถนนสายเดียวที่จะมายังเขาใหญ่ได้
ในปี 2523 ได้มีการตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ โดยถนนนี้เปิดใช้งานในปี 2525 ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น และเดินทางจากกรุงเทพมหานครใช้ระยะทางสั้นกว่า อีกทั้งเส้นทางยังชันและมีโค้งหักศอกน้อยกว่าถนนธนะรัชต์เดิม อีกทั้งยังทำให้การท่องเที่ยวในส่วนใต้ของอุทยานสะดวกขึ้น เช่น สามารถเดินทางมายังน้ำตกเหวนรกได้โดยตรง ซึ่งแต่เดิมจะต้องเดินเท้าเข้ามาจากอำเภอปากพลีแล้วเลาะมาตามหน้าผา แต่การตัดถนนใหม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดแล้วเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึงน้ำตกเหวนรกได้แล้ว
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่”
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก
ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยสภาพป่าที่รกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล
ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย
ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป
ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้ชั้นบน ได้แก่ ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น
ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพูป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดง และทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน
ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้าน ส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน
ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง
เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้าหรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อย แพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดาว บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30 จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอมข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืนจากการศึกษาตามโครงการการอนุรักษ์ช้างป่า และการจัดการพื้นที่ป้องกัน (ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGMENT) โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF และ IUCN ในปี พ.ศ.2527-2528 พบว่า มีจำนวนประมาณ 250 เชือก
สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน 250 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด
ภูเขาที่สำคัญ
เขาร่ม
เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยสูง 1,351 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขาร่มสามารถมองเห็นได้จากถนนธนะรัชต์ เป็นแนวเขาขนานกับเขาเขียว การเดินทางไปยังเขาร่มนั้นต้องเดินเข้าไปด้วยเท้า ซึ่งมีน้อยคนนักที่เดินทางขึ้นไปถึงยอดเขาร่ม โดยมากจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น
เขาแหลม
เนื่องจากเป็นเขาที่มียอดแหลมจึงได้ชื่อว่าเขาแหลม เขาแหลมมีความสูงรองจากเขาร่ม การเดินทางต้องเดินเท้าเข้าไปเช่นกันโดยเส้นทางยากลำบากมาก ใช้เวลาเดินไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง และก่อนถึงยอดเขาจะต้องโหนเชือกขึ้นไปเพื่อไปยังยอดเขา ด้วยเส้นทางที่ยากลำบากนี้ สโมสรโรตารีเคยตั้งรางวัลให้กับสตรีที่พิชิตยอดเขาแหลมเป็นเงิน 60,000 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลคือ นางแคทเธอรีน บ.บุรี ได้พิชิตยอดเขาแหลมในปี 2515
ความสำคัญของเส้นทางไปยอดเขาแหลมคือ เส้นทางที่ใช้เดินทางจะผ่านทางเดินของสัตว์หลายชนิด จึงพบรอยเท้าสัตว์ได้มากมาย อีกทั้งยังมีโอกาสพบสัตว์ป่าต่างๆ ได้อีกด้วย
