ภูมิแพ้อาหารแฝงภาวะเรื้อรัง
ไม่น่าเชื่อว่าอาหารที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้ จะกลายเป็นสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝงไปได้ !!
มองจากภายนอก ทุกคนดูแข็งแรงเป็นปกติ แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเข้าข่ายเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง” คำถามนี้ ทำให้หลายคนฉุกคิดและหันกลับมามองสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง โดยคนส่วนใหญ่จะละเลยสุขภาพ ถ้าไม่ป่วยจริง ๆ ก็ไม่ยอมไปหาหมอ หรือว่ารอให้ป่วยแล้วรักษา เป็นการแก้อาการที่ปลายเหตุ เพราะสิ่งแวดล้อมที่ต้องเจออยู่ทุกวันนี้มีผลต่อสุขภาพกันทั้งนั้น ใครจะรู้ว่าร่างกายของเราเป็นที่สะสมของโรคบางชนิด
ตัวเลขจากองค์กรภูมิแพ้โลก พบว่า คนไทยเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่า 10 ล้านคน โดยโรคนี้จะเกิดกับทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 5-15 ปี จะพบบ่อยกว่าช่วงอายุอื่น คนเรานั้น มีโอกาสเกิดอาการ แพ้อาหาร และ การรับสารอาหารบางชนิดไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้อาหารแฝง
นพ.ต่อศักดิ์ ทิพย์ไพโรจน์ ตรัยยา ศูนย์สุขภาพองค์รวม และสปา โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า แท้จริงแล้วอาการหรือปฏิกิริยาทางร่างกาย ที่เกิดขึ้นเมื่อทานอาหารบางชนิดเข้าไปนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างคำว่า “การแพ้อาหาร” กับ “การรับอาหารบางชนิดไม่ได้” เพราะการแพ้อาหาร เกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารนั้น ๆ เป็นปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่ออาหาร เนื่องจากมีการกระตุ้นจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายชนิดต่าง ๆ ส่วนการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานแต่อย่างใด แต่ทั้งสองกลุ่มนี้อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน
ปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อย จะเป็นปฏิกิริยาการแพ้ชนิดที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ซึ่งเป็นผลจาก 2 กลไกทางระบบภูมิต้านทาน คือ มีการกระตุ้นให้ ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน อิมมูโนโกลบินชนิด อี หรือ ไอจีอี (Immunoglobulin E หรือ IgE) ขึ้น ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่าแอนติบอดีชนิด อี ที่อยู่ในกระแสเลือด และอีกกลไกหนึ่ง เกี่ยวข้องกับมาสต์เซลล์ (Mast Cell) ที่อยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อที่เกิดอาการแพ้ เช่น ในจมูก คอ ปอด ผิวหนัง และทางเดินอาหาร แอนติบอดีชนิด อี สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
“ก่อนที่จะเกิดอาการแพ้ คนที่แพ้ต้องเคยได้รับอาหารชนิดนั้นมาก่อน เมื่อมีการย่อยอาหารก็จะกระตุ้นให้มีการสร้างแอนติบอดีชนิด อี จำนวนมากเข้าไปเกาะผิวของมาสต์เซลล์ และเมื่อมีการทานอาหารชนิดนั้นอีกครั้ง อาหารจะไปกระตุ้นแอนติบอดีชนิด อี จำเพาะบนผิวมาสต์เซลล์นั้น ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมี เช่น ฮีสตามีน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ตามแต่บริเวณของเนื้อเยื่อที่มีการหลั่งสารเคมีนั้น เช่น มีการหลั่งสารเคมีที่บริเวณหู คอ จมูก มีอาการคันหรือบวมที่ปาก คอ หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบาก แต่ถ้าเป็นที่ทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงได้”
นอกจากปฏิกิริยาการแพ้แบบเฉียบพลันแล้ว ยังมีปฏิกิริยาของภูมิแพ้อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะถูกมองข้ามไป คือปฏิกิริยาของการแพ้ชนิดแฝง ในปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบนี้ เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหาร จะเริ่มสร้าง อิมมูโนโกล บินชนิด จี หรือ ไอจีจี (Immunoglobulin G หรือ IgG) ที่เรียกว่า แอนติบอดีชนิด จี ซึ่งไม่ได้ไปกระตุ้น มาสต์เซลล์ เหมือน แอนติบอดี้ชนิด อี ทำให้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้ จึงไม่รู้ตัวว่าตนเองมีปฏิกิริยากับอาหารนั้น แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อผู้ป่วยต้องทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดนั้น อยู่เรื่อย ๆ เช่น อาหารกลุ่มนม ไข่ ถั่ว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกาย มีการสร้างแอนติบอดีชนิด จี อย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เกินความสามารถของเม็ดเลือดขาว ชนิดแมคโคร ฟาจ (macrophage) ซึ่งมีหน้าที่คอยกำจัดส่วนประกอบของภูมิต้านทานนี้ออกจาก ร่างกาย ทำให้เกิดการหลงเหลือของส่วนประกอบภูมิต้านทานอิสระไปทั่วระบบของร่างกาย ซึ่งจะไปกระตุ้นนำระบบกลไกที่ทำให้เกิดการอักเสบให้เกิดขึ้น ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง
“ภูมิแพ้ชนิดแฝงนี้ จึงเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือ อาจพบร่วมกับภาวการณ์อักเสบเรื้อรังที่ จุดอื่น เช่น ข้ออักเสบเรื้อรัง กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง หรือบางกรณีพบร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ หรือพฤติกรรม เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ภาวะสมาธิสั้น หรือ ภาวะออทิสติก ดังนั้น การมองหาภาวะภูมิแพ้ชนิดแฝง ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็มักจะเป็น อีกหนึ่งหนทางในการหาคำตอบของภาวะความไม่สมดุลที่มีอยู่ในร่างกายได้”
การรักษาหมอจะเริ่มจาก การซักประวัติอาการที่เป็น พฤติกรรมการบริโภคอาหาร สภาพของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดด้วยเครื่องเพื่อตรวจหาแอนติบอดีชนิด จี ต่อ อาหาร ที่ทำให้คนไข้มีอาการภูมิแพ้แฝง
ทางที่ดี คือ เมื่อทราบแล้วว่าแพ้อาหารชนิดใด ต้องระมัดระวังการเลือกทานอาหารให้ดีพยายามลดและหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ โดยในรายที่เป็นภูมิแพ้อาหารแบบแฝง ควรงดอาหารชนิดนั้นเป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้ ร่างกายได้กำจัดออกไปได้หมดก่อน
“หลังจากนั้น เริ่มทำการ เริ่มทดสอบโดยการทานอาหารชนิดนั้นใหม่ เพื่อดูว่าร่างกายมีการตอบสนองอย่างไร หากทุก อย่างเป็นปกติดี ก็สามารถกลับมาทานอาหารชนิดนั้นได้อีกตามปกติ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินด้วยการหมุนเวียนหมู่อาหาร ไม่ทานอาหารแบบเดิมซ้ำกันทุกวัน รวมทั้งจะต้องไม่ลืมการฟื้นฟูการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ในแง่ของการย่อย การดูดซึม และ สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก ตรงนี้คงต้องขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ามีความตั้งใจในการเข้ารับการรักษาและเห็น ความสำคัญของปัญหามากน้อยอย่างไรด้วย” นพ.ต่อศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
จากโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ ทำให้เห็นว่า บทบาทของอาหารในชีวิตประจำวันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรใส่ใจกับอาหารทุกจานที่ทาน.