อาการเมารถ
อาการเมารถหรือเมาเรือเกิดจากประสาทการทรงตัวทำงานได้ไม่สมดุล อาจเป็นเพราะได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่เหวี่ยงหรือสะเทือนนานเกินไป หรือนั่งในเรือที่โยนไปมาตามลูกคลื่นนานๆ จนกระทั่งไปกระตุ้นประสาทการทรงตัวของเรา ถ้าประสาทการทรงตัวของเราไม่มีความไวผิดปกติ ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับบางคน ประสาทการทรงตัวจะไวมากเป็นพิเศษ จึงรู้สึกว่าเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
หลายคนที่เคยมีประสบการณ์เมารถเมาเรือมาแล้ว อาจจะเข้าใจผิด ด้วยความที่ไม่อยากอาเจียน ซึ่งนอกจากจะทรมานแล้ว ยังอายคนอื่นอีกต่างหาก ก่อนออกจากบ้านจึงไม่รับประทานอาหาร เพราะกลัวจะไปอาเจียนกลางทาง แต่แท้ที่จริงแล้ว ยิ่งท้องว่าง ก็จะทำให้เมาเร็วยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก่อนออกเดินทาง ควรจะรับประทานอาหารตามปกติ แต่อย่าให้มากนัก รับประทานช้าๆ และเว้นระยะประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยออกเดินทาง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก แนะนำวิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถเมาเรือ ด้วยข้อปฏิบัติง่ายๆ ว่า ให้เลือกนั่งในยานพาหนะ ตรงตำแหน่งที่สายตามองเห็นความเคลื่อนไหวอย่างเดียวกับที่ร่างกายและประสาทสัมผัสภายในช่องหูรู้สึก เพื่อไม่ให้มีการส่งสัญญาณความรู้สึกที่สับสนไปยังสมอง
1. หากนั่งในรถ ไม่ควรนั่งข้างหลัง แต่ให้เลือกนั่งข้างหน้า และมองไปไกลๆ นอกจากนั่งข้างหน้าจะสะเทือนน้อยกว่านั่งข้างหลังแล้ว การที่สายตาเรามองตรงไปข้างหน้า เห็นถนนตรงหน้า เห็นต้นไม้ เห็นวิวที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว จะทำให้เราเมาช้าลง แต่หากเรานั่งข้างหลัง หันข้างมองกระจกตลอดเวลา จะเห็นภาพของต้นไม้ ถนน หรือรถที่วิ่งผ่าน เคลื่อนไหวผ่านไปอย่างรวดเร็ว จะทำให้เมารถเร็วขึ้น
2. หากนั่งเรือ ให้เลือกเรือใหญ่ๆ ยิ่งเรือกว้างเท่าไร การโคลงไปมาก็ยิ่งช้ากว่าเรือเล็ก ทำให้เมายากขึ้น และต้องเลือกที่นั่งให้ดีเช่นเดียวกับการนั่งรถ โดยควรนั่งกลางลำเรือ ไม่ควรนั่งเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และให้มองตรงไปข้างหน้าไกลๆ ไปที่ขอบฟ้า
3. อย่าอ่านหนังสือหรือเพ่งสายตานิ่งๆ อยู่ที่จุดใกล้ๆ เพราะจะทำให้เมาได้ง่ายขึ้น ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในที่แคบๆ หรือในห้อง ก็ควรหลับตาเสีย หูส่วนกลางจะรับรู้ว่าเรือกำลังโคลงเพราะตัวเรามีการเคลื่อนไหวไปมา ถ้าอยู่ในห้องหรือใต้ท้องเรือ ตาของเราจะบอกว่าเราอยู่นิ่งๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว สาเหตุของอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ก็เนื่องมาจากการที่ประสาทตากับหูไม่สัมพันธ์กันนั่นเอง
สำหรับคนที่มีอาการเมามาก อาจรับประทานยาป้องกันเมารถเมาเรือสัก 1 เม็ด โดยรับประทานยาครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เพื่อรอให้ยาดูดซึมเข้าไปควบคุมให้ประสาทการทรงตัวมีความไวน้อย เพราะฉะนั้น แรงกระตุ้น เช่น การสั่นสะเทือนของรถ หรือการโคลงไปโคลงมาของเรือ ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสาทการทรงตัวเสียสมดุล
คนที่เป็นโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน ประสาทการทรงตัวที่อยู่ในหูทั้ง 2 ข้างก็จะทำงานผิดปกติเช่นกัน ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้ หากไปเล่นเรือ อาจจะสามารถว่ายน้ำได้ แต่ไม่ควรดำน้ำ เพราะเวลาดำน้ำ เราจะเห็นแต่น้ำอยู่รอบๆ ตัวเรา ความรู้สึกสัมผัสรอบๆ ตัวเราจะไม่มี เพราะน้ำอยู่ล้อมรอบตัวเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ประสาทการทรงตัวจริงๆ ถ้าประสาทการทรงตัวผิดปกติ ก็จะไม่สามารถรู้ทิศทาง และอาจจมน้ำ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โดยทั่วไปยังไม่มีวิธีบรรเทาหรือป้องกันอาการเมารถเมาเรือที่ได้ผลชะงัด นอกจากการรับประทานยา แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ชอบรับประทานยา ดังนั้นอาจจะเลือกเป็นยาหอมแบบไทยๆ หรือน้ำขิงแทน
เหง้าขิงใช้เป็นยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเมารถเมาเรือได้ โดยใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วนำไปต้มเอาน้ำดื่ม ซึ่งออกจะยุ่งยาก อาจต้องเตรียมมาจากบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำอื่นๆ ให้นำไปลองใช้กันดู ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลสำหรับทุกคน
Dr. Max E. Levine และคณะ จากมหาวิทยาลัย Penn State รัฐ Pennsylvania ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
เขาพบว่า หากประคบผ้าเย็นบริเวณหน้าผากของผู้ที่มีอาการเมารถ จะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเมารถลงได้
จากการศึกษายังพบด้วยว่า อาหารก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการเมารถ ผู้ที่รับประทานอาหารประเภทโปรตีน จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารน้อยลง และควรจะรับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ ด้วย จึงจะทำให้อาการเมารถทุเลาลงได้ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ก็ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารน้อยลงด้วยเช่นกัน รองมาจากอาหารโปรตีน ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ เช่น อาหารทอด ผัด
อีกวิธีหนึ่งที่หลายคนใช้แล้วได้ผล คือการกดจุด โดยใช้นิ้วมือนวดวนๆ ที่ข้อมือด้านใน บริเวณใกล้เคียงกับที่ใช้จับชีพจร หรือจะใช้เป็นผ้าพันข้อมือที่มีขายสำเร็จรูป ซึ่งจะมีปุ่มที่จะไปกดจุดบนข้อมือ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าวิธีนี้ได้ผลจริงเพียงใด
นอกเหนือไปจากนี้ก็คือ ทำตัวตามสบาย ยิ่งวิตกกังวลหรือเครียด ก็จะยิ่งเมาง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง สังเกตอาการของตัวเองให้ดี ถ้าเริ่มมีอาการ เช่น ตัวเย็นๆ เวียนศีรษะ เรอบ่อยๆ ก็ให้เตรียมตัวไว้ให้ดี ถ้ารู้สึกว่าต้องอาเจียน ก็ให้อาเจียนออกมา โดยปกติเมื่ออาเจียนแล้ว อาการจะดีขึ้นค่ะ
ที่มา ocpb.go.th
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!