เขาเขียว
เขาเขียว มองจากถนนทางขึ้นเขาเขียวเป็นภูเขาสูงอีกลูกหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลักษณะเป็นทิวเขายาว มองเห็นได้จากทางจังหวัดนครนายก การเดินทางไปยังเขาเขียวสามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ไปถึงยอด โดยบนยอดของเขาเขียวเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศ ซึ่งเปิดให้เป็นจุดชมวิว อีกทั้งยังมีจุดชมวิวและศึกษาเส้นทางธรรมชาติผาเดียวดาย ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากจุดหนึ่ง
เขาสามยอด
ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญ อีกทั้งยังมีสัตว์ป่าชุกชุม การเดินทางไปเขาสามยอดต้องเดินเท้าเข้าไป ใช้เวลาราว 6-8 ชั่วโมง เส้นทางนี้มีทากชุกชุมมาก
เขาฟ้าผ่า
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเช่นกัน เขาฟ้าผ่าเป็นต้นกำเนิดของลำนางรองซึ่งไหลเป็นน้ำตกนางรองในจังหวัดนครนายก นอกจากนี้ยังมีสถานีวิทยุสื่อสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งอยู่อีกด้วย การเดินทางจะต้องผ่านถนนลูกรังโดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไป
เขากำแพง
เขากำแพง มองจากอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง1เป็นเทีอกเขาแนวยาวราวกับกำแพงจึงได้ชื่อว่าเขากำแพง โดยเขากำแพงนี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ เช่น ลำพระเพลิง ลำพระยาธาร ลำใสใหญ่ เป็นต้น
เขาสมอปูน
เห็นได้ชัดจากจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก ชาวบ้านบางคนเรียกว่าเขาสูง สามารถเดินทางเข้ามาโดยไปตามเส้นทางที่ชาวบ้านหาของป่าเป็นประจำ และเส้นทางนี้สามารถทะลุมายังน้ำตกเหวนรกได้อีกด้วย
เขาแก้ว
อยู่ทางทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของห้วยคลองมะเดื่อและห้วยเจ็ดคต
จะเห็นได้ว่า ไม่มีเขาลูกใดชื่อ "เขาใหญ่" เลย การที่เรียกบริเวณนี้ว่าเขาใหญ่นั้นเรียกตามตำบลเดิมที่เคยจัดตั้งมาแต่ก่อนเท่านั้น
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
น้ำตกเหวนรก
น้ำตกเหวนรกเป็นน้ำตกที่เกิดจากคลองท่าด่าน น้ำตกเหวนรกเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นน้ำตกที่มีความสูงและสวยงามมากแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดิมก่อนที่จะมีการตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่นั้น จะต้องเดินเท้าเข้ามาโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แต่หลังจากตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่เสร็จแล้ว ถนนตัดผ่านใกล้น้ำตกเหวนรกมาก โดยมีลานจอดรถห่างจากตัวน้ำตกเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ระหว่างทางสามารถเดินชมธรรมชาติอันสวยงามสองข้างทางได้ เมื่อถึงตัวน้ำตกจะมีบันไดลงไปอีกราว 50 เมตร ซึ่งค่อนข้างแคบและชัน แต่เมื่อลงไปถึงจุดชมวิวก็จะเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของน้ำตกได้อย่างสวยงาม หากไปในฤดูฝนมีน้ำมาก ละอองน้ำจะกระเซ็นต้องกับแสงอาทิตย์เป็นสายรุ้งอย่างงดงาม แต่หากมาชมในหน้าแล้งนั้นอาจต้องผิดหวังเพราะไม่มีน้ำ เห็นแต่เพียงหน้าผาแห้งๆ เท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว น้ำตกเหวนรกนั้นมีอยู่ 2 ชั้น ที่ได้ชมนี้เป็นชั้นที่ 1 โดยมีความสูงของตัวน้ำตกประมาณ 50 เมตร ส่วนชั้นที่ 2 นั้นอยู่ห่างออกไป ซึ่งชั้นที่สองนี้มีความสูงมากกว่าชั้นแรกเสียอีก เพียงแต่ไม่มีทางเดินเพื่อไปชมน้ำตกชั้นที่สอง ภาพถ่ายน้ำตกเหวนรกที่มีภาพชั้นที่สองด้วยมีแต่ที่เป็นภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น
ระหว่างทางเดินมายังน้ำตกเหวนรกนี้ จะสังเกตเห็นแนวคันปูนเป็นระยะ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันช้างพลัดตกไปยังน้ำตก เนื่องจากในปี 2535 มีช้างโขลงหนึ่งจำนวน 8 ตัวหลงเข้ามาและถูกกระแสน้ำพัดตกลงไปตายหมด ทางอุทยานแห่งชาติจึงได้สร้างแนวป้องกันนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันอันตรายแก่ช้างป่ามิให้เกิดขึ้นอีก
น้ำตกผากล้วยไม้
น้ำตกผากล้วยไม้เกิดจากห้วยลำตะคอง การเดินทางมาจะต้องจอดรถที่ลานกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ แล้วเดินเท้าเลาะไปตามห้วยลำตะคอง ผ่านป่าดงดิบตลอดทาง หากโชคดีอาจพบนกบางชนิด เช่น นกกางเขนหลังเทา เมื่อเดินเข้ามาประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกผากล้วยไม้ มีป้ายเขียนเอาไว้ชัดเจน น้ำตกผากล้วยไม้นั้นลักษณะเป็นผาไม่สูงนัก ชื่อน้ำตกผากล้วยไม้นี้มาจากมีกล้วยไม้หลายชนิดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้วยไม้หวายแดง ซึ่งจะออกดอกช่วงเดินเมษายน
ปกติแล้วนักท่องเที่ยวจะนิยมชมน้ำตกบริเวณด้านนอกเท่านั้น แต่หากเดินเลาะไปตามโขดหินอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะพบน้ำตกชั้นใน ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน และหากเดินเลาะมาตามห้วยลำตะคองเรื่อยๆ ก็จะมาทะลุถึงน้ำตกเหวสุวัตได้
น้ำตกเหวสุวัต
น้ำตกเหวสุวัตเป็นน้ำตกอีกแห่งที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกผ่านหน้าผาสูงราว 25 เมตร และมีแอ่งน้ำทางด้านล่างเหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นอย่างมาก แต่ทางอุทยานแห่งชาติได้มีป้ายประกาศว่าห้ามเล่นน้ำไว้เนื่องจากกลัวอันตรายว่าจะมีน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลัน ในฤดูฝนสายน้ำที่ตกลงมาจะเป็นละอองกระจายเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกสดชื่นเย็นสบาย แต่หากมาในฤดูน้ำน้อย จะสามารถเดินลัดเลาะเพื่อเข้าไปยังโพรงถ้ำเล็กๆ ใต้หน้าผาน้ำตกได้
บางคนกล่าวไว้ว่า ชื่อน้ำตกเหวสุวัตนี้ เกิดจากมีโจรชื่อสุวัต หนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจนมุมยังน้ำตกแห่งนี้ เลยตัดสินใจกระโดดลงมายังแอ่งน้ำเบื้องล่าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น
สำหรับห้วยลำตะคองนี้
หลังจากผ่านน้ำตกเหวสุวัตแล้ว ยังมีน้ำตกเหวไทรและน้ำตกเหวประทุนที่อยู่ลึกเข้าไปอีก แต่จะต้องเดินผ่านป่าลึกฝ่าดงทากเข้าไป ควรมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยเนื่องจากในป่าลึกนั้นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจพลัดหลงได้ง่าย
จุดชมวิวผาเดียวดาย
อยู่บนยอดเขาเขียว สามารถขับรถยนต์เข้าไปถึงแต่ถนนไม่ค่อยดีนักเนื่องจากมีหินถล่มบ่อยทำให้ผิวถนนเสียหายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ถนนยังชันและเป็นโค้งหักศอกอีกด้วย เมื่อขึ้นไปเกือบถึงยอดเขาก็จะมีที่จอดรถให้บริเวณใกล้กับผาเดียวดาย ซึ่งระหว่างทางจะเดินผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยเส้นทางนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณต่างๆ มากมาย ที่น่าสนใจ เช่น ช้องนางคลี หญ้าข้าวกล่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้ใหญ่อื่นๆ ซึ่งมักถูกปกคลุมด้วยมอสเป็นสีเขียวแลดูสดชื่น และยังมีไม้หอมพวกกฤษณาอีกด้วย ใช้เวลาเดินผ่านป่าดิบชื้นนี้ประมาณ 15 นาที ก็จะถึงจุดชมวิวผาเดียวดาย แลเห็นเขาสมอปูนทางขวามือและทุ่งงูเหลือมอยู่ตรงกลาง
หากโชคดี เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเดียวดายนี้ อาจพบนกหายากบางชนิด เช่น นกเงือก นกปรอดดำ นกแซงแซวหางบ่วง เป็นต้น
จุดชมวิวผาตรอมใจ
ทัศนียภาพบริเวณผาตรอมใจตั้งอยู่เลยทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเดียวดายไปอีกเล็กน้อย คือเป็นทางเข้าของศูนย์เรดาร์ของกองทัพอากาศ บริเวณนี้จริงๆ แล้วเป็นเขตทหาร แต่ได้จัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้บริเวณจุดชมวิวผาตรอมใจ เมื่อมองออกไปจะแลเห็นทุ่งหญ้ากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บริเวณนี้ค่อนข้างเงียบสงบเนื่องจากเป็นเขตทหารและอยู่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นอีกทั้งการเดินทางมาก็ค่อนข้างลำบากเพราะไกลและถนนไม่ดี มีคนมาน้อย บรรยากาศเงียบสงบจึงมีนกหลายชนิดให้ศึกษา บางวันจะมีช่างภาพพร้อมกล้องถ่ายรูปและเลนส์ขนาดใหญ่สำหรับถ่ายภาพนกมานั่งเงียบๆ คอยนกมาเกาะบนกิ่งไม้แล้วถ่ายภาพ
จริงๆ แล้วข้างในศูนย์เรดาร์ยังมีหน้าผาหินอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีวิวสวยไม่แพ้กัน แต่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม
หนองผักชี
หนองผักชีแต่เดิมนั้นเคยมีชาวบ้านขึ้นมาจับจองพื้นที่อาศัยอยู่บนเขาใหญ่ และถางป่าเพื่อปลูกพืชผักบางอย่าง เช่น ผักชี พริก เป็นต้น โดยอาศัยแหล่งน้ำคือหนองผักชีนี้เพื่อการเกษตรกรรม เมื่อทางการได้สั่งให้อพยพออกจากเขาใหญ่ พื้นที่ที่เคยปลูกพืชก็ถูกทิ้งร้างมีหญ้าขึ้นสูง เป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์กินพืชซึ่งจะลงมากินหญ้าที่บริเวณนี้เป็นประจำ ทางอุทยานแห่งชาติได้สร้างหอดูสัตว์หนองผักชีเพื่อใช้ดูสัตว์ที่ลงมากินหญ้า โดยสัตว์มักลงมากินหญ้าตอนเช้าตรู่และตอนเย็น
หอดูสัตว์
ทางอุทยานแห่งชาติได้สร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้ดูสัตว์ที่ลงมากินดินโป่ง มีทั้งหมด 3 แห่งคือ
1. หอดูสัตว์หนองผักชี
2. หอดูสัตว์มอสิงโต
3. หอดูสัตว์คลองปลากั้ง
โดยทั้งหมดนี้จะสร้างใกล้ๆ โป่ง เนื่องจากสัตว์จะลงมากินดินโป่ง ซึ่งโดยมากที่เห็นจะเป็นกวาง ช้างป่ามีบ้างแต่น้อยกว่า และหากโชคดีอาจมีโอกาสได้เห็นกระทิงลงมากินดินโป่งซึ่งหาชมได้ยากมาก โดยโอกาสเห็นกระทิงนั้นจะพบที่หอดูสัตว์คลองปลากั้งมากที่สุด
จุดชมวิว กม.30
หากเดินทางมาจากฝั่งปราจีนบุรี จุดชมวิวนี้เป็นจุดแวะสุดท้ายก่อนจะลงจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปยังฝั่งอำเภอปากช่อง โดย ณ จุดนี้นักท่องเที่ยวมักนิยมแวะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกก่อนลงจากเขาใหญ่ เนื่องจากจะเห็นวิวข้างหลังยาวออกเป็นเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงาม และในวันที่เงียบสงบ อาจเห็นนกหลายชนิดมาเกาะตามกิ่งไม้ในบริเวณนี้ ซึ่งจะมีช่างภาพมาตั้งกล้องถ่ายภาพนกอยู่บ้างเป็นบางครั้ง
ทัศนียภาพบริเวณจุดชมวิว กม.30
ทิวทัศน์ที่แลเห็นได้จากจุดนี้มีดังนี้คือ เขาลูกซ้ายมือคือเขาลูกช้าง มีถ้ำค้างคาวอยู่ เวลาโพล้เพล้อาจเห็นค้างคาวบินออกมาจากถ้ำเป็นสายเพื่อไปหาอาหาร เห็นเป็นเส้นสีดำเป็นแนวยาวตัดกับขอบฟ้า ทิวเขาที่ใกลที่สุดเป็นแนวยาวนั้นคือ เขาแผงม้าซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร ทุ่งโล่งตรงกลางในเงาเมฆนั้นเป็นร่องรอยการถางป่าเพื่อทำไร่ก่อนจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตรงทุ่งโล่งนี้จะเห็นบ้านคนอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของบ้านท่ามะปราง และทางขวามือจะเห็นยอดเขาเล็กๆ อีกสามสี่ยอด เป็นส่วนหนึ่งของเขากำแพงซึ่งยาวออกไปทางทิศตะวันออก
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ตั้งอยู่บนหลักกิโลเมตรที่ 23 ของถนนธนรัชต์ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชติ์ดำริให้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงปลัดจ่าง ผู้ปราบโจรบนเขาใหญ่ได้สำเร็จเมื่อกว่า 70 ปีก่อน นักท่องเที่ยวนิยมมาสักการะอยู่เสมอ และทุกวันที่ 26 มกราคม จะมีพิธีบวงสรวงเพื่อรำลึกถึงพระคุณของปลัดจ่างที่ได้ดูแลพื้นที่บริเวณนี้ในอดีต
โป่ง
โป่งชมรมเพื่อนโป่งเป็นดินชนิดหนึ่ง มักเป็นดินเนื้อละเอียด ในดินโป่งนี้จะมีแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณสูง ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาสมดุลในร่างกายของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กินพืชต่าง จะต้องการเกลือแร่เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย อีกทั้งดินโป่งยังมีแคลเซียม ซึ่งจำเป็นในการสร้างและบำรุงเขาสัตว์นั้นๆ โดยจะเห็นสัตว์ต่างๆ ลงมากินดินโป่งอยู่เนืองๆ เราจึงสามารถใช้โป่งนี้เป็นที่ส่องสัตว์ได้
โป่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น โป่งหนองผักชี โป่งช้าง โป่งกระทิง และโป่งชมรมเพื่อน โดยโป่งชมรมเพื่อนนี้เป็นโป่งเทียม คือมนุษย์เป็นผู้เอาเกลือแร่ไปใส่ไว้ในดินให้สัตว์กินนั่นเอง สร้างตั้งแต่ปี 2517 นอกจากนี้ โป่งธรรมชาติก็จะมีการเติมเกลือแร่ด้วย
ปัญหาที่สำคัญคือ มนุษย์ได้เข้ามาใกล้โป่งเพื่อดูสัตว์ จะทำให้สัตว์ตื่นกลัวและไม่ลงมากินดินโป่งอีก บางโป่งก็อาจร้างไปเลยก็มี เช่น โป่งหนองผักชี แต่เดิมเคยมีกระทิงลงมากินดินโป่งเป็นประจำแต่ปัจจุบันไม่พบกระทิงลงมากินดินโป่งนี้อีกเลย โดยพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2524
ตัวอย่างสำคัญที่ยืนยันว่าการรบกวนของมนุษย์มีผลต่อการกินดินโป่งของสัตว์ กล่าวคือ แต่เดิมมีโป่งหนึ่งเป็นโป่งขนาดใหญ่ มีสัตว์หลายชนิดมากินดินโป่งประจำ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นโป่งร้างไปเสียแล้ว คือโป่งเครื่องบินตก โดยได้ชื่อมาจากเครื่องบินของสายการบินอาหรับได้เกิดอุบัติเหตุตกในบริเวณนี้ (ตรงกับบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 บนถนนธนะรัชต์) มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 23 คน เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ถางป่าเป็นทางเพื่อลำเลียงศพผู้เคราะห์ร้ายออกมาจากซากเครื่องบิน และภายหลังจากนั้นได้ตัดเส้นทางจากที่ถางป่าเข้าไปยังซากเครื่องบินตกแล้วตัดไปยังน้ำตกเหวสุวัตเพื่อเป็นเส้นทางเดินป่า อีกทั้งบริเวณโป่งยังได้สร้างห้างไว้ดูสัตว์เวลากลางคืนอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการรบกวนสัตว์ป่า ส่งผลโป่งเครื่องบินตกกลายเป็นโป่งร้างไปในที่สุด
สิ่งอำนวยความสะดวก
ที่พัก
มีบ้านพัก บ้านพักเรือนแถว และค่ายพักแรม ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 4 โซน
ได้แก่ โซนศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โซนบนเขา-จุดชมวิว โซนค่ายสุรัสวดี และโซนบ้านธนะรัชต์ แต่ละโซนอยู่ห่างกันพอสมควร ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จองที่พัก-บริการไว้แล้ว ควรติดต่อที่เจ้าหน้าที่งานบ้านพักและบริการของอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้มอบกุญแจที่พัก แนะนำเส้นทางเข้าที่พัก และคำแนะนำอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก่อนเข้าพัก
สถานที่กางเต็นท์
มีลานกางเต็นท์ตามจุดต่างๆ และมีเต็นท์ให้เช่า การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค
กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก
ร้านอาหาร
มีบริการร้านอาหาร เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00 - 18.00 น. ในวันจันทร์ - ศกุร์ และเวลา 07.00 - 21.00 น. ในวันเสาร์ - อาทิตย์ มีจำนวน 5 แห่ง คือ
1.บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
2.บริเวณจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้
3.บริเวณจุดกางเต็นท์ลำตะคลอง
4.บริเวณน้ำตกเหวสุวัต
5.บริเวณน้ำตกเหวนรก
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อยู่ใกล้กับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีขนาดใหญ่พอที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 150 คน บริเวณนี้มีห้องประชุมซึ่งสามารถบรรจุคนได้ถึง 100 คน ใช้สำหรับเป็นที่ประชุมบรรยาย ฉายสไลด์และภาพยนตร์
ระบบสาธารณูปโภค
มีถนนระบบสองทางเชื่อมโยงจากการบริการ ไปยังจุดท่องเที่ยวและนันทนาการต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ความยาวรวมกันกว่า 86 กิโลเมตร มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ตลอด 24 ชั่วโมง
สุขา
มีสุขาบริการตามจุดบริการนักท่องเที่ยว และบริเวณลานกางเตนท์
ค่ายลูกเสือ
ค่ายลูกเสือไร่พญาเย็น เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
การเดินทาง
รถยนต์
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นับว่าสะดวกสบาย เพราะมีระบบการคมนาคมอย่างดี ติดต่อกับชุมชมอื่นๆ อย่างทั่วถึง แต่เมื่อเดินทางถึงทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เส้นทางจะมีความลาดชัน บางช่วงโค้งหักศอก ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามป้ายจราจรอย่างเคร่งครัด ท่านสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ อาจใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ หรือน้อยกว่า โดยเริ่มจาก
• ถนนพหลโยธินผ่านรังสิตถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพผ่านมวกเหล็กและเลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งตรงทางแยกก่อนถึงอำเภอปากช่องตรงกิโลเมตรที่ 58 เข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2090 (ถนนธนะรัชต์) ประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจ จากนั้นเส้นทางจะไต่ขึ้นเขาไปอีก 14 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 200 กิโลเมตร
• ถนนพหลโยธินผ่านรังสิต ผ่านหนองแค เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ผ่านตัวเมืองนครนายกถึงสี่แยกเนินหอม หรือวงเวียนนเรศวร ก่อนเข้าตัวเมืองปราจีนบุรีเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3077 (ถนนปราจีนบุรี-เขาใหญ่) ถึงด่านตรวจเนินหอม ถนนเริ่มเข้าสู่ป่าและไต่ขึ้นที่สูง รวมระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร
• ถนนพหลโยธิน เลี้ยวขวาบริเวณรังสิต เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 มุ่งสู่ตัวเมืองนครนายก แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ถึงสี่แยกเนินหอมหรือวงเวียนนเรศวร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนปราจีนบุรี-เขาใหญ่ รวมระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร
หมายเหตุ ด่านตรวจทั้งสองด้านของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะเปิดเวลา 6.00 น. และจะปิดเวลา 21.00 น.
รถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถประจำทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพ - ราชสีมา ลงที่อำเภอปากช่อง จะมีรถโดยสารประจำทางจากปากช่องมาถึงที่ด่านตรวจเก็บค่าธรรมเนียม เที่ยวแรกจากปากช่อง เวลา 06.00 น. และเที่ยวสุดท้าย เวลา 17.20 น. ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะออกรถ ทุกครึ่งชั่วโมง หรืออาจจะจ้างเหมารถบรรทุกเล็กรับจ้างขึ้นเขาใหญ่ก็ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ , วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช